ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“เรื่องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า มีปัญหาเพียงอย่างเดียวคือ เกษตรกรมีรายได้น้อย เพราะราคาผลิตผลลดลง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง ส่วนปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คือราคาสินค้าเกษตร เพราะมีการสั่งซื้อน้อยลง มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้มีการอุดหนุนอย่างเต็มที่แล้วหลายเรื่อง เพื่อให้ประชาชนได้มีเงินใช้สอยอย่างอื่น และหากสถานการณ์หรือการค้าขายของประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นไปด้วย”
เป็นความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างเป็นประธานฯ คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา
นำมาสู่คำสั่ง ให้ไปหาแนวทางให้มี “การล้างหนี้เกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ” หลังจากนายกรัฐมนตรีไปรับปากเกษตกรกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว
เรื่องปลดหนี้นี้ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เคยมีมติ ครม. “ปลดหนี้เกษตรกรทั่วประเทศที่ "เสียชีวิต-พิการ" จนประกอบอาชีพไม่ได้”หรือรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา ก็เคยมีมติ “พักหนี้เกษตรกรรายย่อย-ล้างหนี้ คนจนที่มียอดหนี้ ไม่เกินกว่า 5 แสน”
ขณะที่มีรายงานว่า ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ.รับหลักการ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอให้มี “การล้างหนี้เกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ” โดยมีเงื่อนไขต้องเข้ากับหลักเกณฑ์การล้างหนี้ของกระทรวง
เป็นหนี้จากในส่วนของกองทุนหรือเงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ และจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีผู้ที่เข้าข่ายที่จะได้รับการยกเว้นหนี้จำนวน 26,742 ราย และองค์กรเกษตรกรอีก 1,082 แห่ง รวมเป็นวงเงินจำนวน 4,556 ล้านบาท
มีการระบุถึง รายงานของกระทรวงเกษตร ฯที่ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ว่าเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร โดยการจำหน่ายหนี้สูญให้กับหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ภายใต้กองทุน/เงินทุน กำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ และหนี้สินในโครงการส่งเสริม หรือสงเคราะห์ของรัฐ ทั้งนี้มีเงื่อนไขการจำหน่ายหนี้สูญ ให้กับลูกหนี้ที่เข้าข่ายพิจารณาข้อใดข้อหนึ่งจาก 10 ข้อ ได้แก่
1.กรณีโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ
2.กรณีประสบภัยพิบัติธรรมชาติ
3.กรณีเผชิญปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
4.หนี้ขาดอายุความ
5.หนี้ค้างชำระระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป
6.หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินเพื่อดำเนินการบังคับคดีได้
7.เกษตรกรผู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งที่อยู่
8.เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
9.ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อยไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และ
10.หนี้ที่มีการกู้ยืมเงินต่ำกว่า 10,000 บาท
ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบ ครม.ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดและแนวทางการแก้ปัญหา และให้รายงานความคืบหน้าต่อ ครม.ทุกๆ ไตรมาส
ขณะ ที่กระทรวงการคลัง มีความเห็นว่านอกจากการแก้ปัญหาหนี้สินของกองทุนฯเกษตรกรแล้ว ควรปรับประสิทธิภาพกองทุนฯและกองทุนหมุนเวียนต่างๆ ที่มีทรัพย์สินหมุนเวียนกว่า 3 ล้านล้านบาท เพื่อให้เป็นกลไกในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เห็นว่าการดำเนินการตามโครงการนี้การพิจารณาตัดหนี้สูญ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอให้ ครม.พิจารณา ขยายเวลาการดำเนินการตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 ออกไปอีก 18 เดือน โดยใช้จ่ายเงินจากโครงการที่คงเหลือทางบัญชี กว่า 945 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดการขยายระยะเวลาแล้ว หากมีเงินเหลือให้นำไปดำเนินการในด้านอื่นๆ ต่อไป
ส่วนวงเงินที่ได้รับการจัดสรรสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรตามมติ ครม.ตั้งแต่ปี 2553 มีวงเงินเหลืออยู่ 2,387 พันล้านบาท ทางสตง.ได้ตรวจสอบแล้วว่าจะต้องนำส่งคืนคลังตามขั้นตอนต่อไป หากรัฐบาลมีโครงการที่จะต้องขอเบิกจ่ายงบประมาณในจำนวนดังกล่าว เช่น โครงการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร ให้ดำเนินการขอใช้จากงบกลางฯตามขั้นตอน
เรื่องการ “ปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร”เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ปีกลาย พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี เคยมีคำสั่งให้กระทรวงการคลัง ไปศึกษาการพักหนี้ชาวนา และเร่งลงทะเบียนชาวนาหาแนวทางแก้หนี้สิน
“รัฐบาลได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง ไปเร่งดำเนินการศึกษาแนวทางการพักหนี้ชาวนาได้อย่างไรบ้าง เบื้องต้นจะให้ชาวนามาลงทะเบียน เนื่องจากปัจจุบันชาวนามีหนี้สินทั้งในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) และสถาบันการเงินพาณิชย์อื่นๆซึ่งการลงทะเบียนเพื่อนำไปสู่แนวทางการพักหนี้ได้อย่างไร”
เรื่องนี้ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลรองนายกรัฐมนตรี” และ “นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์” ได้เตรียมนโยบายที่จะช่วยปลดหนี้หรือล้างหนี้ให้กับเกษตรกรที่ติดอยู่ในสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน โดยจะนำร่องจากหนี้ในส่วนของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีอยู่ประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท
ตอนนั้นมีข่าวว่า จะเร่งล้างหนี้เป็นของขวัญปีใหม่
โดยเฉพาะเรื่องของการตั้ง “กองทุนแก้หนี้แก้สินให้ชาวนา ชาวสวนชาวไร่” ทั้งหลายที่กำลังทำรายละเอียดกันอย่างเข้มข้น ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สอดคล้องกับ เกษตรกรที่เสนอให้รัฐบาล ใช้อำนาจพิเศษแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร ลดหนี้ให้เกษตรกรที่มีอายุเกิน 60 ปี พัฒนาเกษตรกรให้เหลือชำระเงินต้น ร้อยละ 50 เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหลานเกษตรกรมีโอกาสลงทุน ไม่ใช่การชำระหนี้ต่อจากพ่อแม่ และจัดงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูอาชีพผ่านองค์กรเกษตรกร
จากข้อมูลเก่าของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2554/2555 ระบุถึงสถานการณ์หนี้สินชาวนา
พบว่า เกษตรกรทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 5.9 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 24 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 78 หรือประมาณ 19 ล้านคน มีปัญหาภาระหนี้สิน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2551 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 107,230 บาท ส่วนเกษตรกรที่มีอาชีพรับจ้างในภาคเกษตร มีหนี้สินเฉลี่ย 62,995 บาท ในขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ปี 2554 เกษต
รกรมีหนี้สินเฉลี่ย 76,697 บาท
ประเมินภาพรวมหนี้สินเกษตรกรของทั้งประเทศ อยู่ที่ประมาณ 4.5-7.5 แสนล้านบาท
มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจำนวน 5,946,932 ราย ขึ้นทะเบียนขอให้กองทุนฟื้นฟูซื้อหนี้เพื่อรักษาที่ดิน 490,653 ราย จำนวนเงินหนี้ 76,285 ล้านบาท จนถึงปี 2555 มีเกษตรกร 20,451 ราย ได้รับการซื้อหนี้แล้ว ในวงเงิน 4,107 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 4 ของเกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือ
ในส่วนเกษตรกรสมาชิก กองทุนฟื้นฟูฯ หากแบ่งสถานะหนี้เป็น 6 ประเภทคือ 1) หนี้ปกติ 2)หนี้ผิดนัดค้างชำระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงและค่าปรับ 3)หนี้ถูกส่งฟ้องดำเนินคดี 4)หนี้ถูกบังคับคดีขายที่ดินทอดตลาด 5)หนี้รอการขายที่ดินทอดตลาด และ 6)หนี้ที่เจ้าหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย มีสัดส่วนหนี้ปกติต่อหนี้ที่มีปัญหา 60:40 (ปี 2555)
ข้อมูลจาก รายงานวิจัยความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน เขมรัฐ เถลิงศรี ธีรสุวรรณจักร 2557 รายงานวิจัยภาวะหนี้สินกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร อารีวรรณ คูสันเทียะ เมธี สิงห์สู่ถ้ำ 2557 เอกสารแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ชาวนาทั้งระบบ ตอนหนึ่ง ระบุว่า
พบว่า ในจังหวัดชัยนาท ชาวนามีหนี้ในระบบ 445,635 บาท และมีหนี้นอกระบบ 52,966 บาท เห็นได้ว่าชาวนาพึ่งแหล่งเงินกู้ในระบบมากกว่าแหล่งเงินกู้นอกระบบ ในสัดส่วน 89 :11 และหากเปรียบเทียบหนี้สินของชาวนากับรายได้ต่อเดือน จะพบว่าชาวนามีหนี้สินมากกว่ารายได้ถึง 29 เท่า ในขณะที่ชาวนาจังหวัดอยุธยามีสัดส่วนหนี้สินมากกว่ารายได้สูงที่สุดคือ 45 เท่า
จากข้อมูลของ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนทั้งหมด 501,880 ราย โดยเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกลุ่มใหญ่สุดจำนวน 283,432 ราย มีหนี้กับ ธ.ก.ส. และมีโอกาสสูญเสียที่ดิน
ปีที่แล้ว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนองนโยบาย คสช. เดินหน้าแก้ไขหนี้นอกระบบ สั่งเตรียมเงินหมื่นล้านปลดหนี้ ตั้งเป้าผ่อนยาวนาน 20 ปี
“ธ.ก.ส.จะยืดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบ จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 12 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุดไม่เกิน 20 ปี โดยจำนวนปีที่เพิ่มขึ้นอีก 8 ปี จะโยกไปอยู่ที่กองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน นอกจากนี้ ธ.ก.ส.จะเปิดกว้างให้แก่ลูกหลานของเกษตรกรที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ หากเป็นหนี้นอกระบบก็สามารถเข้าโครงการดังกล่าวได้ด้วย เพราะกฎหมายปัจจุบัน เปิดทางให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อหรือให้บริการแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรได้ด้วย”
มติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการลดภาษีนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรในภาคการเกษตร เช่น รถไถ รถหว่าน เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ และเกษตรกรได้มีผลกำไรมากขึ้น รวมถึงสั่งการให้ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยหมัก ส่งเสริมการแจกจ่าย หรือส่งเสริมเมล็ดพันธุ์พืช และให้มีการจัดวิทยากร หรือปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้แก่เกษตรกรในการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรด้วย
“นอกจากนี้ ยังสั่งการให้กองทัพ โดยเฉพาะกรมการทหารช่างที่มีอุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามาช่วยเกษตรกรทำการเกษตรด้วยการลงไปพัฒนาพื้นที่ และขอให้กระทรวงกลาโหมจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือการซ่อมแซมบำรุง หรือจัดซื้อเครื่องมือเครื่องจักรของกรมการทหารช่างที่ชำรุดทรุดโทรม”