“รสนา” พบข้อมูลเก่าปี 2555 ปลัด ก.พลังงาน ระบุก๊าซในอ่าวไทยจะหมดใน 18 ปี ขณะที่ ก.พลังงานปัจจุบันอ้างจะหมดในอีก 7 ปี งงใครมั่วข้อมูล เหน็บหรือวิธีคิดเรื่องความมั่นคงทางพลังงานขึ้นอยู่กับการให้สัมปทานเอกชน ฉะรีบร้อนเปิดสัมปทานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ หรือเพื่อประโยชนฺของใครกันแน่?
วันนี้ (24 ก.พ.) เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ตั้งประเด็นสงสัย “กระทรวงพลังงานมั่วตัวเลขเรื่องก๊าซหมดใน7ปี หรือไม่?” ตามข้อความดังนี้
“กระทรวงพลังงานอ้างว่าก๊าซจะหมดในอีก 7 ปี เพื่อบีบให้รีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 โดยไม่ต้องแก้ไข พ.ร.บ ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ใช้มาแล้ว 44 ปี และมีมาตราจำนวนมากที่ล้าหลัง ล้าสมัยทำให้ประเทศและประชาชนเสียเปรียบเอกชนต่างชาติ
ในการคุย 2 ฝ่ายเมื่อบ่ายวันที่ 20 ก.พ. 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาลระหว่างกระทรวงพลังงานฝ่ายเชียร์ให้เดินหน้าสัมปทานรอบ 21 กับฝ่ายประชาชนที่เห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายก่อนให้สิทธิเอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในการคุยนั้นกระทรวงพลังงานยอมรับว่าแหล่งก๊าซ 2 แหล่งใหญ่คือบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565, 2566 คืออีก 7 - 8 ปีนั้น “ทั้งสองแหล่งยังมีปริมาณก๊าซสำรองเหลืออยู่” จึงต้องแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อให้สามารถใช้ระบบอื่นนอกจากระบบสัมปทาน เช่น การจ้างผลิต หรืองระบบแบ่งปันผลผลิตเพื่อรองรับแหล่งก๊าซที่จะหมดสัมปทานเพื่อให้รัฐสามารถนำใช้ระบบจ้างผลิตมาใช้ในการดำเนินการแทนสัมปทานต่อไป
การกล่าวอ้างว่าก๊าซจะหมดใน 7 ปี ที่ถูกต้องคือสัมปทานหมดอายุ แต่ปริมาณก๊าซสำรองยังเหลืออยู่ แหล่งปิโตรเลียม 2แหล่งใหญ่ จะกลับมาเป็นของประเทศอีกครั้ง ซึ่งสมควรยินดี มากกว่าสร้างความตกอกตกใจว่าก๊าซจะหมดเพื่อบีบให้รัฐบาลรีบตัดสินใจเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบ 21 โดยไม่แก้ไขกฎหมายที่เราเสียเปรียบก่อน การรีบร้อนเปิดสัมปทานก็เพื่อให้บริษัทเอกชนได้สัมปทานแหล่งใหม่ไปชดเชยแหล่งเก่าที่จะหมดอายุนั่นเอง
ที่ตั้งคำถามว่ากระทรวงพลังงานมั่วข้อมูลหรือไม่? เรื่องก๊าซจะหมดในอีก 7 ปีนั้น เพราะไปอ่านพบข่าวเก่าเมื่อ3ปีที่แล้ว (26 ก.ค 2555) ที่ปลัดกระทรวงพลังงานในขณะนั้นคือ นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ให้ข้อมูลในงานสัมนาของสถาบันวิทยาการพลังงานว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดใน 18 ปี และประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้มากขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของกระทรวงพลังงานปัจจุบันกับข้อมูลของกระทรวงพลังงานเมื่อ 3 ปีก่อน พบว่ามีความแตกต่างเป็นเท่าตัวเกี่ยวกับจำนวนปีของก๊าซในอ่าวไทยที่เหลืออยู่
จึงมีคำถามเรื่องความเที่ยงตรงของข้อมูลที่มาจากกระทรวงพลังงาน รวมทั้งวิธีคิดเรื่องความมั่นคงทางพลังงานว่าขึ้นอยู่กับการให้สัมปทานเอกชนนั้นจริงหรือไม่?
หรือว่าเป็นการใช้ข้อมูลมั่วเพื่อสร้างความกลัวให้สังคมจะได้หลับหูหลับตายินยอมให้รัฐบาลให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบ21ที่ผูกพันประเทศชาติไปอีก 39 ปี โดยไม่มีโอกาสแก้ไขข้อเสียเปรียบในกฎหมายปิโตรเลียม ส่วนประชาชนคนไทยยังคงต้องใช้ราคาก๊าซ ราคาน้ำมันในราคาตลาดโลกต่อไปอีกด้วย
การเร่งรีบให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ที่อ้างว่าไม่มีเวลาให้ไตร่ตรองอะไรอีกนั้น ที่กำหนดวันนับหนึ่งในวันที่ 16 มีนาคม 2558 และจะพิจารณามอบสัมปทานให้บริษัทที่เสนอตัวเข้ามาให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 4 - 6 เดือนนั้น คือพิธีกรรมผ่องถ่ายสมบัติชาติให้บริษัทเอกชน ใช่หรือไม่?
ควรหรือไม่ที่รัฐบาลจากการรัฐประหารจะเป็นผู้ทำหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินของชาติให้บริษัทเอกชนต่างชาติ โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ขายหน้าต่างชาติ?
ต้องถามว่าการรีบร้อนเช่นนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน หรือเพื่อประโยชนฺของใครกันแน่?”
สำหรับข้อมูลที่น.ส.รสนา ยกมากล่าวอ้างติดตามอ่านได้ตามนี้ >>ห่วงก๊าซธรรมชาติหมดอ่าวไทยใน 18 ปีแนะรัฐบาลเร่งส่งเสริมพลังงานทดแทน