xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ยก 6 ตรรกะขัดแย้งกันเองของกระทรวงพลังงาน เปิดสัมปทานรอบ 21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ (แฟ้มภาพ)
“ปานเทพ” โพสต์เฟซบุ๊ก 6 ตรรกะขัดแย้งกันเองของกระทรวงพลังงาน ท่องถาคา ต้องเร่งเปิดสัมปทานรอบ 21 เพราะจะเกิดวิกฤตพลังงาน ย้อนถามตกลงต้องการความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ผลประโยชน์สูงสุดของชาติ หรือยึดประโยชน์ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนเป็นหลัก


นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โพสต์เฟซบุ๊ก 6 ตรรกะที่ขัดแย้งกันเองของกระทรวงพลังงานในความเร่งรีบเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จากการประชุมช่วงบ่ายระหว่างภาคประชาชนกับกระทรวงพลังงานในช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า 1. กระทรวงพลังงานอ้างว่าที่ต้องรีบเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพราะเราเข้าสู่การขาดแคลนพลังงานแล้ว และจะเสียหายหนักจากการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศในอีก 6 - 7 ปีข้างหน้า

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : ถ้ารอแก้ไขกฎหมายก่อนสิ้นสุดรัฐบาลชุดนี้ กับเร่งกระบวนการปิดรับข้อเสนอสัมปทานวันที่ 16 มีนาคม 2558 ประเทศชาติจะเสียหายต่างกันมากน้อยแค่ไหน

กระทรวงพลังงานยืนยันว่าเสียหายทุกวัน (แต่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้) จึงถามข้อ 2 ต่อมาว่าถ้าอย่างนั้นทำไมถึงไม่จ้างสำรวจเองก่อน? (ซึ่งสามารถทำได้เลย)

2. กระทรวงพลังงานบอกกว่า ไม่ควรเสียเวลาสำรวจเพราะแปลงสัมปทานเหล่านี้เป็นแปลงที่มีโอกาสจะเจอน้อยมาก เพราะแปลงสัมปทานเหล่านี้ทั้งหมด 29 แปลง ล้วนแล้วแต่เป็นแปลงที่เคยให้สัมปทานเดิมแต่ไม่พบจึงคืนกลับมาทั้งหมด ถ้าสำรวจแล้วไม่พบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ?

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : ถ้าคิดว่าเจอน้อยมากแล้วจะเร่งรีบเปิดสัมปทานเพื่อแก้ไขการขาดแคลนพลังงานได้อย่างไร? จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างไร? ดังนั้นเมื่อไม่ตอบโจทย์ที่จะแก้ไขวิกฤติร้ายแรงตามข้อ 1 จึงไม่มีความเร่งรีบตามที่กล่าวอ้างตามข้อที่ 1 แต่ประการใด และแปลว่าเราสามารถแก้ไขกฎหมายให้มีความโปร่งใส สร้างโอกาสในการแข่งขัน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ดีกว่าเดิมก่อนการตัดสินใจเปิดใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมรอบใหม่

3. กระทรวงพลังงานจึงตอบตรรกะในข้อ 2 ว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป แปลงสัมปทานที่เคยให้สัมปทานไปแล้วไม่พบปิโตรเลียมในเวลาหนึ่ง ในวันนี้อาจจะพบมากขึ้นก็ได้ ดังเช่นตัวอย่างในทะเล 3 แปลง ซึ่งเป็นแปลงสัมปทานที่อยู่ติดกับแปลงสัมปทานเดิม เมื่อก่อนไม่พบปิโตรเลียมและเคยส่งคืนกลับมา ปัจจุบันถือว่าเป็น 3 แปลงที่มีศักยภาพ

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : ถ้าคิดว่าจากสิ่งที่เราเคยรู้ว่ามีปิโตรเลียมน้อย อาจจะมีมากก็ได้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ในยุคปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพ แปลว่าตรรกะข้อที่ 2 ของกระทรวงพลังงานที่ว่า กระเปาะเล็ก ไร้ศักยภาพ ต้นทุนแพง ไม่น่าสนใจ ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นความจริงอีกต่อไป ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าอย่าเสียเวลาสำรวจก่อนเพราะจะพบปิโตรเลียมน้อยมากตามตรรกะข้อที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น

ยิ่งถ้ากระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป เรามีโอกาสจะพบมากขึ้น ยิ่งต้องแปลว่าเราควรจะสำรวจใหม่เพื่อให้รู้ศักยภาพและคุณค่าที่แท้จริงของทรัพยากร ที่จะผูกพันในการยกสัมปทานให้กับเอกชนไปอีก 39 ปี การแก้ไขกฎหมายในภายหลังจากให้สัมปทานไปแล้วย่อมเสียโอกาสในการรักษาประโยชน์ประเทศมากกว่า

4. กระทรวงพลังงานจึงชี้แจงต่อว่าถึงอย่างไรก็จะต้องเร่งรีบ ไม่ควรเสียเวลาสำรวจ เพราะเราจะเข้าสู่วิกฤติขาดแคลนพลังงานแล้ว

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : “ถ้ารีบขนาดนั้น เพราะเชื่อว่าจะเกิดวิกฤติร้ายแรงขนาดนั้น” เหตุใดไม่เริ่มต้นจากแปลงที่กระทรวงพลังงาน บอกเองว่ามีศักยภาพสูง คือ 3 แปลงในทะเล (เพราะกระทรวงพลังงานแจ้งว่าบนบกมีโอกาสพบปิโตรเลียมน้อยกว่าหรือไม่พบเลย จึงไม่ควรเสียเวลาและเสียเงินกับแปลงที่ไม่แน่ใจในภาวะวิกฤต)

เพราะ 3 แปลงสัมปทานในทะเลมีศักยภาพสูง จึงย่อมมีความเสี่ยงต่ำ ควรให้กระทรวงพลังงาน “จ้างเอกชนสำรวจเอง” ซึ่งสามารถทำได้ทันทีเฉพาะ 3 แปลง ถ้าสำรวจแล้วพบปิโตรเลียมจริง ก็ค่อยมาพิจารณว่ารัฐบาลจะจ้างผลิตเองให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐทั้งหมดก็ได้ หรือ เปิดการแข่งขันราคาประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตโดยให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐก็ได้ และยังสามารถแก้ไขโจทย์ที่กระทรวงพลังงานบอกว่าต้องรีบเพราะจะเกิดวิกฤตได้อีกด้วย

ส่วน 26 แปลงที่เหลือที่กระทรวงพลังงานบอกว่ามีศักยภาพน้อย จึงไม่ต้องรีบเพราะไม่ตอบโจทย์การแก้วิฤตด้านพลังงาน และสามารถรอการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม ฯลฯ ให้เสร็จสิ้นก่อนได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐได้จริงเสียก่อน

ถ้าทำเช่นนี้ก็จะตอบโจทย์ของกระทรวงพลังงานทั้งข้อ 1 และ 4 เรื่องข้อจำกัดของเวลาและความเร่งรีบได้

5. กระทรวงพลังงาน แย้งว่าตามที่ภาคประชาชนเสนอ ข้อ 4 ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายฉบับปัจจุบันรองรับ และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียม ต้องมีความรอบคอบ รัดกุม จึงไม่ควรเร่งรีบ แต่ในขณะเดียวกัน การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ต้องเร่งรีบเพราะเป็นวิกฤต

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน : เมื่อกฎหมายฉบับเก่าใช้ไม่ได้ตามข้อเสนอในข้อ 4 แต่ถ้าเร่งรีบถึงขนาดนั้น แปลว่ากระทรวงพลังงาน กำลังบอกว่าเป็นวิกฤตของความมั่นคงทางพลังงานของชาติที่ร้ายแรง รัฐบาลสามารถตราพระราชกำหนดในการจ้างสำรวจ 3 แปลงในทะเลได้ทันที ด้วยเหตุผลเพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานของชาติได้ในเวลาวิกฤต

6. กระทรวงพลังงาน แย้งว่าตามที่ภาคประชาชน เสนอ ข้อ 5 ทำไม่ได้ เพราะการตราพระราชกำหนดเช่นนี้จะทำให้ผู้ลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล

คำถามและตรรกะจากภาคประชาชน: ตกลงต้องเลือกเอาในเวลาที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นวิกฤติพลังงาน ว่าต้องการความมั่นคงทางพลังงานของชาติและผลประโยชน์สูงสุดของชาติ หรือยึดประโยชน์ความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนเป็นหลักสำคัญกว่ากันแน่?

ในเวลาตอนนี้ยังไม่มีการลงทุนสำรวจหรือขุดเจาะจากเอกชนในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 รัฐบาลจึงมีสิทธิ์กำหนด เปลี่ยนแปลง แก้ไขได้ จะเสียความเชื่อมั่นได้อย่างไร และบทพิสูจน์ได้ปรากฏว่าการเลื่อนสัมปทานรอบที่ 21 ก็เลื่อนมาหลายครั้งในรอบ 2 - 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ผู้ยื่นข้อเสนอก็ยังกลับเข้ามาทุกครั้งตามผลประโยชน์ที่เขาคาดหวัง จึงไม่สูญเสียความเชื่อมั่นอย่างที่กล่าวอ้าง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยืนอยู่บนฐานของผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐจริง จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร?


กำลังโหลดความคิดเห็น