นครปฐม - นักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ผุดโครงการเปลี่ยนผักตบชวาและวัชพืชเป็นแก๊สชีวภาพ สำหรับใช้ในครัวเรือนและชุมชนด้วยจุลินทรีย์คุณภาพสูงใช้ในครัวเรือน โดยเตรียมพร้อมเปิดอบรมฟรี หวังภาครัฐเอกชนและประชาชนนำไปต่อยอดแก้วิกฤตให้เป็นโอกาสในด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ถือเป็นหนึ่งในการนำปัญหาปรับแก้สู่การพัฒนาจากนักวิจัยไทย
ที่ผ่านมา จังหวัดนครปฐม ประสบปัญหาอยู่บ่อยครั้งอย่างหนึ่งคือ ปัญหาจำนวนผักตบชวาล้นแม่น้ำท่าจีน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความแออัดของผักตบชวาที่มักจะไปอัดแน่นที่ตอม่อสะพานหลายแห่ง สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาของการจราจรทางน้ำของประชาชน และที่สำคัญคือ การที่น้ำไม่สามารถไหลเวียนไปได้ตามธรรมชาติ จนนำมาสู่ปัญหาน้ำเน่าเสีย และส่งผลกระทบทันทีต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำของแม่น้ำท่าจีน ซึ่งการควบคุม และคอยตรวจตราสถานการณ์ของผักตบชวาและวัชพืชในน้ำนั้นเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานได้ให้ความใส่ใจอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาซ้ำซากของชุมชนในลุ่มน้ำท่าจีน
และนับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ ภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2557 ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการวิจัยด้านพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน และให้การสนับสนุนเพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” ให้แก่ผู้ที่สนใจ
โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำวิทยาเขตกำแพงแสน ผศ.ดร.ชานันก์ สุดสุข ที่ปรึกษาคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และ ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โดยผู้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการฯ จะได้รับความรู้ความเข้าใจในองค์ความรู้และวิธีการวิจัยเกี่ยวกับการกำจัดผักตบชวา วัชพืชน้ำที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้เกิดผลผลิตที่มีประโยชน์ คือ ก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ครัวเรือน หรือชุมชนขนาดเล็ก
ส่วนกากผักตบชวาที่ผ่านการย่อยสลายแล้ว สามารถใช้เป็นวัสดุกักเก็บความชื้น และช่วยบำรุงดินได้ ซึ่งจะเป็นการนำผักตบชวา และวัชพืชมาปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานได้เป็นเป็นอย่างดีทางหนึ่ง และเป็นการค้นคว้าวิจัยที่ตรงต่อปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในลำน้ำสำคัญ สำหรับปริมาณที่ผักตบชวาจำนวนมหาศาลที่เป็นวัชพืชสร้างปัญหาทางน้ำที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน
ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การอบรมครั้งนี้ เป็นการต่อยอดงานวิจัยของบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ สายวิชาวิทยาศาสตร์ คุณขวัญชัย นิ่มอนันต์ โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา และคุณกิตติเดช โพธิ์นิยม วิศวกร ประจำศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน ได้ร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อชุมชน เรื่อง การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ศักยภาพสูงจากธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้พร้อมเปิดอบรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนที่สนใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่ประสบปัญหาจากผักตบชวา ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับองค์ความรู้ ด้วยการบรรยาย และปฏิบัติการจากคณะวิทยากรเพื่อกลับไปดำเนินการวิจัยดังกล่าวในชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมได้รับถังหมักต้นแบบขนาดเล็กสำหรับใช้ในชุมชนฟรี
ทั้งหมดนี้ผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากได้รับการสนับสนุนงบประมาณค่าลงทะเบียน ค่าอาหารว่าง ค่าเอกสาร และวัสดุอุปกรณ์ประกอบการอบรมจาก วช.
ส่วนคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ให้การสนับสนุนอาคารสถานที่อบรม องค์ความรู้ และบุคลากรการอบรมจะเปิดรับสมัคร 3 รุ่นๆ ละ 20 คน โดยรุ่นแรกจะเปิดอบรมในเดือนพฤศจิกายน 2557
คุณสมบัติของผู้เข้าอบรมคือ เป็นผู้นำชุมชน หรือหัวหน้าหน่วยงาน และต้องสามารถเข้าอบรมได้เต็มเวลา มีความรัก และกระตือรือร้นในการทำงานวิจัยสู่ชุมชน มีศักยภาพที่จะนำองค์ความรู้ไปใช้ในการดำเนินโครงการวิจัยต่อเนื่องในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
หากเป็นผู้นำชุมชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากผักตบชวา หรือมีจดหมายขอความอนุเคราะห์จากผู้บังคับบัญชา นำเสนอต่อคณบดี ศวท. แนบมาพร้อมกับแบบฟอร์มใบสมัครจากเว็บไซต์ (www.flas.ku.ac.th) จะได้รับการพิจารณาเป็บลำดับแรก อนึ่งการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร ขอสงวนสิทธิให้เป็นดุลพินิจของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าวสรุปว่า ขณะนี้ทีมวิจัยพร้อมเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่ชุมชน โดยคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จะเปิดอบรมให้แก่ผู้นำชุมชนที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมจากผักตบชวา เพื่อเป็นประโยชน์สู่สาธารณะ คณะฯ เปิดรับสมัครผู้เข้าอบรมทางไปรษณีย์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ขั้นตอนการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ศักยภาพจากสูงธรรมชาติ ประกอบด้วย การบรรยาย สาธิต และปฏิบัติการในหัวข้อต่างๆ ได้แก่
1.การคัดเลือกหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง
2.การเพาะและขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง
3.การบดผักตบชวาด้วยเครื่องสับอัตโนมัติ
4.การประกอบชุดถังหมัก และถังเก็บก๊าซ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับถังหมักฟรี 1 ชุดเพื่อเป็นต้นแบบ
5.การผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ผักตบชวา กากน้ำตาล ลงในชุดถังหมัก และถังเก็บก๊าซ
6.การตรวจผล และทดสอบแก๊สชีวภาพที่ได้จากหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง
7.การใช้แก๊สชีวภาพปรุงอาหารสำหรับครัวเรือน
โดยโครงการวิจัยดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้คิดค้นจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และยังได้รับการสานต่อให้ส่งเสริมไปยังสังคม โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อที่จะนำผลงานในห้องปฏิบัติการมาใช้ได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในประเทศไทย และต่อโลก ที่มนุษย์จะต้องค้นคว้านำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ และมีอยู่จนเกินความจำเป็นจนสร้างปัญหาให้แก่สิ่งแวดล้อม และสังคม มาปรับเปลี่ยนให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน และอนาคต
โดยหน่วยงาน หรือผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทรศัพท์ 0-3428-1105-6 ต่อ 7653-7654, โทรศัพท์มือถือ 08-3559-8448 อีเมล microreku@gmail.com ได้ในวัน และเวลาราชการ