ASTVผู้จัดการ - “ธีระชัย” เสนอ “บิ๊กตู่” เปลี่ยนมาเป็นการพูดคุยกลุ่มเล็กแทนอภิปรายพลังงาน โดยให้นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะแทน ม.ล.ปนัดดา ชี้รูปแบบเดิมใช้มาหลายเวทีแล้ว ระบุหากไม่พร้อมแนะเลื่อนไปอีกหนึ่งสัปดาห์ เผยพรุ่งนี้เข้าถกกับปนัดดาก่อนสรุป “หม่อมกร” ระบุเปิดให้พื้นที่ประชาชนเข้าฟังน้อยเกินไป แนะเลื่อนเปิดสัมปทานหลังแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้เสร็จก่อน ยันประเทศไม่เสียหาย
วันนี้ (18 ก.พ.) ที่โรงแรมดุสิตธานี กลุ่มคณะบุคคลสำคัญผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตราชการ และนักวิชาการ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดร.นพ สัตยาศัย ประธานชมรมวิศวะ จุฬาฯ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย (วศ.รปปท.) น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งร่วมลงนามในหนังสือเปิดผนึกเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เรียกร้องให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปอย่างน้อย 2 ปี และเร่งให้เกิดการว่าจ้างสำรวจศักยภาพปิโตรเลียม พร้อมแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐได้รับผลตอบแทนแบบแบ่งปันผลิตปิโตรเลียมจากปัจจุบันที่สิทธิในปิโตรเลียมเป็นของผู้ที่ได้รับสัมปทาน ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องข้อเสนอถึงรัฐบาลต่อการประชุมสัมปทานปิโตรเลียมในวันศุกร์ (20 ก.พ.)
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ประชุมหารือร่วมกันในวันนี้เพื่อเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบการจัดเวทีกลางทำความเข้าใจการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 จากรูปแบบเวทีโต้วาทีเป็นการพูดคุยกลุ่มเล็ก โดยเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เป็นประธาน แทน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถหาทางออกร่วมกัน แทนการอภิปรายข้อมูลพลังงานเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในหลายเวทีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ขอให้ภาคประชาชนกำหนดบุคคลที่จะเข้าร่วมในการหารือกับรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเอง เพราะขณะนี้มีรายชื่อของบุคคลที่ไม่เคยร่วมในการเคลื่อนไหวมาเป็นตัวแทนภาคประชาชน และขอให้รัฐบาลเชิญนายอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย เพราะนายอภิสิทธิ์มีข้อมูลเรื่องสัปทานปิโตรเลียมเป็นอย่างดี
นายธีระชัยกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเวทีในครั้งนี้ได้ทันวันศุกร์นี้ ควรเลื่อนการจัดรับฟังความเห็นออกไปก่อน 1 สัปดาห์ ส่วนเวทีหารือวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องรอฟังผลการการหารือร่วมกับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ในวันพรุ่งนี้ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานเพื่อขอเข้าพบถึงการจัดรูปแบบเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว
ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีสัดส่วนของผู้เข้ารับฟังทั้งหมด 300 ที่นั่ง แต่มีตัวแทนจากภาคประชาชนที่จะเข้ารับฟังเพียง 20 ที่นั่งเท่านั้น นับว่าเป็นสัดส่วนน้อยมาก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตามหวังว่ารัฐบาลจะรับฟังข้อเสนอในการปรับรูปแบบการหารือให้เหมาะสมต่อไป
ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับจุดยืนของคณะบุคคลเห็นว่า รัฐบาลควรชะลอการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีปิโตรเลียมก่อน หากใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะทำให้การร่างกฎหมายใหม่ใช้เวลาเพียง 6 เดือนซึ่งจะไม่กระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมในอนาคต