xs
xsm
sm
md
lg

เผยยอดคนชนบทสูบบุหรี่ไม่ลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สถิติชัดรณรงค์ลดสูบบุหรี่ไม่ได้ผลกับคนชนบท อัตราการสูบไม่ลดลงดั่งคนเมือง เร่งจับมือ อบต. เดินหน้าแก้ปัญหายาสูบในพื้นที่ตัวเอง เชื่อได้ผลดี นำร่องก่อน 58 ตำบล

วันนี้ (9 พ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี นายธวัชชัย ฟักอังกูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังงานประชุมสร้างการเรียนรู้และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างนวัตกรรมควบคุมการบริโภคยาสูบโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง จัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับตำบลจำนวน 58 แห่งจากทั่วประเทศ ร่วมลงนามตามความสมัครใจ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาการบริโภคยาสูบ ซึ่งล้วนแต่เป็นตำบลที่มีทุนและศักยภาพที่เข้มแข็ง เป็นตำบลที่ประสบความสำเร็จในการเป็นตำบลสุขภาวะของ สสส. แล้วทั้งสิ้น สำหรับการเป็นตำบลสุขภาวะ ตำบลจะดำเนินการศึกษา ค้นคว้าปัญหาของชุมชนและร่วมกันแก้ปัญหา สำหรับการลงนามครั้งนี้ จะเป็นการกำหนดประเด็นเรื่องยาสูบให้ตำบลดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยมี สสส. เป็นฝ่ายสนับสนุน เช่น จัดทำคู่มือการดำเนินการงานของพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหายาสูบเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานในพื้นที่ของตัวเองต่อไป

“มั่นใจว่าการนำปัญหาเรื่องยาสูบไปให้ตำบลสุขภาวะที่เรียนรู้วิธีการทำงานในชุมชนอยู่แล้วดำเนินการแก้ปัญหา จะช่วยให้ภารกิจโดยภาพรวมของ สสส. ประสบผลสำเร็จมากขึ้น มีตั้งเป้าจะขยาย อปท .ร่วมแก้ปัญหายาสูบในท้องถิ่นจาก 58 แห่ง เป็น 100 แห่ง ในปี 2557” นายธวัชชัยกล่าว

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อปี 2534 อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยอยู่ที่จำนวน 12.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 32% และมีการลดลงตามลำดับจนเมื่อปี 2554 คนไทยสูบบุหรี่ราว 11 ล้านคน หรือ 21.4% แต่หากแบ่งเป็นเขตเทศบาลและเขตชนบท พบว่า ในปี 2554 เขตเทศบาลมีอัตราการสูบบุหรี่ 3.5 ล้านคน หรือ 17% และเขตชนบท จำนวน 8.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 23.4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงพื้นที่ชนบท ดังนั้น หากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ เข้ามาส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการแก้ปัญหาจะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้มากขึ้น นำไปสู่การลดการบริโภคยาสูบ

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อที่จะการนำพาชุมชนไปสู่การจัดการตนเอง และร่วมสร้างพื้นที่ของตนเองให้เป็นตำบลน่าอยู่ ซึ่งการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เป็น 1 ใน 6 ประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญ โดย สสส. ได้มีการทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ซึ่งขณะนี้มี อปท. เข้าร่วมดำเนินการในเรื่องต่างๆ จำนวนมาก เช่น ประเด็นระบบการดูแลผู้สูงอายุ 400-500 แห่ง การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจราจร 120 แห่ง และเกษตรกรรมยั่งยืนสู่อาหารเพื่อสุขภาวะ 400-500 แห่ง

นางชยภรณ ดีเอม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ กล่าวว่า ส่วนของการจัดการความรู้และพัฒนาแนวทางสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งนั้น ชุมชนท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กและเยาวชน เพราะเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีความมั่นคงในชีวิต การประกอบอาชีพ การศึกษา การมีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีคุณธรรม และมีส่วนร่วมการเป็นพลเมือง โดย อปท.จะต้องมีการตั้งคณะทำงานด้านเด็กและเยาวชน โดยมากกว่าครึ่งต้องเป็นตัวแทนเด็กและเยาวชน เพื่อดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาและขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะ ภายใต้แนวคิดเด็กนำผู้ใหญ่หนุน จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายสนับสนุนขับเคลื่อนวิถีความดีให้กับเด็กและเยาวชน สร้างพลเมืองดีมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มี อปท. เข้าร่วมดำเนินการประมาณ 120 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น