xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ชี้ ผลประโยชน์ทับซ้อนของ กบง. ชนวน ปชช. จำต้องใช้พลังงานแพงอย่างไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ  (แฟ้มภาพ)
“รสนา” ซัด กบง. ไร้ธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับนโยบาย แต่ไปนั่งรับผลประโยชน์จากบริษัทที่ตนเป็นผู้มีหน้าที่กำกับ ชี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีแบ่งก๊าซจากอ่าวไทยไปใช้ครึ่งต่อครึ่งกลับไม่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน สวนทาง ปชช. ที่ใช้ก๊าซ - น้ำมันต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มปิโตรเคมีให้ได้ใช้แอลพีจีในราคาลด 40% จากราคาตลาดโลก

วันนี้ (11 ม.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ นโยบายพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เกิดจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของ กบง. ??!! ตามข้อความดังนี้

“คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุมัติขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีโรงแยกก๊าซจาก 333 เหรียญต่อตัน (10.99บาท/กก.) เป็น 488 เหรียญ/ตัน (16.10 บาท/กก.) เมื่อ 7 มกราคม 2558 เป็นการเพิ่มกำไรให้ ปตท. สวนทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงแบบหัวทิ่ม อีกทั้ง กบง. ยังมีมติยกเลิกการเก็บเงินจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ากองทุนน้ำมันกิโลกรัมละ 1 บาทอีกด้วย แต่ยังคงเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันและก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงเข้ากองทุนน้ำมันต่อไป

มติ กบง. ในครั้งนี้เป็นธรรมต่อประชาชนแล้วหรือ? เพราะก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นทรัพยากรจากอ่าวไทยถูกแบ่งส่วนครึ่งหนึ่งให้ปิโตรเคมีใช้เป็นวัตถุดิบและยังเป็นครึ่งที่มากกว่าส่วนที่ให้ภาคครัวเรือนของประชาชน 65 ล้านคนใช้อีกด้วย ทำให้ก๊าซแอลพีจีสำหรับครัวเรือนไม่พอใช้ ต้องนำเข้าแอลพีจีมาให้ครัวเรือนใช้และเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย

ที่ผ่านมา มีการกล่าวหาว่าครัวเรือนเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนใช้น้ำมันเบนซินต้องมาแบกภาระด้วยการซื้อน้ำมันแพง เพราะต้องถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตราสูง เพื่อเอามาชดเชยให้กับครัวเรือนเป็นความไม่เป็นธรรมสำหรับคนใช้น้ำมัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ปิโตรเคมีเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้แอลพีจีไม่พอใช้ ถ้าไม่มีปิโตรเคมีมาแย่งใช้แอลพีจีในราคาถูกกว่าราคาแอลพีจีตลาดโลก แอลพีจีในประเทศจะมีเหลือเกินพอสำหรับครัวเรือน

ปิโตรเคมีอ้างว่าตัวเองไม่ได้ใช้ก๊าซแอลพีจีนำเข้าจึงไม่ควรต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ก็เพราะปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรในประเทศก่อนคนอื่นในราคาถูกกว่าปิโตรเคมีของบริษัทอื่น เพราะเป็นบริษัทลูกในเครือเดียวกัน จึงสามารถซื้อก๊าซแอลพีจีในราคาต่ำกว่าราคาแอลพีจีตลาดโลกถึง 40% โดยให้ผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้แบกรับภาระส่วนต่างที่เกิดจากการใช้แอลพีจีราคาถูกของปิโตรเคมีแทน

โรงแยกก๊าซก็เหมือนหม้อข้าวในบ้าน เมื่อปิโตรเคมีกินข้าวหมดไปกว่าครึ่งหม้อคนเดียว ทำให้สมาชิกที่เหลือมีข้าวไม่พอกิน ต้องไปซื้อข้าวนอกบ้านมากิน โดยเอาเงินจากทุกคนที่ใช้น้ำมันและก๊าซแอลพีจีที่ได้หยอดกระปุกไว้ในกองทุนน้ำมันมาจ่ายค่าข้าวที่ต้้องซื้อจากนอกบ้านมาใช้ แต่ปิโตรเคมีอ้างว่าตัวเองไม่ได้กินข้าวนอกบ้าน เลยไม่ควรต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

แต่ปิโตรเคมีกินข้าวในหม้อส่วนกลางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสาเหตุหลักที่ยกเลิกกองทุนน้ำมันไม่ได้ แม้ว่าในขณะนี้กองทุนน้ำมันมีเงินสะสมกว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว และกองทุนน้ำมันทุกวันนี้รับเงินเข้าทุกวันๆ ละกว่า 300 ล้านบาท โดยมีภาระการชดเชยน้ำมันชนิดเดียวคือ E85 วันละไม่เกิน 10 ล้านบาท

ส่วนแอลพีจีไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมันชดเชยแล้ว เพราะทุกภาคส่วนที่ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงจ่ายในราคาตลาดโลกทั้งหมดแล้ว แต่ กบง. ก็ยังไม่ยุติการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จึงไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มปิโตรเคมีให้ได้ใช้แอลพีจีในราคาลด 40% จากราคาตลาดโลกต่อไป โดยปิโตรเคมีไม่ต้องรับผิดชอบตัวเองโดยกบง.มีมติให้ยกเลิกการเก็บเงินจากปิโตรเคมีเข้ากองทุนฯเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังเก็บเงินเข้ากองทุนฯจากคนใช้น้ำมันและคนที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงต่อไป

เหตุใดบริษัทปิโตรเคมีของเอกชนจึงมีสิทธิได้ใช้ทรัพยากรของประเทศในราคาถูกกว่าประชาชนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีเพียงเพื่อการดำรงชีพ? บริษัทเอกชนไม่มีสิทธิใช้ทรัพยากรของประเทศในราคาถูกกว่าราคาตลาด ผู้ที่มีสิทธิได้ใช้ในราคาต่ำกว่าตลาดคือประชาชน ไม่ใช่บริษัทเอกชน

บริษัทปิโตรเคมีมาชี้แจงในอนุกรรมาธิการปิโตรเลียมในกรรมาธิการพลังงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ควรยกเลิกการเก็บเงินจากปิโตรเคมีเข้ากองทุนน้ำมัน1บาท/กก เพื่อความเป็นธรรมต่อปิโตรเคมี เพราะปิโตรเคมีไม่ได้ใช้ก๊าซนำเข้าจึงไม่สมควรต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯอีก

คนในธุรกิจปิโตรเคมีคิดเช่นนั้นไม่แปลก เพราะคนส่วนใหญ่มักเห็นแก่ตัวและคิดเข้าข้างตัวเอง แต่ควรแล้วหรือที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานจะคิดในทางเดียวกันกับบริษัทเอกชนปิโตรเคมี อีกทั้งตอบสนองข้อเสนอนี้อย่างรวดเร็ว แต่กับข้อเรียกร้องเพื่อให้ดูแลค่าครองชีพของประชาชน กบง. กลับไม่เคยตอบสนองอย่างรวดเร็วทันทีเช่นนี้

สิ่งที่ กบง. กระทำนั้นอาจจะถูกครหาได้ว่าเป็นการเอาอำนาจรัฐมารับใช้บริษัทเอกชน เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจพลังงาน เพราะนั่งอยู่ในบอร์ดของบริษัทพลังงานทั้งบริษัทแม่ และบริษัทลูก และคนเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากการกำหนดนโยบายให้บริษัทพลังงานได้กำไรเพิ่มขึ้น และตนเองก็ได้รับผลตอบแทนในรูปของโบนัสที่เชื่อมโยงกับผลกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้นด้วย

ในสากลประเทศที่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ไม่มีใครปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับนโยบาย ไปนั่งรับผลประโยชน์จากบริษัทที่ตนเป็นผู้มีหน้าที่กำกับ ผลประโยชน์ทับซ้อนในลักษณะเช่นนี้แสดงถึงความไร้ธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงในกระบวนการกำกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศนี้”


กำลังโหลดความคิดเห็น