xs
xsm
sm
md
lg

ยันจุดยืนภาคประชาชนหยุดสัมปทานรอบ 21 เพื่อรื้อกฎหมาย เตือนตั้ง คกก.แค่เตะถ่วงถอนตัวแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคประชาชนย้ำ 5 จุดยืนสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ยันต้องหยุดเพื่อรอรื้อกฎหมายก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ และปกป้องสิทธิชุมชน ชี้ช่องให้รัฐสำรวจเอง 3 แปลงในทะเลแก้วิกฤตพลังงาน พร้อมถอนตัววงพูดคุย หากตั้งคณะทำงานร่วมแค่มุกเตะถ่วง

วันนี้ (22 ก.พ.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) แถลงภายหลังการหารือร่วมกับแกนนำและแนวร่วม คปพ. โดยตัวแทนเครือข่ายฯ ที่ทำหน้าที่แถลงข่าวในวันนี้ประกอบด้วย นายนพ สัตยาสัย, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เป็นต้น ว่าจากผลการรับฟังความเห็นบนเวทีกลางที่รัฐบาลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ผลสรุปว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นธรรมและมั่นคง เพื่อแก้ไขความรู้สึกที่ประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความไว้วางใจในภาครัฐ ในวันนั้นตัวแทนภาครัฐเป็นแถลงข่าวผลการประชุม แต่ทางภาคประชาชนเห็นว่ามีบางประเด็นที่ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงในวันนั้น จึงเกรงว่าเนื้อหาที่ขาดหายไปจะไม่ไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ประการแรก ภาคประชาชนได้เสนอให้ฝ่ายนโยบายพิจารณาแก้ไขราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรม โดยในที่ประชุมภาคประชาชนได้ระบุความไม่เป็นธรรมในเรื่องราคาก๊าซแอลพีจีของครัวเรือนกับราคาก๊าซแอลพีจีของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีว่า จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเสียก่อนที่จะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อให้รู้ว่าการเปิดใช้ทรัพยากรเป็นประโยชน์ต่อใครสูงสุด

ประการที่ 2 ภาคประชาชน เสนอให้รัฐบาลมีพันธะสัญญาในเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ สร้างความเป็นธรรมและสร้างบรรยากาศการแข่งขัน ตลอดจนปกป้องสิทธิชุมชนให้เสร็จสิ้นภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้มีทางเลือกอื่นๆ ในการเข้ามาสำรวจปิโตรเลียมของเอกชนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การจ้างผลิตหรือแบ่งปันผลผลิต เป็นต้น

ประการที่ 3 ในกรณีที่มีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภาครัฐและภาคประชาชนเห็นไม่ตรงกัน โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่าต้องเดินหน้าต่อไป แต่ภาคประชาชนเห็นว่าไม่ควรเดินหน้าภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ฝ่ายภาครัฐจึงเสนอให้นายกฯตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องที่ต้องแก้ไขภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้ หากยังไม่ได้ข้อยุติจึงจะให้นายกขยายเวลาต่อไป

ประการที่ 4 สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอแต่ยังไม่ปรากฎต่อสื่อภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา และเกรงว่าข้อเสนอจะไม่ถูกนำเสนอถึงนายกฯ คือ ภาคประชาชนเชื่อว่าเรามีเวลาเพียงพอที่จะแกัไขกฎหมายให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และยืนยันว่าสมควรที่จะยกเลิกประกาศของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในการเปิดสำรวจและสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เพื่อยุติปัญหาทั้งหมด รวมไปถึงมีการเสนอทางออกหากภาครัฐยังยืนยันว่าอัตราปิโตรเลียมและพลังงานอยู่ในขั้นวิกฤต

จึงเสนอให้แบ่งทรัพยากรปิโตรเลียมออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ที่กระทรวงพลังงานระบุว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยาภาพสูงในการพบปิโตรเลียม คือ พื้นที่ในทะเลจำนวน 3 แปลงที่ติดกับแปลงสัมปทานเดิม โดยใหัภาครัฐตราเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อความมั่นคงทางพลังงานเปิดการจ้างเอกชนสำรวจพื้นที่ 3 แปลงดังกล่าว เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงค่อยพิจารณาแนวการดำเนินการต่อไปว่าจะเกิดสูงสุดแก่รัฐอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการจ้างผลิตหรือแบ่งปันผลผลิต ซึ่งสามารถดำเนินการคู่ขนานไปกับการแกัไขกฎหมายได้

ส่วนที่ 2 พื้นที่ที่กระทรวงพลังงานระบุว่า มีจำนวนปิโตนเลียมน้อยหรืออาจไม่พบเลย คือแปลงสัมปทานทางบกจำนวน 26 แปลง การเร่งรีบดำเนินการใดๆ ก็ไม่สามารถตอบโจทย์การขาดแคลนพลังงานของภาครัฐได้ จึงเห็นสมควรว่าให้รอการแก้ไขกฎหมายต่างๆ รวมถึงสิทธิและการเยียวยาชุมชนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

และประการที่ 5 สำหรับข้อเสนอในการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานร่วมกัน ภาคประชาชนขอยืนยันว่า เราพร้อมที่จะให้ขัอมูลและข้อเท็จจริงต่อจุดยืนของเรา แต่ขอพิจารณาโครงสร้าง บุคลากร และเป้าหมายของคณะทำงานที่เกิดขึ้นเสียก่อน หากคณะทำงานดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการถ่วงเวลา โดยไม่คิดจะทบทวนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เราจะไม่ขอเข้าร่วม และถอนตัวจากการพูดคุยทันที

“คาดหวังว่าหากรัฐบาลทำการทบทวนและไม่เปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในวันที่ 16 มี.ค. ตามที่ รมว.พลังงานได้ขีดเส้นไว้ การเเสดงตัวของภาคประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้น” นายปานเทพระบุ

ด้าน น.ส.บุญยืนกล่าวเสริมว่า เมื่อมีการเสนอให้ภาครัฐทำการสำรวจทรัพยากรด้วยตัวเอง โดยอาจจะว่าจ้างเอกชน ก็มักมีข้ออ้างว่าไม่มีงบประมาณ จึงขอแนะนำให้รัฐนำเงินจากกองทุนน้ำมันที่วันนี้มีมากกว่า 2.9 หมื่นล้านบาทมาทำการสำรวจในครั้งนี้ โดยงบประมาณอาจจะสูงถึง 5 พันล้านบาทอย่างที่คนในรัฐบาลชอบกล่าวอ้างก็สามารถทำได้ เพราะถือว่าประชาชนเป็นผู้จ่ายค่าสำรวจในฐานะที่เสียเงินเข้ากองทุนจากการเติมน้ำมัน

ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายแม้แต่ภาครัฐยอมรับว่ากฎหมายปิโตรเลียมมีปัญหาต้องแก้ไข ดังนั้นภาคประชาชนจะไม่รอแล้ว จะทำเรื่องเสนอคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในวันที่ 25 ก.พ. ให้เป็นเจ้าภาพแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ อย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและเป็นธรรมต่อส่วนรวม ส่วนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ภาคประชาชนจะไปยื่นหนังสือเพื่อติดตามทวงถามเรื่องที่ร้องเรียนไปก่อนหน้านี้ต่อนายกฯ อีกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล โดยอยู่ภายใต้กรอบของรัฐบาลและกฎอัยการศึก






กำลังโหลดความคิดเห็น