ภาคประชาชนเปิดเวทีสัมมนา“สืบสานพระราชปณิธานการจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย” ที่ ม.รังสิต พรุ่งนี้ นักวิชาการด้านพลังงานขึ้นเวทีเพียบ อาทิ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล-ณรงค์ โชควัฒนา-ดร.นพ สัตยาศัย ม.ล.กรฯ เผยต้องการชี้ให้เห็นพระราชปณิธานพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่ให้ใช้พลังงานเพื่อความมั่นคงของชาติ มากกว่าเพื่อกำไรทางธุรกิจ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนนักศึกษา ประชาชน ภาครัฐ และเอกชน เพื่อร่วมนำเสนอทางออกในอนาคตกับการจัดการทรัพยากรไทยเพื่อประเทศไทย ในงานสัมมนาวชาการประจำปี 2558 เรื่อง “สืบสานพระราชปณิธาน การจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย” ในวันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึก 1 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี โดยศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีวิทยากรผู้บรรยาย อาทิ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.กมล กมลตระกูล อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจอาวุโส และ ดร.นพ สัตยาศัย อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ม.ล.กรกสิวัฒน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเหตุที่งานต้องใช้ชื่อ "สืบสานพระราชปณิธาน การจัดการทรัพยากรเพื่อประเทศไทย" เนื่องจากในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการการรถไฟในสมัยนั้น โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทางการทำการสำรวจแหล่งน้ำมันดิบนี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการ โดยให้กรมทางซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดรถไฟหลวงเข้ามาดำเนินการเพื่อนำทรายน้ำมันมาใช้แทนยางแอสฟัลต์และทำการทดลองกลั่นน้ำมันดิบที่ขุดได้ โดยมีการดำเนินการเรื่อยมาในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น นายสุธี เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา บุตรของ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง ผู้กำกับดูแลแหล่งน้ำมันดิบฝางในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือที่ระลึก 84 ปี กรมทางหลวง โดยบิดาของท่านได้เคยกล่าวว่า “ไม่สามารถนำไทยไปสู่มหาอำนาจได้ หากไม่มีน้ำมัน และการอุตสาหกรรม” ทางกรมได้ส่งนายปัญญา สูตะบุตร ไปปฏิบัติงานประจำที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งนั้นเป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยท่านได้เล่าว่า “สงครามชักจะเข้มข้นขึ้นทุกที ต่างคนต่างไม่รู้ว่า ชะตาอนาคตจะเป็นอย่างไร ...การดำเนินการจะแบ่งเป็น 3 หมวดคือ หมวดโยธา หมวดกลั่น และหมวดเจาะ ในหมวดกลั่นได้ช่างฝีมือไปประมาณ 10 คน เป็นช่างเหล็ก ช่างหม้อน้ำ ช่างไม้ ช่างปูและสารพัดช่าง โดยที่ฝางขณะนั้น ไม่มีไฟฟ้า ประปา .....ความจริงขณะนั้นเป็นสมัยสงคราม น้ำมันหายาก แต่เราก็สามารถกลั่นน้ำมันได้ทุกชนิด”
ในช่วงปี 2490 -2491 กรมทางได้ตั้งแขวงผลิตแอสฟัลต์ มีหน้าที่ผลิตแอสฟัลต์สำหรับกรมทางใช้ในภาคเหนือ แท้ที่จริงมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การหาน้ำมันปิโตรเลียม “... การผลิตแอสฟัลต์ก็เป็นงานของแขวงซึ่งน่าสนใจมาก กล่าวคือ ในบริเวณ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่นั้น ไม่ว่าจะเจาะไปตรงไหนจะพบน้ำมันทั้งนั้น ถ้าเจาะเตี้ย ๆ ประมาณ 1 เมตร จะพบชั้นทราย ซึ่งมีน้ำมันดิบปนอยู่จำนวนมากบ้างน้อยบ้าง จำนวนสูงสุดจะได้น้ำมันดิบประมาณ 12% โดยน้ำหนักน้ำมันปนทรายนี้อยู่ใต้ดินเมืองฝางมีปริมาณมหาศาล”
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 Dr.Harold Hutton ผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียมได้ไปดูกิจการของหน่วยสำรวจน้ำมันฝาง และรายงานว่าน้ำมันดิบที่ฝางน่าจะนำมากลั่นออกขายได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อตั้งโรงกลั่นขนาด 1,000 บาร์เรล ถ้าหากมีปริมาณเพียงพอ ดังนั้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีได้ ลงมติให้โอนกิจการน้ำมันของหน่วยสำรวจน้ำมันฝาง มาให้กรมการพลังงานทหาร วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่กรมพลังงานทหารตั้งกองสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ขยายพื้นที่ การสำรวจในลุ่มแอ่งภาคเหนืออีกหลายลุ่มแอ่ง คือ ลุ่มแอ่งเชียงใหม่ ลุ่มแอ่งลำปาง ลุ่มแอ่งลำพูน ลุ่มแอ่งแพร่ ลุ่มแอ่งเชียงราย และลุ่มแอ่งพะเยา
ข้อมูลจาก ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ ระบุว่า ในเบื้องต้นได้มีการประเมินศักยภาพปริมาณสำรอง ลุ่มแอ่งฝางน่าจะมีปริมาณสำรองประมาณ 40 ล้านบาร์เรล ลุ่มแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 15 ล้านบาร์เรล ลุ่มแอ่งลำปาง คาดว่าจะมีประมาณ 90 ล้านบาร์เรล ลุ่มแอ่งแพร่คาดว่าจะมีประมาณ 8 ล้านบาร์เรล และลุ่มแอ่งเชียงราย-พะเยา คาดว่าจะมีประมาณ 22 ล้านบาร์เรล รวมปริมาณสำรองที่มีการประมาณการเบื้องต้น 175 ล้านบาร์เรล มูลค่าประมาณ 2.88 แสนล้านบาท(คำนวณ ณ ราคาน้ำมันดิบที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรล) โดยกรมการพลังงานทหารก็ได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของชาติมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ 98 ปี ในการดำเนินการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่บ่อน้ำมันฝางนี้ แสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะของบรรพบุรุษไทยที่เอาประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งโดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เพื่อให้ประเทศไทยสามารถมีความมั่นคงที่แท้จริงด้านพลังงานและสามารถพึ่งตนเองได้ในอนาคต จึงนับเป็นโชคดีของชาติที่ทรัพยากรปิโตรเลียมในภาคเหนือนี้ ไม่สามารถตกเป็นของเอกชนผ่านระบบสัมปทานปิโตรเลียม เนื่องจากหน่วยราชการยังคงดำเนินการตามพระบรมราโชบายในการนำทรัพยากรของชาติมาใช้เพื่อความมั่นคงเป็นอันดับแรก มากกว่าการมุ่งนำไปใช้ให้หมดไปในปัจจุบันหรือเพียงการสร้างผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น