xs
xsm
sm
md
lg

จับตา คน ปชป.-กปปส.หนุนเวทีสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เฟซบุ๊ค นายอรรถวิชช์  สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ กทม.  ที่โพสต์เป็นห่วงรูปแบบการเปิดเวทีจะเป็นในลักษณะการโต้วาที ระหว่างภาครัฐ-กับภาคประชาชน ปชช.
จับตา “คนประชาธิปัตย์-กปปส.” หนุนเวทีสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โฆษก กปปส.ย้ำเรื่องพลังงานเป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องมีการปฏิรูป แต่ กปปส.ก็ไม่มีความชำนาญในเรื่องดังกล่าว ด้าน “อรรถวิชช์” แนะภาครัฐ-ปชช.คุยกันด้วยข้อมูล อย่าใช้อารมณ์ อ้างห่วงรูปแบบโต้วาที

วันนี้ (18 ก.พ.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 20 ก.พ.นี้ว่า การเปิดเวทีดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ก็ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ในเรื่องนี้ กปปส.ถือได้ว่าเป็นคนนอก เพราะจุดยืนของเราเกิดจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การต่อต้านระบอบทักษิณ และการผลักดันให้เกิดการปฏิรูป

“แม้เรื่องพลังงานจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องมีการปฏิรูป แต่เราก็ไม่มีความชำนาญในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราได้เห็นข้อเสนอของภาคประชาชน และภาครัฐก็เข้าใจทั้งสองฝ่าย แต่เห็นว่าข้อเสนอของประชาชนในครั้งนี้มีความน่าสนใจ และสามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งเรื่องการสำรวจก่อนที่จะมีการเปิดให้สัมปทาน และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องพลังงาน”

ดังนั้นในการหารือเวทีดังกล่าวเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรนำข้อมูลมาคุยกันแบบเปิดเผย สู้กันด้วยข้อมูล ไม่ควรใช้อารมณ์ในการพูดคุย และอย่าใส่ร้ายป้ายสี เพราะจะทำให้เป็นอุปสรรคในการปฏิรูปพลังงานครั้งนี้ และหากภาครัฐมีความเห็นอย่างไรก็ควรชี้แจงให้ประชาเข้าใจ

ก่อนหน้านั้น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ กทม. โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องนี้ว่า การเสวนาในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรเข้าร่วมด้วย เพื่อที่จะได้ฟังข้อมูลปัญหา ทั้งนี้ ปัญหาขณะนี้คือรัฐบาลเลือกตัวนำเสนอฝ่ายประชาชนทั้ง 4 คน และระบุชื่อด้วยซึ่งไม่ถูกต้อง ควรให้ฝ่ายประชาชนกำหนดตัวคนผู้นำเสนอเอง นอกจากนี้ รูปแบบการจัดงานก็เหมือนการโต้วาที คล้ายกับเวทีก่อนๆ ซึ่งเราไม่ต้องการถกเถียงกับข้าราชการ แต่เราแค่อยากนำเสนอการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เปิดทางเลือกระบบอื่นๆ ไม่ใช่ล็อกสเปกแค่การให้สัมปทานเท่านั้น

“รัฐบาลจะปฏิรูปพลังงานอย่างไร ถ้าไม่แก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เปิดช่องให้รัฐเลือกทำสัญญากับเอกชนในรูปแบบอื่น นอกจากระบบสัมปทานเดิม เช่น แบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิต “สัมปทานรอบ 21 คือตัววัดความตั้งใจจริงว่ากล้าให้มีทางเลือกอื่นๆ หรือไม่ เพราะต่อไปปี 2565 สัมปทานเก่าแหล่งใหญ่มากจะหมดอายุ

เมื่อต้นสัปดาห์ นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน และอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้ระบุบนทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงกรณีนี้ว่า เป็นการเปิดเวทีกลางเพื่อรับฟังความเห็น และการขยายเวลาการยื่นคำขอสัมปทานออกไป ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในการทบทวนเรื่องสำคัญๆ ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม การปรับหลักเกณฑ์คำขอสัมปทาน และการตัดสินใจอนาคตของแหล่งปิโตรเลียมในทะเล

ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่มีข้อเท็จจริงบางประการที่ขาดหายไปเกี่ยวกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าในอนาคต กระทรวงพลังงานอ้างเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานว่าถ้าไม่เร่งเปิดสัมปทานรอบ 21 จะไม่มีก๊าซธรรมชาติใน 7 ปี ข้างหน้าซึ่งเป็นข้ออ้างที่คลาดเคลื่อน

ทั้งนี้ ฐานข้อมูลของ ปตท.ระบุว่าเราจะมีก๊าซธรรมชาติใช้ได้อีก 20 ปีถ้าไม่มีการสำรวจและผลิตเพิ่มเติม ตัวเลข 20 ปีของ ปตท.กับ 7 ปีต่างกันเกือบ 3 เท่าตัว และยิ่งกว่านั้นความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติใน 7 ปีข้างหน้าจะไม่เพิ่มจากวันนี้เท่าใดนักเพราะกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองขณะนี้เกินอยู่ 25% และจะเป็น 44% ใน 6 ปี” นายอรรถวิชช์ระบุ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงการลงนามคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า ต้องการที่จะสะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้กติการการจัดสรรทรัพยากรยังไม้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน ดังนั้นการที่จะไปเร่งรัดในขณะที่มีข้อท้วงติงก็ไม่น่าจะเหมาะสม ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทางที่ดีควรจะให้ข้อมูลกับทุกฝ่ายและปรึกษาหารือกันมากกว่า ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ดูเหมือนว่าจะยอมรับว่ากระบวนการนี้มีความสำคัญก็คงต้องติดตามต่อว่าจะดำเนินการกันอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น