xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ยื่นค้านสัมปทานพลังงานรอบ 21 อีก 16 ก.พ. จี้ “บิ๊กตู่” ยกเลิก ชี้ไม่โปร่งใส ทำใช้ของแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคประชาชนเตรียมยื่นชื่อคัดค้านเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพิ่ม 16 ก.พ.นี้ ชี้ส่อสูญอธิปไตย ขัดรัฐธรรมนูญ ทำชาวบ้านใช้ของแพง ขาดความโปร่งใส แถมเสียโอกาสปฏิรูป โวย “ประยุทธ์” ทำเฉย จี้ยกเลิก ด้านอดีต ส.ว.สมุทรสงครามลั่นประชาชนควรได้ปกป้องสิทธิ “ปานเทพ” วอนชาวไทยลงชื่อค้าน ห่วงสูญโอกาสยาว 39 ปี

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฯ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้านพลังงาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 20 ม.ค. ที่เครือข่ายภาคประชาชนได้เข้าชื่อยื่นหนังสือให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ต่อ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื้อหาคือสนันบสนุนให้ดำเนินการตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติทีมีมติ 130 ต่อ 79 เสียง คือ ไม่เห็นด้วยต่อการเปิดสัมปทานน้ำมันรอบที่ 21 ของคณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน เนื่องด้วยเห็นว่าระบบสัมปทานทำให้ผลประโยชน์ทางด้านพลังงานของไทยตกเป็นของบริษัทข้ามชาติและต่างชาติ ในส่วนของประชาชนนั้นในส่วนของค่าภาคหลวง ภาษีที่ว่าด้วยระบบไทยแลนด์ทรีพลัส ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2514 ไม่ได้มีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านราคาพลังงานเลย อาทิ มาตรการที่เพิ่มราคาก๊าซหุงต้ม ปัจจุบันราคา 24 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาก๊าซหุงต้มถังละ 400-450 บาทต่อถัง ก๊าซเอ็นจีวีมีการปรับขึ้น 1 บาท ส่งผลให้รถเมล์ต้องปรับขึ้น หลายสิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบบสัมปทาน รัฐบาลไม่สามารถต่อรองหรือเสนออะไรภายใต้ระบบนี้ได้เลย อีกทั้งอาจยังมีสัญญาผูกพันตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2514 ต่อไปอีก 39 ปี ทำให้ประเทศไทยอาจขาดโอกาสด้านการปฏิรูปพลังงานไปอีกเป็นเวลานาน

“เครือข่ายภาคประชาชนจึงมีข้อเรียกร้องให้ช่วยยับยั้งสัมปทานรอบที่ 21 ด้วยเหตุผลดังนี้ ทำให้สูญเสียอธิปไตย ดินแดนพื้นที่ทับซ้อนไทยและกัมพูชา ขัดรัฐธรรมนูญและกติกาสากลที่ทรัพยากรควรเป็นกรรมสิทธิของประชาชน ผลตอบแทนของรัฐต่ำ ทำให้ประชาชนให้ก๊าซและน้ำมันในราคาแพง ขาดความโปร่งใสในการตรวจวัดปริมาณขุดเจาะ บริษัทสัมปทานส่วนใหญ่จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมนซึ่งเป็นที่ฟอกเงิน ถือเป็นคอร์รัปชันเชิงนโยบาย” นายอิฐบูรณ์กล่าว

นายอิฐบูรณ์กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวภาคประชาชนได้ยื่นเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทราบเรื่อง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับโดยลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด ซึ่งกระทรวงพลังงานประกาศว่าจะให้เอกชนสิ้นสุดยื่นขอสำรวจสัปมทาน รอบที่ 21 ภายในวันที่ 18 ก.พ.นี้ โดยทางภาคประชาชนจึงจะรวบรวมรายชื่อเพิ่มเติมอีก 3,000 รายชื่อ พร้อมข้อเรียกร้องอื่นๆ อาทิ ให้ ปตท.คืนท่อก๊าซให้ครบ คืนพื้นที่ 84 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ได้ขุดเจาะ ก่อนเปิดสัมปทานรอบใหม่ ยกเลิกมาตรการที่อุ้มปิโตรเคมี ลดราคาก็าซแอลพีจี เอ็นจีวี ลงทันที 2-4 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนั้นขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ยกเลิกสิ่งที่เกี่ยวกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ที่ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 16 ก.พ. เวลา 10.00 น. โดยประชาชนที่ยังไม่ได้ลงชื่อสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มร่วมลงชื่อคัดค้านได้ที่เพจ “ยกเลิกสัมปทานรอบที่ 21”

ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า วันที่ 18 ก.พ.ที่จะมีการพิจารณาเรื่องเปิดสัมปทาน ไม่ว่าขณะนี้เราจะอยู่ภายใต้กฎหมายอัยการศึก แต่ประชาชนควรจะได้ปกป้องสิทธิของตนเอง เพราะพรบ.ปิโตรเลียม 2514 คือกฎหมายทาส ปัจจุบันราคาน้ำมันทั่วโลกลดลงมามาก แต่ด้วยกฏหมายนี้ทำให้เรายังใช้น้ำมันราคาแพงอยู่ จาก 100 เหรียญต่อบาร์เรล ลดลงมาแต่ประเทศไทยกลับลดไปแค่นิดเดียว จึงเป็นกระบวนการที่ไม่เคยเป็นธรรม จึงอยากให้รัฐบาลและหัวหน้าคสช.ทบทวนให้ดีก่อนเปิดสัมปทานรอบใหม่

ขณะที่ พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี กล่าวว่า การเปิดสัมปทานรอบใหม่มีข้อเสียหลายเรื่อง อาทิอาจเกิดลัดขั้นตอนผิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 23 เรื่องการทำสัญญากับต่างประเทศต้องผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อน หรือจะเป็นระบบตรวจสอบการรั่วไหลหรือการขุดเจาะไม่สามารถตรวจสอบได้ ไร้ความโปร่งใส ต่างจากบริษัทปิโตรนาส ของประเทศมาเลเซียที่ใช้ระบบแบ่งผันผลผลิต ที่สามารถตรวจสอบการใช้พลังงาน การขุดเจาะ การรั่วไหลของพลังงานที่ดีกว่า

ทางด้าน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แนวร่วมกลุ่มปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน กล่าวว่า อยากเชิญให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของประวัติศาสตร์ในการปกป้องด้านพลังงานของประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาศทางด้านพลังงานไปอีก 39 ปี ซ้ำยังมีข้อสงสัยที่ยังตอบโจทย์ไม่ได้อีกหลายข้อ อาทิ การเปิดสัมปทานรอบที่21 ไม่สามารถตอบโจทย์ประโยชน์ของประชาชน ไม่สามารถตอบโจทย์ค่าตอบแทนที่รัฐบาลควรจะได้ ไม่ตอบโจทย์ความโปร่งใสในการขุดเจาะ การรั่วไหลของพลังงาน ไม่ตอบโจทย์การแข่งขันทางเสรีดด้านพลังงาน รวมไปถึงความโปร่งใสของการเปิดสัมปทานที่คนไทยไม่เคยได้รับรู้เท่าที่ควร

“ดังนั้นจึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำตามวาจาสัตย์ ที่ให้ไว้กับประชาชนในวันที่ 28 ต.ค. 2557 ว่าจะทำตามมติของที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จึงจะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชน” นายปานเทพกล่าว











กำลังโหลดความคิดเห็น