นครปฐม - สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 7 อำเภอ ในนครปฐมกว่า 200 คน รวมตัวเข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ นครปฐม ให้หัวหน้าคณะ คสช.แก้ปัญหากรณีการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร หลังทำให้เกษตรที่เป็นสมาชิกได้รับความเดือดร้อนจนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน รวมทั้งการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรล้มเหลว
วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดนครปฐม นายอนันต์ ประดิษฐ์ศร ประธานอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดนครปฐม พร้อมอนุกรรมการ นำสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ทั้ง 7 อำเภอ จังหวัดนครปฐม กว่า 200 คน เข้ายื่นหนังสือข้อเท็จจริงปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดนครปฐม ต่อ นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นตัวแทนของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดนครปฐม เสนอให้หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการแก้ไขปัญหากองทุนฯ
นายอนันต์ ประดิษฐ์ศร ประธานอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า เนื่องจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้เคยนำเสนอปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรไปยัง คสช. โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อ้างว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญในการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นมาจากกรรมการออกระเบียบที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
รวมทั้งเกิดจากการแทรกแซงของฝ่ายคณะกรรมการฯ และไม่สามารถบรรจุพนักงานให้สอดคล้องต่องาน อันเป็นข้อกล่าวหา และข้ออ้างที่ขัดต่อความเป็นจริง ทั้งที่จริงแล้วปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่เป็นฝ่ายปฏิบัติไม่ปฏิบัติตามระเบียบ มติของคณะกรรมการต่างๆ หรือปฏิบัตินอกระเบียบ ซึ่งที่ผ่านมา ทำให้เกษตรที่เป็นสมาชิกได้รับความเดือดร้อนจนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน รวมทั้งการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรล้มเหลว
ทั้งนี้ เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ทั้ง 7 อำเภอ จังหวัดนครปฐม ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทำหน้าที่เป็นองค์กรเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ภาคการเกษตรของรัฐ โอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของเกษตรกรจากทุกสถาบันการเงิน สถาบันเกษตรกร มาไว้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แล้วจัดการตามอำนาจที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.กองทุนฯ
2.ให้นำข้อเสนอในผลการวิจัยเพื่อการปฏิรูปกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหารแล้ว มาเป็นแนวทางหลักในการปฏิรูปกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
3.ให้นำยุทธศาสตร์กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้วมาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงาน
4.ให้เร่งประชุมคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตาม มติของคณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร เพื่อทำหน้าที่ที่คณะกรรมการมอบหมายไว้ เนื่องจากเชื่อว่าระเบียบและมติของคณะกรรมการทุกคณะเพียงพอที่จะใช้ในการบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต่อไป