“ณรงค์ชัย”ออกโรงตอกย้ำเมินเสียงต้าน”สปช.”เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ย้ำเพื่อรักษาเกียรติยศประเทศ เลื่อนไปกระทบเชื่อมั่น ประเทศเสี่ยงมั่นคงพลังงาน เหตุระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัสเหมาะสุด ส่วนระบบแบ่งปันผลประโยชน์ต้องใช้เวลาปรับกฎหมายใหม่ จะทำให้ไทยดีเลย์การเพิ่มสำรองปิโตรเลียมประเทศ 4-5 ปี หากดีจริงนำไปใช้ในการเปิดรอบหน้า ด้านกรมเชื้อเพลิงฯเตรียมจ้างบ.บัญชีระดับโลกมาเช็คปริมาณผลิต สำรอง ผลประโยชน์จากแหล่งสัมปทานที่ให้ไป เพื่อความโปร่งใส ด้าน “สุวพันธุ์” เผยหากเกิดผลเสียรัฐบาลต้องรับผิดชอบ
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานรอเอกสารที่จะส่งความเห็นและคำแนะนำจากสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีมติ 130 ต่อ 79 คะแนน ไม่เห็นด้วยข้อเสนอคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช.ในการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานยืนยันว่าได้มีการวิเคราะห์แล้วและเห็นว่าระบบสัมปทาน(ไทยแลนด์ทรีพลัส) เป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยในปัจจุบันดังนั้นจึงยังคงเดินหน้าตามกรอบที่กำหนดคือ จะปิดการยื่นขอรับสิทธิ์สำรวจภายใน 18 ก.พ.58 เพื่อรักษาเกียรติยศของประเทศไทย เนื่องจากนโยบายเปลี่ยนแปลงจะทำให้นานาชาติไม่เชื่อถือกระทบต่อความเชื่อมั่นได้
“หน้าที่ของสปช.คือให้คำแนะนำ เราก็จะนำมาดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่กระทรวงพลังงานเป็นผู้ปฏิบัติเราออกประกาศไปก็เพราะว่าเห็นว่าเหมาะสมแล้วเพราะประเทศเราเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ได้มีมากมายระบบสัมปทานจะเอื้อให้คนเสี่ยงมาสำรวจ เพราะถ้าพบปิโตรเลียมน้อยก็จ่ายน้อย พบเยอะก็จ่ายเยอะ ส่วนกรณีมีผู้เสนอระบบแบ่งปันผลประโยชน์หรือ PSC นั้นก็คิดว่าถ้าพบว่าดีจริงก็จะทำได้ในการเปิดรอบหน้า เพราะต้องใช้เวลาแก้ไขกฏหมาย”นายณรงค์ชัยกล่าว
สำหรับแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณ ซึ่งเชฟรอนได้สัมปทานและแหล่งบงกช ที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้รับสัมปทานจะหมดอายุลงปี 2565-66 นั้นกรรมสิทธิ์ทั้งหมดก็จะตกเป็นของรัฐไม่มีการต่ออายุสัมปทานแต่อย่างใด แต่รูปแบบจะมาดำเนินการต่อเพื่อให้มีการผลิตต่อเนื่องนั้น ก็มีหลายรูปแบบเช่น รับจ้างผลิต หรือจะผลิตเอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สรุปแต่จะสรุปแนวทางดำเนินการให้ได้ภายในปีนี้
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หากไทยมีการชะลอหรือยกเลิกการเปิดให้ยื่นสิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะกระทบต่อความเชื่อมั่นและการเปิดสัมปทานครั้งนี้ก็ยืนยันว่าเป็นระบบที่เหมาะสมและผลประโยชน์ก็ไม่ได้น้อยไปกว่า PSC โดยขั้นตอนเอกชนจะยื่นภายใน 18 ก.พ.นี้หลังจากนั้นจะต้องผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอนกว่าจะนำเสนอครม.อนุมัติจะใช้เวลา 6-7 เดือนและเอกชนก็จะต้องไปสำรวจขั้นตอนต่างๆ ก็ใช้เวลา 4 ปีรวมแล้วกว่าจะพบและเริ่มผลิตจะเร็วสุดปี 2562
ทั้งนี้หากเราจะต้องปรับมาเป็นระบบ PSC จะต้องไปทำข้อกฏหมาย ต้องผ่านความเห็นสภาฯซึ่งเฉพาะกฏหมายก็ใช้เวลา 4-5 ปีแล้วจึงจะเริ่มขั้นตอนมาเปิดให้ยื่นได้ซึ่งก็จะช้าออกไปอีกขณะที่ไทยมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นไทยจึงยังไม่พร้อมกับระบบPSC ประกอบกับระบบดังกล่าวเหมาะกับประเทศที่เป็นผู้ผลิตน้ำมัน เพราะมีปิโตรเลียมสูง ต่างกับไทยที่มีสำรองปิโตรเลียมค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามในอนาคตกระทรวงพลังงานก็พิจารณาเรื่องนี้ อาจมีการปรับปรุงข้อกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อม
"สำรองก๊าซฯไทยมีเหลือปีไม่ถึง 10 ปี จึงรอไม่ได้ ผมไม่พร้อมให้ประเทศมีความเสี่ยง อย่างไรก็ตามกระทรวงฯจะพิจารณา องค์ประกอบของคณะกรรมการปิโตรเลียมให้มีความเข้มข้นขึ้นเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับสังคมและรักษาผลกระโยชน์ของประเทศ โดยจะคัดเลือกกรรมการในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจะคัดจากผู้มีประสบการณ์ด้านภาษี กฎหมาย อุตสาหกรรม และมีตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมด้วย”นายอารีพงศ์กล่าว
นอกจากนี้จะมีการปรับรูปแบบการทำบัญชี เพื่อทำการตรวจสอบ เพื่อให้ประโยชน์ตกกับไทยมากขึ้น โดยจะมีการว่าจ้างบริษัทด้านการทำบัญชี 1 ใน 4 ของโลกเข้ามาทำดำเนินการ เพื่อพิจารณาด้านค่าใช้จ่าย หรือกระบวนการใดต้องปรับปรุงบ้าง รวมถึงปริมาณสำรองที่แน่ชัด โดยขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประกาศเชิญชวน(TOR) คาดว่าจะคัดเลือกได้ภายในเดือนนี้
*** ลุ้นดีเซลแตะ25บาท/ลิตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ค้าน้ำมันนำโดยบมจ.ปตท.และบมจ.บางจากปิโตรเลียม ได้แจ้งปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันลงทุกชนิดทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซล 0.60 บาทต่อลิตรยกเว้น E 85 ลดลง 0.20 บาทต่อลิตรมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากค่าการตลาดของผู้ค้าได้ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 บาทต่อลิตรจากระดับราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ ราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพและปริมณฑลใหม่เป็นดังนี้ เบนซิน 95 เป็น 34.36 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เป็น 27.30 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 เป็น 25.98 บาทต่อลิตร E 20เป็น 24.58 บาทต่อลิตร และ E 85 เป็น 21.88 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลเป็น 25.49 บาทต่อลิตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากระดับราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงลดลงต่อเนื่องหากรัฐบาลยังไม่มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในครั้งต่อไปโอกาสที่จะเห็นดีเซลแตะระดับ 25 บาทต่อลิตรก็จะมีสูง
**รัฐบาลยันเดินหน้า-พร้อมรับผิดชอบ
เมื่อวานนี้ (15 ม.ค.) นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว ทางฝ่ายรัฐบาล นำโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะไปหารือกับสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในเวลา 14.30 น. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานต่างๆ รวมทั้ง ข้อขัดแย้ง ระหว่างคณะกรรมาธิการปฎิรูปพลังงาน เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งทางรัฐบาลเห็นว่า การดำเนินการต่างๆ ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ประเด็นในการปฏิรูป และการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ และที่ต้องแยกออกจากกันเนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดิน มีการพิจารณาและวิเคราะห์ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการดำเนินการประเด็นนี้มาเป็นอย่างดี ซึ่งหากจะเกิดผลดีหรือ ผลเสีย ในฐานะรัฐบาล ก็ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแน่นอน
ผู็สื่อข่าวรายงานว่า หลังการหารือ นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมการประสานงานกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) แถลงถึงเรื่องนี้ว่า การลงมติของ สปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ถือเป็นข้อกังวลของสปช.เรื่องหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา สปช. กำลังทำรายงานเตรียมส่งไปยังรัฐบาล แต่ยังไม่ทันได้ส่ง ก็เป็นข่าวแล้ว จึงเปิดช่องทางการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสื่อสารไปถีงนายกฯ และรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆ ก่อน