xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เห็นต้องกลัวเสียหน้า

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

หลังมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายรัฐบาลได้ตัดสินใจเลื่อนการออกสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ไปก่อน โดยยอมจัดเวทีกลางอีกรอบ “เพื่อหาคำตอบ และทางออกให้ประเทศในด้านพลังงานโดยมีเป้าหมายสูงสุด คือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ”

ฟังแล้วดูดี กลุ่มเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนจะได้โอกาสอีกรอบ รัฐบาลอ้างได้ว่าก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้ายนั้นได้มีข้อมูลจากทุกฝ่ายแล้ว

“เวทีถกเรื่องพลังงานกำหนดวันที่ 20 ก.พ. ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอกทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.30 น. การขยายเวลาออกสัมปทานรัฐบาลได้ปรึกษากับกระทรวงพลังงานแล้ว จะขยายเวลาถึงเมื่อไหร่กระทรวงพลังงานจะได้พิจารณาความเหมาะสมและประกาศต่อสาธารณะต่อไป”

เห็นได้ชัดว่าเสียงเรียกร้องและแรงกดดันจากประชาชนในเรื่องการปฏิรูปพลังงาน และเลื่อนการออกสัมปทานนั้นได้ผล หลังจากผู้นำรัฐบาลและกลุ่มตัวแทนภาครัฐพยายามเดินหน้าโดยไม่ฟังใครแม้แต่เสียง สปช.

คงเห็นลางแล้วว่าการดันทุรังต่อไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล รวมทั้งเหตุผลและความชอบธรรมในการกุมอำนาจรัฐ โดยไม่สามารถตอบคำถามจากภาคประชาชนได้ชัดเจนว่าทำไมต้องเร่งรีบออกสัมปทาน

มีผลประโยชน์หรือแรงกดดันจากฝ่ายใด เปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ไม่ได้อย่างนั้นหรือ และเมื่อประเทศจะได้ผลประโยชน์มากกว่าเดิมในการปรับเงื่อนไขออกสัมปทานรอบใหม่ ทั้งต่อสัมปทานเดิม ทำไมไม่ฉวยโอกาส

ทำไมต้องยอมให้บริษัทต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ ปตท.สผ.มีขีดความสามารถในการสำรวจขุดเจาะ และสามารถจ้างบริษัทต่างชาติในการผลิต โดยผลประโยชน์เป็นของคนไทย

การยอมครั้งนี้นายกฯ ประยุทธ์ไม่ควรมองว่าเป็นการเสียหน้า หรือเสียท่าแต่อย่างใดเพราะผู้นำบ้านเมืองที่ดีย่อมมีเหตุผล รู้จักเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพราะแต่ละคนมี 1 เสียง 1 หุ้นของประเทศไทยเท่ากัน

จะเสียเวลามากน้อยเท่าไหร่กันในการฟังเสียงประชาชนเพื่อความรอบคอบและผลประโยชน์ของบ้านเมือง ผู้นำที่ไม่ฟังใคร อนาคตย่อมไม่สดสวยแม้จะมีอำนาจสารพัด ดังเช่นกฎอัยการศึกหรือกฎหมายจำกัดสิทธิอื่นๆ

การเรียกร้องโดยกลุ่มประชาชนถูกเมินเฉยมาโดยตลอด ทั้งยังมีเสียงเยาะเย้ยถากถางจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียมภาครัฐว่าประชาชนเรียกร้องมานั้นไม่มีข้อมูลแท้จริง ไม่รู้เรื่อง เลื่อนการออกสัมปทานจะทำให้เสียหน้า นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในประเทศไทย

เสียงพวกนี้จึงถูกมองว่าเป็นเสียงของนักขายชาติโดยแท้!

ทุกวันนี้ยังมีใครบอกได้ว่าประเทศไทยมีแหล่งน้ำมัน ก๊าซสำรองปริมาณเท่าไหร่และสามารถใช้ได้อีกกี่ปี ผู้รู้ทั้งหลายต่างปิดปากเงียบ เหมือนกลัวว่าถ้าเปิดเผยตัวเลขแล้วประชาชนจะรู้ว่าที่ผ่านมามีขบวนการปิดบังซ่อนเร้นข้อมูล

ท่านผู้นำคงเห็นแล้วว่าถ้าดันทุรังเดินหน้าออกสัมปทานต่อไป อนาคตรัฐบาลมีปัญหาถึงขั้นขยายตัวเป็นวิกฤตและการเผชิญหน้าแน่นอน ประชาชนพร้อมจะต่อสู้แม้ต้องเสี่ยงกับการปราบปรามจับกุมคุมขังโดยกฎอัยการศึก

นอกจากรัฐบาลตอบคำถามเรื่องการเร่งรีบออกสัมปทนานไม่ได้แล้ว ยังอ้างไม่ได้ว่ากลุ่มประชาชนคัดค้านนั้นมีผลประโยชน์ในธุรกิจปิโตรเลียมอย่างไร ไม่มีใครเป็นพ่อค้าน้ำมันหรือก๊าซและหวังจะได้ธุรกิจเกี่ยวโยงกับการค้าน้ำมัน

ที่ผ่านมานั้น ถ้าผู้นำรับฟังข้อมูลโดยตรง เปิดโอกาสให้กลุ่มประชาชนได้พบเพื่อชี้แจงให้ข้อมูลเปรียบเทียบเห็นความแตกต่างระหว่างข้อมูลของภาครัฐหรือนักวิชาการ ส่วนของรัฐบาลและผู้ค้าน้ำมันแล้ว น่าจะตัดสินใจได้ดีกว่า

เสียหายอะไร ถ้าท่านผู้นำจะนั่งฟังกลุ่มประชาชนเพียงครึ่งค่อนวัน อย่างน้อยที่สุดก็แสดงให้เห็นว่าไม่ยึดติดกับฝ่ายใด เมื่อขับดันเรื่องปรองดองด้านการเมืองได้ ทำไมจะนั่งฟังหาทางปรองดองข้อมูลเรื่องปิโตรเลียมไม่ได้

เรื่องปิโตรเลียมเป็นผลประโยชน์ของประเทศ และเป็นตัวชี้ความเป็นความตายของรัฐบาลนี้ด้วย จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม และคงเล็งเห็นเค้าลางความวุ่นวายแน่ จึงได้ยอมเปลี่ยนท่าที อย่างน้อยที่สุดการเลื่อนออกสัมปทานต่อไปย่อมจะมีเหตุผลถ้าข้อมูลภาคประชาชนสามารถรับฟังได้ น่าได้รับการพิสูจน์

กลุ่มผู้เรียกร้องคัดค้านการเลื่อนออกสัมปทานให้มีการปฏิรูป เปลี่ยนเงื่อนไขไม่ใช่พวกไร้ความรู้ หรือรับจ้างสู้แล้วรวย ข้อมูลและคำถามต่างๆ ล้วนแต่จี้จุดสำคัญของกลุ่มผลประโยชน์แฝงเร้นจนอ้างเหตุผลไร้สาระไม่น่าเชื่อถือ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นักบัญชี ได้นำเสนอข้อมูลต่างๆ ทำให้หลายคนจุกอกเพราะตอบคำถามและโต้แย้งไม่ได้ ถูกมองว่าเป็นพวกลวงโลก

เมื่อเลื่อนการออกสัมปทาน อยากรู้ว่ามีใครต้องเสียหน้า นักลงทุนหน้าไหนเสียความเชื่อมั่น บริษัทน้ำมันหอบเงินลงทุนไปแผ่นดินอื่นหรือ ก่อนหน้านั้นยังตอบไม่ได้ว่าทำไมเห็นความสำคัญของนักลงทุนมากกว่าคนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น