รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยนายกฯ ให้ตั้ง กก.ร่วมแก้ปัญหาสัมปทานปิโตรเลียมรวมไม่เกิน 15 คน ทำเรื่องชงตัดสินใจก่อน 16 มี.ค.นี้ คาดสัปดาห์นี้ชัดใครบ้าง ลั่นไม่ได้ปฏิบัติตามพวกค้านทุกกรณี ยังอ้างไม่มีธงเดินหน้า หวังเป็นเวทีท้ายๆ ขู่ “ปานเทพ” ห้ามนำม็อบลุย ยันไม่ยอมให้เริ่มปมขัดแย้งใหม่
วันนี้ (23 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.00 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาหาข้อยุติเกี่ยวกับการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีดำริเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยคาดหวังให้มีคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นที่ยังไม่ลงตัวในการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยนายกฯ ได้มอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้นเรื่องในการทำหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและอำนวยการให้มีการประชุมหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีประมาณ 10 คน ไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วย ตัวแทนกระทรวงพลังงาน กลุ่มผู้เห็นต่าง กลุ่มนักวิชาการ นักกฎหมาย เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกันอย่างครบถ้วน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ตามกรอบภายในวันที่ 16 มี.ค. เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจ โดยในต้นสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจน ส่วนประธานคณะกรรมการจะให้กรรมการคัดเลือกกันเอง โดยจะมีหรือไม่มีถือว่าไม่สำคัญ เพราะไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งนี้ หวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นทางออกที่เหมาะสม รัฐบาลใจกว้างเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายมาโดยตลอด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิบัติตามความคิดเห็นของผู้เห็นต่างในทุกกรณี
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า อยากให้สังคมตระหนักอย่างหนึ่งว่าวันนี้เราพยายามฟังข้อมูลข่าวสารในทุกความคิดเห็น ยืนยันว่าเรามุ่งประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่มีอยู่ในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ความพร้อมในงบประมาณที่จะลงทุนจ้างผลิต ที่หากไม่พบแหล่งพลังงานจะเสียงบประมาณเปล่า และที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการในการจัดสรรพลังงานเป็นอำนาจในการบริหารของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเราไม่มีธงในการจะเดินหน้า ต้องรอข้อสรุปจากคณะกรรมการจริงๆ
เมื่อถามว่า คณะกรรมการชุดนี้ถือเป็นเวทีสุดท้ายเพื่อให้ได้คำตอบว่าจะดำเนินการสัมปทานรอบนี้อย่างไรหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คงไม่กล้าที่จะตอบแบบนั้น ก็อยากให้เป็นเวทีท้ายๆ เพื่อให้ได้ความชัดเจนออกมา เพราะที่ผ่านมามีเวทีในลักษณะนี้ ถ้าเราคุยกันไม่มีวันจบสิ้นก็ไม่สามารถหาทางออกได้ว่าจะทำอย่างไร ถ้าต่างฝ่ายต่างคิดว่าแนวทางของตนเป็นแนวทางที่ถูกต้อง โดยที่ไม่ฟังเหตุผลของคนอื่นก็ไปลำบาก รัฐบาลพร้อมฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว แต่อยากให้พูดกันด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริงไม่ใช่ความรู้สึกหรืออารมณ์
เมื่อถามต่อว่า นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ออกมาระบุว่าหากมีการเปิดสัมปทานเมื่อใดก็จะนำมวลชนออกมาคัดค้านทันที พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คงไม่ได้ เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาบ้านเรามีปัญหาความขัดแย้งซึ่งเกิดจากความคิดที่ต่างกัน แต่ก็สามารถเสนอข้อมูลเหตุผลและอธิบายความกันได้ เหมือนที่เราจัดเวทีวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ ยอมรับในเหตุผล แต่ถ้าคิดว่าไม่เป็นไปตามอย่างที่ตัวเองตั้งใจแล้วจะเคลื่อนไหวชุมนุมก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ซึ่งรัฐบาลคงยอมไม่ได้ ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมารัฐบาลและ คสช.พยายามบริหารจัดการเรื่องราวต่างๆ อย่างแนบเนียนที่สุดโดยใช้ทั้งเหตุและผลควบคู่กัน พยายามทำความเข้าใจกับทุกกลุ่มมาโดยตลอด เรื่องเล็กเราก็อะลุ้มอล่วย เรื่องที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งบานปลายในวันหน้าคงไม่สามารถยอมรับได้ ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย และเชื่อว่าสื่อมวลชนและประชาชนจะเข้าใจในความลำบากในการบริหารงานของ คสช.และรัฐบาล