มหาวิทยาลัยขอนแก่นเผยถึงความสำเร็จภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ในการค้นพบการผลิตยีสต์สายพันธุ์ มข. ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตเอทานอลสูงกว่ายีสต์ทั่วไป และยังเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ผลิตขนมปัง อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมไปถึงอาหารผู้ป่วย ที่ไม่ต้องนำเข้ายีสต์จากต่างประเทศ ลดต้นทุน และยังได้ยีสต์คุณภาพดีกว่า
ผศ.ดร.นิภา มิลินทวิสมัย นักวิจัยจากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ค้นพบการผลิตยีสต์สายพันธุ์ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Saccharomyces cerevisiae หรือ แซคคาโรไมซิส ซิริวิซิอี เป็นยีสต์ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำอาหาร ขนมปัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเหมาะกับการนำมาผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเบนซิน เนื่องจากเป็นยีสต์ที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพด้านการผลิตเอทานอลที่สูง
สำหรับยีสต์สายพันธุ์ใหม่นี้ถูกค้นพบจากงานวิจัยการแยกเชื้อยีสต์ที่ผลิตเอนไซม์อินเวอร์เทสสูง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เริ่มต้นเพื่อใช้ในการเพิ่มมูลค่าของน้ำตาลทราย โดยการใช้เอนไซม์อินเวอร์เทสเปลี่ยนจากน้ำตาลทรายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ กลูโคส และฟรักโทส ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า แต่ผลการวิจัยยังพบต่ออีกว่ายีสต์ที่ผลิตเอนไซม์อินเวอร์เทสสูงสายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถผลิตเอทานอลได้สูงด้วย ดังนั้นจึงทำการวิจัยต่อเรื่องการผลิตเอทานอลของยีสต์สายพันธุ์ใหม่นี้โดยเฉพาะ ผลปรากฏว่ายีสต์สายพันธุ์ใหม่นี้สามารถผลิตเอทานอลได้สูงที่สุดเมื่อทดลองเปรียบเทียบในกลุ่มยีสต์ที่ผลิตเอทานอลได้ในระดับสูงด้วยกัน
ทั้งนี้ ยีสต์สายพันธุ์ที่เพิ่งถูกค้นพบได้รับการขึ้นทะเบียนเชื้อจุลชีพโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ชื่อว่า Saccharomyces cerevisiae KKU 6M4.1 หรือเรียกว่า ยีสต์สายพันธุ์ มข. เจริญดีในอาหารที่ใช้เลี้ยงยีสต์ที่มีสภาพความเป็นกรดด่างในช่วงกว้าง (ค่า pH 5-8) และยังสามารถทนต่อไบโอไซด์ซึ่งเป็นสารที่ใช้ยับยั้งจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตน้ำตาลและปนมากับกากน้ำตาลหรือโมลาสที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องมีการนำเข้ายีสต์ประเภทนี้จากต่างประเทศ และจากผลการวิจัยในครั้งนี้ทำให้โรงงานผู้ผลิตมีทางเลือกมากขึ้น โดยทางมหาวิทยาลัยได้มีนำยีสต์สายพันธุ์ มข.นี้ไปให้ บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด ทำการทดสอบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลสูงกว่ายีสต์ที่โรงงานใช้อยู่เดิม
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัย ยังแนะนำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขนมปัง อาหารประเภทต่างๆ รวมถึงผู้ผลิตเครื่องสำอาง อาหารเสริม สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางระบบย่อยอาหาร เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ฯลฯ และยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบภูมิต้านทานโดยเฉพาะสัตว์ที่กำลังอยู่ในช่วงตัวอ่อน ซึ่งถ้าผู้ประกอบการได้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยลดการนำเข้า และช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย เพราะยีสต์นั้นมีคุณประโยชน์มากมาย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *