ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง กดดันให้คณะกรรมการนโยพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอีกต่อไปไม่ไหว จึงต้องมีมติเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2557 ลดราคาเบนซินและดีเซลลงลิตรละ 1-2 บาท แต่เป็นการลดแบบจิ๊บๆ เหลือเกิน เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ดิ่งลงอย่างหนักกว่า 40%
แถมยังมาเคลมอีกว่านี่เป็นของขวัญจาก “ซานต้าประยุทธ์” รับปีใหม่ ไม่รู้จะสร้างเรื่องให้ประชาชนมโนกันไปถึงไหน
การประชุม กพช. ครั้งล่าสุดนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธาน กพช.มีมติปรับลดอัตรานำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร เบนซินและแก๊สโซฮอล์ลดลง 2 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 16 ธ.ค. 2557 โดยบอกด้วยว่าการลดราคาน้ำมันถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย
“ที่ผ่านมามีการบิดเบือนราคาพลังงานจนกระทบต่อการใช้จ่ายครัวเรือน แต่คงไม่สามารถปรับราคาต่ำกว่า 30 บาทได้ เพราะต้องมีเงินกองทุนน้ำมันไว้เพื่อรองรับราคาน้ำมัน ตลาดโลกที่อาจผันผวนในอนาคต โดยตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ สามารถปรับลดราคาน้ำมันได้เกือบ 10 บาท ซึ่งเป็นผลจากการทำงานระหว่าง คสช. กับกระทรวงพลังงาน ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน” ประธาน กพช. เคลมผลงานเสียใหญ่โต และให้เหตุผลเหมือนกลุ่มทุนพลังงานและนอมินีที่ท่องกันจนขึ้นใจเหมือนเดิม
พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีการตั้งคำถามถึง “กองทุนเถื่อน” ว่าทำไมผู้ใช้น้ำมันจึง ต้อง ถูกรีด เงิน เข้าโดยไม่มีทางโต้แย้งใดๆ
ไม่มีการตั้งคำถามถึงการควักเอาเงิน “กองทุนเถื่อน” นี้ไปใช้เอื้อประโยชน์เพื่อกิจการของกลุ่มทุนพลังงานเพียงบางกลุ่มมาชั่วนาตาปี
ไม่มีการตั้งคำถามการบริหารกองทุนที่ไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์เพื่อรับมือกับราคาน้ำมันผันผวนอย่างที่เอ่ยอ้าง ดังตัวอย่างที่เห็นกันมาตลอด เมื่อราคาน้ำมันโลกขึ้น นราคาน้ำมันในประเทศก็ขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกลด ราคาน้ำมันในประเทศก็ยังเท่า เดิมหรือลดลงเพียงเล็กน้อย
ส่วนที่เคลมสามารถลดราคาน้ำมันได้นับสิบบาทต่อลิตร ก็เป็นส่วนของน้ำมันเบนซิน ที่ ใช้ กันมากในรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหรือผู้มีอันจะกิน จะอ้างว่าช่วยมอเตอร์ไซด์เมื่อเทียบสัดส่วนก็เพียงเล็กน้อย ขณะที่น้ำมันดีเซลที่ใช้สำหรับรถขนส่งและภาคการผลิตปรับลดลงจาก ที่เคยอุ้มไว้ 29.99 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ 26.89 บาทต่อลิตร หรือลดลง 3 บาทกว่านิดๆ เท่านั้น
และนี่ยังไม่นับว่าเป็นการเล่นแร่แปรธาตุของนักมายากลด้านพลังงาน เพราะด้านหนึ่ง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน อธิบายว่าราคาขายปลีกที่ลดลงได้นั้นมาจากการลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันและลดค่าการตลาดลง
ขณะที่อีกด้านหนึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557 เห็นชอบตามข้อเสนอของ กพช.ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจาก 0.75 บาทต่อลิตร เพิ่มเป็น 3.25 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 2.5 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้มีเงินภาษีนำส่งเข้าคลังประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็นเงิน 72,000 ล้านบาทต่อปี
ควักจากกระเป๋าซ้ายใส่กระเป๋าขวา ควักจากกระเป๋าขวาใส่กระเป๋าซ้าย และอธิบายให้ฟังดูดีว่าให้ของขวัญด้วยการลดราคาน้ำมันลงตามเสียงเรียกร้องแล้ว เป็น win-win ด้วยกันทุกฝ่าย รัฐบาลก็รวยขึ้นเพราะโยกเงินจากกองทุนน้ำมันไปเป็นภาษีสรรพสามิตเข้าคลังโดยตรงและจากนี้ไปก็รีดภาษีได้เต็มมือ ส่วนประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูกลง
แต่ที่ไม่พูดให้หมดคือ บริษัทน้ำมันรวยพุงปลิ้นจากค่าการตลาดที่ยังสูงเว่อร์ และราคาน้ำมันที่ควรจะลดลงได้มากกว่านี้ และเป็นภาระของประชาชนที่น่าสงสัยว่ารัฐยังจะให้จ่ายแพงอยู่อีกทำไม
เรื่องนี้ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งต่อสู้เรื่องพลังงานมาอย่างต่อเนื่องจนถูกบมจ.ปตท.ฟ้องร้อง ได้ใช้ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผน (สนพ.) มาเปรียบเทียบการปรับขึ้นราคาน้ำมันครั้งนี้ โดยเผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟสบุ๊ค Goosogong เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557 ว่า การลดราคาน้ำมันครั้งนี้ปัจจัยจากราคาหน้าโรงกลั่นมีผลด้วยส่วนหนึ่ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถลดราคาน้ำมันลงได้ 1-2 บาท มาจากการไปลดเงินการเก็บเข้ากองทุนน้ำมันและค่าการตลาด ดังนี้
เบนซิน 95 ลดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาท/ลิตร และลดค่าการตลาด 75 สต./ลิตร (ที่จริงควรลดลงได้ถึง 3 บาท/ลิตร หากใช้เกณฑ์ค่าการตลาดที่ยอมรับกันมานานที่ 1.50 บาท/ลิตร)
โซฮอล์ 95 ลดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาท/ลิตร และลดค่าการตลาด 76 สต./ลิตร (ที่จริงควรลดลงได้ถึง 1.20 บาท/ลิตร)
โซฮอล์91 ลดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาท/ลิตร และลดค่าการตลาด 76 สต./ลิตร (ที่จริงควรลดได้ถึง 1.24 บาท/ลิตร)
E20 ลดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาท/ลิตร และลดค่าการตลาด 77 สต./ลิตร (ที่จริงควรลดได้ถึง 90 สต./ลิตร แต่ก็ถือว่าลดได้ใกล้เคียง)
E85 ต้องจ่ายเงินชดเชยให้เท่าเดิม แต่ลดค่าการตลาดลงไป 17 สต./ลิตร (ที่จริงควรลดได้ถึง 1.40 บาท/ลิตร)
สุดท้ายคือดีเซลหมุนเร็ว ลดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 30 สต./ลิตร และลดค่าการตลาด 50 สต./ลิตร (ที่จริงควรลดได้ถึง 90 สต./ลิตร)
ในวันถัดมา นายอิฐบูรณ์ ก็ตามติดต้นทุนราคาน้ำมันยังลดลงต่อเนื่อง ราคาขายปลีก หน้าปั๊มต้องลดลงด้วย โดยระบุว่า แม้รัฐบาลจะมีการปรับลดราคาน้ำมัน 1-2 บาทต่อลิตรไปแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างราคาน้ำมันของวันที่ 16 ธ.ค. 2557 (วันที่ปรับลดราคา) กับวันที่ 17 ธ.ค. 2557 ต้นทุนราคาน้ำมันที่โรงกลั่นยังลดลงไปอีก 30 สต./ลิตร เงินที่ลดลงไปส่วนนี้ไหลไปโผล่ที่ค่าการตลาดทั้งหมด ดังนี้
เบนซิน 95 ราคา ณ โรงกลั่นลด 39 สต./ลิตร ค่าการตลาดเพิ่ม 39 สต./ลิตร (ยอดใช้วันละประมาณ 1 ล้านลิตร)
แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา ณ โรงกลั่นลด 35 สต./ลิตร ค่าการตลาดเพิ่ม 35 สต./ลิตร (ยอดใช้วันละประมาณ 7 ล้านลิตร)
แก๊สโซฮอล์ 91 ราคา ณ โรงกลั่นลด 35 สต./ลิตร ค่าการตลาดเพิ่ม 35 สต./ลิตร (ยอดใช้วันละประมาณ 10 ล้านลิตร)
E20 ราคา ณ โรงกลั่นลด 31 สต./ลิตร ค่าการตลาดเพิ่ม 31 สต./ลิตร (ยอดใช้วันละประมาณ 4 ล้านลิตร)
E 85 ราคา ณ โรงกลั่นลด 5 สต./ลิตร ค่าการตลาดเพิ่ม 5 สต./ลิตร (ยอดใช้วันละประมาณ 1 ล้านลิตร)
ดีเซลหมุนเร็ว ราคา ณ โรงกลั่นลด 29 สต./ลิตร ค่าการตลาดเพิ่ม 29 สต./ลิตร (ยอดใช้วันละประมาณ 53 ล้านลิตร)
และน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มควรลดราคาลงอีก แต่ถ้าไม่ลดเราก็จะเห็นค่าการตลาดที่บริษัทน้ำมันขาใหญ่ได้อยู่ในระดับสูงเว่อร์เอาเปรียบผู้บริโภค
นั่นเป็นการตั้งคำถามแบบนิ่มๆ แต่ที่ตรงประเด็นเลยคือ คำถามของประชาชนคนเดินดินกินข้าวแกงที่ถามแบบยิงหมัดตรง “จะตัวแปรกี่ตัวก็ช่าง... แต่ตัวแปรผันแปรหลักๆ มีเพียงตัวเดียว.. คือ ราคาน้ำมันดิบของโลกที่ซื้อขายกัน..
“ไม่อยากจะย้อนไปไกลมากนัก เอาแค่ปี พ.ศ.2547 เทียบกับ 2557 (10 ปี) โดยช่วงระหว่างปี พ.ศ.2547-พ.ศ.2548 ราคาน้ำมันดิบโลกขายประมาณบาร์เรลละ 70-100 ดอลลาร์สหรัฐ (1 บาร์เรลเท่ากับ 157 ลิตร) อัตราค่าเงินในเวลานั้นประมาณ 38-42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบัน ปี พศ. 2557 ราคาน้ำมันดิบโลกขายบาเรลละ 60-80 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราค่าเงินในเวลานี้ประมาณ 30-32 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
“แล้วไงครับ.. ก็แค่ ปี พ.ศ.2557 ราคาน้ำมันดิบซื้อมาก็ถูกกว่า พ.ศ.2547 แถมเงินบาทเท่าเดิมซื้อได้มากกว่าเดิม พ.ศ.2547แต่ราคา น้ำมันดีเซลที่ขายคนไทยสูงกว่าปี พ.ศ.2547 เกือบ 2 เท่าตัว
“ขอชัดๆ ง่ายๆ ว่า อะไรคือ ปัจจัยที่แท้จริงของราคาน้ำมันที่คนไทยบริโภคทุกวันนี้” นั่นเป็นคำถามจากเฟสบุ๊คของ Sangkom Kunkanakornsakul ที่ขอคำอธิบายชัดๆ ซึ่งตรงใจกับหลายคนที่อยากรู้ทำไมราคาน้ำมันถึงแพงหนักหนาทั้งที่ต้นทุนใกล้เคียงกันจะว่าเงินเฟ้อก็ไม่น่าจะถูกทั้งหมด
ย้อนไปดูราคาน้ำมันในสหรัฐอเมริกาบ้างว่าลดต่ำลงมากน้อยแค่ไหนเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกรูดต่ำลงมโหฬารขนาดนี้
เพื่อนพ้องของนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชื่อคุณไทยธรณ์ เดินทางไปเยี่ยมคุณแม่และญาติพี่น้องที่อเมริกา และถ่ายรูปราคาน้ำมันจากปั๊มในรัฐต่างๆส่งมาให้นางสาวรสนา ดูอยู่เรื่อยๆ อย่างราคาวันที่ 13 ธ.ค 2557 คุณไทธรณ์เดินทางถึงรัฐ TENNESSEE และถ่ายรูปราคาน้ำมันในปั๊มมาให้ ปรากฏว่า ราคาน้ำมันเบนซินในรัฐเทนเนสซี่ลดลงอีกตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
น้ำมันเบนซิน 87 ราคาแกลลอนละ 2.359$ = 20.03บาท/ลิตร
น้ำมันเบนซิน89 ราคาแกลลอนละ 2.509$ = 21.31บาท/ลิตร
น้ำมันเบนซิน 92 ราคาแกลลอนละ 2.659$ = 22.58 บาท/ลิตร
หรืออย่างที่ ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ขึ้นเฟซบุ๊กว่า “1 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกดิ่งลงกว่า 40% ประชาชนทั่วโลกมีความสุข เพียงรัฐทำหน้าที่ส่งต่อส่วนลดนี้ให้ประชาชน ค่าครองชีพก็จะลดลง ประชาชนก็จะมีเงินเหลือใช้ อย่างในสหรัฐฯ ทำให้ราคาหน้าปั๊มลดลงมาอยู่ที่ 20 บาทเศษ จากที่เคยอยู่ 30 บาทเศษต่อลิตรแล้ว
พร้อมกับฝากถึงคณะผู้บริหารบ้านเมืองด้วยว่า “เวลาในการบริหารเหลือไม่มาก หากจะทำความดี ความถูกต้องก็คงต้องเร่งทำครับ ตอนนี้มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่านทั้งอดีตรมต.คลัง อดีตนายกฯ ส่งเสียงออกมาทางเดียวกับประชาชนมากขึ้นว่า บริหารไม่น่าจะถูกทาง ลองทบทวนดูหน่อยดีไหมครับ”
คำตอบสำหรับคำขอทบทวนมากน้อยแค่ไหน มติกพช. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2557 ก็น่าจะเป็นคำตอบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดแล้ว
“หม่อมกร” ยังเปรียบเทียบผลงานลดราคาพลังงานไทยที่ดีใจกันทั้งประเทศกับราคาน้ำมันในตลาดโลกให้เห็นกันจะจะอีกด้วย พร้อมกับตั้งคำถามว่า “ราคาน้ำมันดิบลดลงถึง 44% เหลือลิตรละ 12 บาทกว่า ส่วนราคาหน้าปั๊มไทยลงไป 9-27% อะไรคือเหตุผล น่าหาคำตอบครับ”
ไม่ใช่แต่การลดราคาน้ำมันเพื่อกลุ่มทุนพลังงานเป็นหลักเท่านั้น ขณะนี้ “กพช.บิ๊กตู่” ได้ปลดล็อกราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ตรึงเอาไว้มายาวนานเรียบร้อยแล้ว
เรื่องนี้ รมว.พลังงาน แถลงเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า กพช.ได้เห็นชอบยกเลิกการกำหนดราคาแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซฯ ที่คงไว้ระดับ 333 เหรียญสหรัฐ ซึ่งต่อไปราคาก๊าซฯก็จะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หากต้นทุนสูงกว่าระดับนี้ก็ย่อมต้องปรับราคาเพิ่ม แต่หลักการคือภาคขนส่งควรจะต้องปรับขึ้นชัดเจน
เอาเข้าให้แล้วไหมล่ะ อ้างราคาตลาดโลกเป็นสรณะ พอน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงราคาน้ำมันในประเทศก็ไม่ได้ลดลงตามสัดส่วนอย่างที่ควรจะเป็น และเวลานี้ราคาน้ำมันลดต่ำลง ราคาก๊าซฯ ก็ต้องลดต่ำลงด้วย แต่เชื่อไหมกระทรวงพลังงาน กลับ ไฟเขียวให้ขึ้นราคาก๊าซฯ กระทรวงคมนาคม ก็ไฟเขียวปรับขึ้นค่าแท็กซี่ ข้าวแกงก็แพงขึ้นไปรออยู่อีก
ย้อนกลับไปฟังคำท้วงติงของม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ อีกสักครั้งดีไหม “....บริหารไม่น่าจะถูกทาง ลองทบทวนดูหน่อยดีไหมครับ”
น.ส.รสนา ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ดักคอเอาไว้ล่วงหน้าในหัวข้อ “นายกฯควรระมัดระวังมือชงนโยบายที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน” ว่า “... ขณะนี้ราคา(น้ำมัน)ตลาดโลกลดลงอย่างฮวบฮาบแล้ว จนแม้แต่ในอเมริกา ราคาน้ำมันรวมภาษีแล้ว ยัง เหลือราคาเพียงลิตรละ 20 - 22 บาท สถานการณ์เช่นนี้ทำให้รัฐบาล ยากจะหลีกเลี่ยงในการลดราคาให้สะท้อนกลไกตลาดโลกที่เคยอ้าง แต่กลายเป็นว่าเมื่อต้องลดราคาน้ำมัน กพช. จะฉวยโอกาสขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี อีกกิโลกรัมละ 1.37 บาท จาก 24.16 บาท/กก. เป็น 25.53 บาท/กก. ทั้งที่ราคาก๊าซก็ลดลงตามราคาน้ำมันดิบไม่มีเหตุผลที่จะมาขึ้นราคาก๊าซในขณะนี้”
สปช.สายปฏิรูปพลังงานคนนี้ ยังเห็นว่า หากลดราคาน้ำมันแต่ขึ้นก๊าซแอลพีจี นายกรัฐมนตรีไม่ควรเรียกว่าเป็นของขวัญปีใหม่คืนความสุขให้ประชาชน แต่เป็นการสาดความทุกข์ให้ประชาชนมากกว่า เพราะราคาก๊าซหุงต้มขณะนี้ถังละ 415 บาท ทำให้ประชาชนแบกภาระค่าครองชีพหลังแอ่นแล้ว การขึ้นราคาก๊าซหุงต้มอีกกิโลกรัมละ 1.37 บาท เท่ากับขึ้นราคาอีกถังละ 20.55 บาท ประชาชนจะยิ่งยากลำบากมากขึ้นอีก
การดำเนินนโยบายเช่นนี้ จะกลายเป็นว่ารัฐบาลมุ่งคืนความสุขให้กลุ่มทุนพลังงานมากกว่าประชาชน เพราะนโยบาย ของรัฐบาลที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า โอบอุ้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้ได้ใช้ก๊าซแอลพีจีราคาถูกจากอ่าวไทย แต่ผลักดันประชาชนทุกกลุ่มไปใช้ก๊าซแอลพีจีในราคานำเข้า
การขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในกลุ่มที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง (ครัวเรือน, ยานยนต์ และอุตสาหกรรม) ที่ใช้วันละ 12.9 ล้าน กิโลกรัม มีการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีมาแล้วกิโลกรัมละ 5.9827 บาท/กก. หากมีการขึ้นราคาอีกกิโลกรัมละ 1.37 บาท จะเท่ากับขึ้นราคาถึงกิโลกรัมละ 7.3527 บาท เป็นการเพิ่มกำไรให้ธุรกิจก๊าซวันละ 94.8 ล้านบาท หรือปีละ 34,617 ล้านบาท เป็นกำไรเพิ่มขึ้นเหนาะๆ จากการล้วงกระเป๋าประชาชน และกำไรที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นรายได้เข้ารัฐ ทั้งที่กิจการก๊าซฯเป็นกิจการผูกขาดที่ไม่มีการแข่งขันผู้กำหนดนโยบายก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนอีก แล้วประชาชนจะพึ่งพาใครได้?
น.ส.รสนา ยังตั้งคำถามด้วยว่า ควรแล้วหรือที่ท่านนายกฯ จะรับฟังแต่กลุ่มทุนพลังงาน และข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจพลังงาน ที่ยุให้ขึ้นราคาก๊าซที่ประชาชนใช้เพื่อการยังชีพให้เป็นราคาตลาดโลก 100% แล้วก๊าซในอ่าวไทยที่ประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของ ประชาชนไม่มีสิทธิใช้ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพยากรในราคาที่เป็นธรรมเลยหรือ?
ผู้มีส่วนร่วมในการชงนโยบายใน กพช. ที่กำหนดให้ขึ้นราคาก๊าซ และใน กบง. ที่กำหนดนโยบายราคาน้ำมัน เป็นข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นทั้งคนกำหนดนโยบายของรัฐ และสวมหมวกเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทก๊าซและน้ำมันที่เป็นผู้รับผลโดยตรงจากนโยบายราคาที่ตนชงและกำหนดให้เก็บจากประชาชน
"แล้วประชาชนจะเชื่อใจได้อย่างไรว่าคนเหล่านั้น มิได้กำหนดนโยบาย เพื่อให้พวกตนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากกำไรที่ เพิ่มขึ้นของธุรกิจพลังงาน เพราะการลดราคาน้ำมันน้อย และช้า และการผลักประชาชนไปใช้ราคาแอลพีจีตลาดโลก เพื่อให้ปิโต รเคมีได้ใช้ก๊าซราคาถูกในประเทศ ล้วนเป็นการเพิ่มพูนกำไรให้เอกชนที่ข้าราชการเหล่านั้นไปนั่งเป็นกรรมการ และได้รับผลตอบแทนโดยตรงจากกำไรที่เพิ่มขึ้น...."
เชื่อใจได้แค่ไหน ดูจากการปรับลดราคาน้ำมันในประเทศเปรียบเทียบกับราคา ตลาดโลกก็เห็นชัดอยู่แล้ว หนำซ้ำท่านผู้นำของประเทศ ยังเคลมว่าเป็นของขวัญฉลองปีใหม่ให้กับชาวประชาอีกต่างหาก