สมาชิก สปช. หนุนรัฐบาลเปิดเวทีกลางพลังงาน ใช้โอกาสแก้กฎหมายปิโตรเลียมที่ผูกขาดมานานถึง 44 ปี พร้อมเสนอคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและนำเสนอทางเลือกจากบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ด้านรอง หน.ปชป. แนะชะลอสัมปทานออกไปก่อน เตือนถ้าไม่มีการแก้กฎหมาย รัฐเสียเปรียบเอกชน ยันเปิดสัมปทานล่าช้า 1 - 2 ปีไม่เสียหาย เตือนถ้ามีธงแล้วบีบไม่มีใครเห็นด้วย
วันนี้ (15 ก.พ.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตัดสินใจจะจัดเวทีกลางเพื่อหาคำตอบและทางออกให้กับประเทศในด้านพลังงาน โดยจะจัดที่ตึกสันติไมตรี ในช่วงเช้า วันที่ 20 ก.พ. นี้ พร้อมทั้งขยายเวลาการยื่นแสดงเจตจำนงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมออกไปก่อน ว่า ตนเห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาล เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเปิดใจกว้างที่จะรับฟังความเห็นต่าง ซึ่งในความจริงแล้ว ผู้ที่คัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่ว่าจะเป็น สมาชิก สปช. 130 คนที่เป็นเสียงข้างมาก ผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคนทีออกแถลงการณ์วานนี้ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน ล้วนแล้วแต่ได้แสดงทัศนะโดยเริ่มต้นจากความรักและหวงแหนทรัพยากรพลังงานของแผ่นดินเป็นหลัก ไม่มีใครมีผลประโยชน์ส่วนตัวผูกพัน อีกทั้งการตัดสินใจเช่นนี้ ยังสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ติดยึดกับเส้นตายวันที่ 18 ก.พ. ที่มีการพูดกันว่า หากเลื่อนกำหนด จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตได้
นายประสาร ยังเห็นว่า ขณะนี้ราคาพลังงานอยู่ในช่วงขาลง แสดงว่าซัพพลายยังมีมหาศาล ประกอบกับพลังงานทางเลือกจะเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตอีกหลายอย่างที่เข้ามาทดแทนได้ จึงเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะได้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งให้กำเนิดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางพลังงานมายาวนานถึง 44 ปีแล้ว การเปิดเวทีกลางดังกล่าว รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและนำเสนอทางเลือก (Fact Finding) ขึ้นมาชุดหนึ่ง จากบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย มาทำหน้าที่สืบค้นข้อมูล แสวงหาข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน ทั้งเรื่องของแหล่งผลิต ปริมาณที่คาดการณ์ได้ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยรวม รวมทั้งเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่างๆ โดยมีระยะเวลาทำงานประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ได้ข้อสรุปซึ่งเป็นที่ยอมรับได้กว้างที่สุด ถ้าทำเช่นนี้ได้ จะทำให้การตัดสินใจเรื่องใหญ่ครั้งนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชน
ด้าน นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะเปิดเวทีเพื่อหารือถึงการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในวันที่ 20 ก.พ. ว่า ตนอยากให้ชะลอสัมปทานออกไป และขอให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา อาทิ พื้นที่ขุดเจาะ ต้นทุนก๊าซ ต้นทุนราคาน้ำมันที่หน้าโรงกลั่น ข้อมูลต้นทุนปากหลุม เสียก่อน เพราะในขณะนี้ประชาชนไม่ได้ไว้ใจในกระทรวงพลังงาน และไม่ไว้ใจในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เนื่องจากที่ผ่านมานั้นมีการบิดเบือนและปิดบังข้อมูลบางอย่าง ถ้าหากไม่เริ่มเปิดเผยข้อเท็จจริง ความไม่ไว้ใจของประชาชนก็คงอยู่ต่อไป การเปิดเวทีรับฟังความเห็น หากเป็นความพยายามที่จะต้องการจะฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ก็สมควรจะทำ แต่ถ้าหากเปิดเวทีไปเพียงเพื่อต้องการแสดงว่าตัวเองได้ฟังเสียงประชาชนแล้ว แต่ก็ยังมีธงของตนเอง แล้วเดินไปตามธงนั้นอยู่ ก็อย่าจัดเวทีเลยเพราะจะเป็นการเสียเวลาเปล่า
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่า ถ้าไม่มีการแก้กฎหมายก่อนการเปิดสัมปทานนั้น ก็จะทำให้ประเทศเป็นเสียเปรียบต่อบริษัทเอกชนที่เข้ามารับสัมปทาน กฎหมายปิโตรเลียมที่มีอยู่นั้นไม่ได้ให้ทางเลือกกับรัฐบาลในการเจรจา ถ้าไม่แก้ในส่วนนี้ก็จะทำให้รัฐบาลเสียเปรียบเช่นกัน เมื่อสอบถามต่อว่าคาดว่าเวทีที่จะจัดในวันที่ 20 นี้ คาดว่าจะมีความวุ่นวายเหมือนเวทีปฏิรูปพลังงานรอบ 2 หรือไม่ นายเกียรติ กล่าวว่า ตนไม่อยากเดาในเรื่องนี้ แต่ถ้าหากทำด้วยความตั้งใจจริงหรือไม่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากว่ามีธงอยู่แล้ว และพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนเห็นด้วยกับคุณ คงต้องบอกไว้เลยว่าคงจะไม่มีใครเห็นด้วย
“ก็ต้องถามว่าทำไมต้องรีบผลักดัน การเปิดสัมปทานช้าไป 1 ปี หรือ 2 ปี ไม่ได้สร้างความเสียหายให้ประเทศ และจะทำให้ทำได้อย่างรอบคอบ กำหนดกติกาเพื่อเอื้อให้ทำการเจรจาได้ ถ้าหากจะดันผลักดันอยู่ต่อไป ก็จะสร้างความสับสันให้กับสังคมว่าทำไมต้องรีบ มีผลประโยชน์อะไรหรือไม่ ถึงต้องรีบขนาดนี้” นายเกียรติ กล่าว