xs
xsm
sm
md
lg

ชง ครม.ไฟเขียว ใช้ ม.17 พ.ร.บ. คนเข้าเมืองให้ต่างด้าวใช้บัตรผ่านแดนเข้าทำงาน ศก.พิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงาน เสนอ ครม. เพิ่ม ม.17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ใช้ ม.14 ของ พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว จัดการต่างด้าวพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ - ลดขาดแคลนแรงงาน
แฟ้มภาพ
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ รร.เจ้าพระยาปาร์ค นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาวิชาการด้านแรงงาน เรื่องการบริหารจัดการด้านแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ใน 11 จังหวัด และจะมีการนำร่องใน 6 จังหวัด คือ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จ.มุกดาหาร จ.ตราด จ.สงขลา และ จ.หนองคาย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้เกิดขึ้นก่อนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 แต่ยังมีจุดขัดข้องที่ยังไม่สามารถเปิดได้

นายนคร กล่าวอีกว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต้องมีมาตรการจูงใจและสิทธิประโยชน์ที่ดี เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนมากขึ้น รวมไปถึงการนำมาตรา 14 ว่าด้วยการทำงานตามฤดูกาลและและการทำงานเช้าไปเย็นกลับ แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาใช้ในการดูแลการเดินทางเข้ามาทำงานของคนต่างด้าว ควบคู่กับการใช้ มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในการให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยภายใต้เงื่อนไขใดๆ หรือมีข้อยกเว้นด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานเคยเสนอขอใช้มาตรา 14 พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว ให้ ครม. พิจารณาแต่ถูกตีกลับให้ไปพิจารณาคำจำกัดความของเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งจากการหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้ตกลงว่าจะให้แรงงานต่างด้าวใช้บัตรผ่านแดน (บอร์เดอร์พาส) ในการขอใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ในการทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และเราต้องดูแลแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีเพื่อป้องกันการทะลักของแรงงานเข้าสู่เขตเมือง โดยจะให้ที่ตากเป็นต้นแบบ
 
ด้าน นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีปัญหาเรื่องของราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นถึง 10 เท่า เช่น จากเดิมไร่ละ 3 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท ทำให้นักลงทุนซื้อที่ดินได้ยาก ทางผู้ว่าราการจังหวัดจึงแก้ปัญหาโดยจัดหาพื้นที่ป่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อให้นักลงทุนเช่าเพื่อทำธุรกิจ ซึ่งธุรกิจใน จ.ตาก ร้อยละ 80 เดิมเป็นธุรกิจสิ่งทอและที่จะเกิดขึ้นเมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจคือเกษตรต่อยอด เช่น ข้าวโพด ยางพารา โดยธุรกิจเหล่านี้ต้องการแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือเข้ามาทำงาน โดยเชื่อว่าแนวทางที่กระทรวงแรงงานเสนอต่อ ครม. ให้ใช้มาตรา 17  ให้แรงงานที่มีบัตรผ่านแดนสามารถเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องมใช้หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนเข้าออกของแรงงานในพื้นที่ชายแดน

ทั้งนี้ จ.ตาก เป็นจังหวัดชายแดนจึงมีการขยายตัวอยู่แล้ว แม้ไม่ได้ตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในปี 2556 ตากมีมูลค่าการค้าชายแดน 5 หมื่นล้านบาท ปี 2557 มีมูลค่า 6 หมื่นล้าน และคาดว่า ในปี 2558 - 2559 หากถนนเชื่อมระหว่างเมืองของพม่าแล้วเสร็จและมีการเปิดเออีซีที่ทำให้มีการขยายตัวของธุรกิจอย่าง การท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ จะมีมูลค่าอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งตนมองว่ากระทรวงแรงงานต้องเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับธุรกิจ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น