xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรพะเยาฮือร้อง “ประยุทธ์” จี้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ก่อนหมดโครงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พะเยา - เครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูจังหวัดพะเยา กว่า 100 คน ร้องนายกฯ ผ่านจังหวัด ขอเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรด่วน ก่อนถึงกำหนดสิ้นสุดโครงการ 2 มีนาฯนี้

วันนี้ (16 ม.ค.) นายจุลพงษ์ นาคเนตร รองประธานเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรในจังหวัดพะเยา กว่า100 คน ได้เดินทางมาที่หน้าศาลากลางจังหวัดพะเยา เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา

ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 หลังจากกลุ่มเกษตรกรได้รับความเดือนร้อน เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ล่าช้า และจะหมดระยะเวลาขนายโครงการในเดือน มี.ค.58 ซึ่งอาจจะทำให้เกษตรกรเสียสิทธิเข้าร่วมโครงการฯได้

นายจุลพงษ์ กล่าวว่า เกษตรกรพะเยา ที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกว่า 1,024 ราย ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ 265 ราย และที่เหลืออีก 639 ราย ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับความเดือนร้อน เพราะความล่าล่าช้าของสถาบันการเงินที่รับผิดชอบ แม้ ครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ย.56 ได้มติขยายเวลาโครงการแล้ว แต่ก็จะหมดเวลาลงในวันที่ 2 มี.ค.ที่จะถึงนี้

นายจุลพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรได้ร้องไปยัง ธ.ก.ส.หลายครั้งแล้ว ก็ไม่มีความคืบหน้า ทางเครือข่ายฯ จึงขอร้องผ่านทางจังหวัดไปยังนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบ ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่รับผิด โดยเฉพาะสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง ให้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.58 นี้ และหากจังหวัดไม่มีความคืบหน้าแจ้งให้แก่ตัวแทนทราบ ทางเครือข่ายก็จะต้องยกระดับขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาต่อไป

ต่อมา นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่ารากชารจังหวัดพะเยา ได้มอบหมายให้ นายพรเทพ ผ่องศรี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพะเยา เข้ารับเรื่องร้องเรียนแทน พร้อมระบุว่า จะประสานกับทาง ธ.ก.ส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา และจะแจ้งให้ตัวแทนเกษตรกรทราบต่อไป ก่อนที่กลุ่มเครือข่ายฯ จะแยกย้ายกันเดินทางกลับในเวลาต่อมา

สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร 510,000 รายทั่วประเทศ ต่อสถาบันการเงิน 4 แห่ง ประกอบด้วย ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยมีหลักเกณฑ์คือ ให้พักชำระหนี้ 50 เปอร์เซ็นต์ และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ ส่วนเงินต้นที่เหลือร้อยละ 50 ให้ชำระคืนภายใน 15 ปี

ต่อมา ครม.มีมติ 3 ก.ย.56 ขยายระยะเวลาไปอีก 18 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดเวลาในวันที่ 2 มี.ค.58 นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น