ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักลงทุนไทยจับมือนักธุรกิจจีน ทุ่มงบกว่า 4 หมื่นล้านบาท ผุด “โครงการไทยทาวน์” พร้อมให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ศึกษาความเป็นไปได้นำสินค้าสมาชิกกองทุนฯ จากไทยบุกตลาดจีน หวังปูทางให้เกษตรกรไทยเปลี่ยนบทบาทจากแค่ผู้ผลิตมาเป็นผู้ค้ารายย่อย
ปัจจุบัน ภาคธุรกิจท่องเที่ยวกำลังได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย ทั้งจากหน่วยงานของภาครัฐบาล และเอกชนในประเทศ รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ควรจะมีการกระจายความหลากหลายของลู่ทางที่สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยให้มากขึ้น จึงถือว่าเป็นภาคธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งทางการเงิน และทางสังคมแก่ประเทศไทยและจีน
“จึงก่อให้เกิดแนวคิดที่จะทำโครงการขุนเขาแห่งความสุขจีน-ไทย หรือไทยทาวน์ ขึ้น โดยมาจากการแลกเปลี่ยนแนวทางด้านธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและจีน จนเกิดการผสมผสานแนวธุรกิจต่างๆ เข้าด้วยกันในหลายๆ ด้าน เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าสินค้าทั่วไประหว่างประเทศ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนสรุปเป็นแนวทางออกมาในรูปแบบของธุรกิจผสมผสานขนาดใหญ่” นายศุภดณ โฉมมงคล นักธุรกิจเลือดใหม่ มีแนวคิดไม่เหมือนใคร เล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการ ไทยทาวน์
นายศุภดณ โฉมมงคล กรรมการบริหารบริษัทการลงทุนการท่องเที่ยวสวนสนุกจีน-ไทย กว่างซี จำกัด 1 ในเจ้าของโครงการขุนเขาแห่งความสุขจีน-ไทย หรือไทยทาวน์ เผยว่า คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร เป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีหน้าที่ผลิตอย่างเดียว ทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ลงมือปลูกพืชผักก็ต้องไปกู้เงินมาลงทุน ทั้งในระบบและนอกระบบ พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวนำไปขายให้แก่พ่อค้าคนกลางราคาก็ตกต่ำ เงินแทบจะไม่เหลือไว้ทำทุนในปีต่อไป ทำให้เกษตรกรอยู่กันอย่างลำบาก
จึงทำให้มีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประกอบกับในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกประสบปัญหา ไม่เว้นแม้แต่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แต่ยังมีธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ยังอยู่ได้ จึงได้แนวคิดที่จะนำเอาทั้ง 2 อย่างมารวมกัน จึงเกิดโครงการ ขุนเขาแห่งความสุขจีน-ไทย โดยจะนำเอาธุรกิจท่องเที่ยวมาผสมผสานกับการค้าขายสินค้าไทย ซึ่งโดยปกติแล้วผลผลิตทางการเกษตรของไทยเกือบทุกตัวเป็นที่ต้องการของคนจีน ซึ่งปัจจุบันก็มีการติดต่อค้ากันอยู่
ภายในโครงการไทยทาวน์ จะประกอบด้วย ด้านท่องเที่ยว โดยจะมีส่วนจัดแสดงของสวนสัตว์ ตลาดน้ำ 4 ภาคซึ่งเป็นการนำสินค้า ศิลปวัฒนธรรมไทยทั้ง 4 ภาคมาจัดแสดง การแสดงโชว์สาวประเภทสอง การแสดงโชว์มวยไทย วัดไทย และโรงแรม ซึ่งถือว่าเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยและจีน ผสมผสานหลายแนวธุรกิจไว้ด้วยกัน แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งยังไม่เคยมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศใดมาก่อน
นายศุภดณ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลท้องถิ่น โดยให้ใช้พื้นที่ตั้งโครงการที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ของจีน ปัจจุบัน กำลังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วในหลายๆ ด้าน ใกล้สนามบิน มีถนนมอเตอร์เวย์ตัดผ่าน พร้อมทั้งรถไฟความเร็วสูง หนานหนิง-กุ้ยหลิน และห่างจากท่าเรือเพียง 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเมืองที่มีแนวโน้มการขยายตัวภาคธุรกิจต่างๆ มากขึ้น
“คาดหวังว่าอยากให้ทางรัฐบาลไทยให้การสนับสนุน เนื่องจากโครงการนี้ด้วยความตั้งใจอาจจะสงวนให้คนไทยได้เป็นผู้ค้ารายย่อย แทนที่จะเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว ซึ่งจะมีคนไทยเดินทางไปทำงาน และร่วมธุรกิจเป็นจำนวนมากประมาณกว่า 2,000 คน โดยให้การสนับสนุนและส่งเสริมการนำเข้าสินค้าประเภทต่างๆ จากไทย โดยทางโครงการจะจัดแบ่งพื้นที่สำหรับขายของ ทั้งหมด 1,500 บูท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ไทยได้ปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ทั้งจากขายปลีก และขายส่งสินค้าไทย”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้เชิญคณะของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดย นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นำผู้บริหารของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการขุนเขาแห่งความสุขจีน-ไทย ที่เมือง หนานหนิง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ไปจำหน่ายในโครงการไทยทาวน์ด้วย
นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวว่า นอกจากการแก้ปัญหาหนี้ของเกษตรกรแล้ว การฟื้นฟูอาชีพอย่างยั่งยืนก็ถือว่าเป็นการยกระดับภารกิจของกองทุนฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการหารือร่วมกับภาคเอกชน และส่วนราชการของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงแล้ว ได้มองเห็นอนาคตของการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าว และจะมีการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อรายงานต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูฯ ก้าวนี้เป็นก้าวเล็กๆ แต่จะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ต่อไป
สำหรับโครงการนี้ถือเป็นประตูเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยได้เป็นผู้ค้า โดยมองว่าเป็นโครงการที่มีอนาคต และคิดว่าสามารถทำได้จริง และการเดินทางไปศึกษาลู่ทางในครั้งนี้ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศจีน
“มองว่าโครงการขุนเขาแห่งความสุขจีน-ไทย หรือโครงการไทยทาวน์ เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างนักธุรกิจจีนและไทย โดยผสมผสานระหว่างแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยว การค้าขายสินค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บนเนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่ในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวจะเน้นเรื่องความเป็นไทย เช่น สวนเสือ คาบาเร่ต์โชว์ มวยไทย ตลาดน้ำ 4 ภาค ซึ่งจะมีการจัดสรรพื้นที่ขายสินค้าให้แก่สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว ส่วนหลังร้านคือ การขายส่ง ที่พ่อค้าคนกลางของจีนสามารถมาติดต่อซื้อได้ที่นี่ โดยไม่ได้ต้องเดินทางมาถึงประเทศไทย” นายวัชระพันธุ์ กล่าว
โครงการขุนเขาแห่งความสุขจีน-ไทย หรือไทยทาวน์ บนเนื้อที่ 4,000 ไร่ ตั้งอยู่พื้นที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน โดยการร่วมทุนของ 3 นักธุรกิจไทยจีน งบประมาณลงทุนประมาณ 45,0000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในต้นเดือนมกราคม 2560 นี้ ภายในโครงการประกอบด้วย ด้านการท่องเที่ยว เช่น สวนสัตว์ ที่มีการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เสือโคร่งพันธุ์ต่างๆ กว่า 400 ตัว การแสดงความสามารถของสัตว์นานาชนิด เช่น โชว์เสือ โชว์จระเข้ โชว์ช้าง โชว์หมู แม่เสือเลี้ยงลูกหมู ลูกเสือกินนมแม่หมู นางพญาแมงป่อง ตกจระเข้ ยิง อาหารเสือ ขี่ช้าง ป้อนนมลูกเสือ ถ่ายรูปกับเสือ เทศกาลแกะไข่จระเข้
ตลาดน้ำ 4 ภาค แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ตั้งอยู่บนสายน้ำ นักท่องเที่ยวจะได้เลือกทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ทั้งสินค้าพื้นเมืองพื้นบ้าน และสินค้าแฮนด์เมด หรือจะเป็นการเลือกชิมอาหารมากมายหลากหลายชนิดที่มีขายอยู่บนเรือนไทย และในเรือพาย ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยด้วยการแสดงโชว์สาวประเภทสอง โชว์คาบาเร่ต์ ทีมนักแสดงสาวประเภทสองพร้อมระบบฉาก แสง สี เสียง และเวทีการแสดงโชว์มวยไทย เป็นเวทีมวยไทย ระดับมาตรฐานแห่งแรกของประเทศจีน มีนักมวยทั้งนักมวยไทย และนักมวยสากลจำนวนมากมายขึ้นชก
วัดไทย ศาสนสถานของศาสนาพุทธในประเทศจีน เป็นที่ประกอบศาสนกิจของพุทธศาสนิกชน ซึ่งใช้สำหรับประกอบศาสนพิธีต่างๆ เช่น การเวียนเทียน การสวดมนต์ การทำสมาธิ นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว และสปาไทย และส่วนที่สำคัญคือ บูทจำหน่ายสินค้าภายในโครงการ ซึ่งได้กำหนดไว้ที่ 1,500 บูท ซึ่งจะเน้นให้เป็นการจำหน่ายสินค้าที่มาจากประเทศไทย โดยอยากให้เกษตรกรไทยได้มาจำหน่ายสินค้า โดยสามารถขายได้ทั้งปลีก และส่ง
เปิดปูมเจ้าของไอเดียโปรเจกต์ยักษ์
ถ้าเอ่ยถึง “ศุภดณ โฉมมงคล” น้อยคนที่จะรู้จัก แต่ถ้าหากพูดถึง “สวนเสือศรีราชา” ต้องบอกว่า คนส่วนใหญ่จะรู้จักดีแน่นอน ซึ่ง ศุภดณ คือ หนึ่งในกรรมการบริหารสวนเสือศรีราชา ที่มีส่วนร่วมกันปลุกปั้นก่อร่างสร้างตัวจากศรีราชาฟาร์ม สู่ สวนเสือศรีราชา โดย ศรีราชาฟาร์ม เป็นฟาร์มสุกร ที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของเมืองไทย หลังจากนั้น ก็มีการพัฒนา และกลายเป็นสวนเสือศรีราชาที่ นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศรู้จักเป็นอย่างดี
ศุภดณ เป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 6 คน เขาเกิดและโตจากจังหวัดขอนแก่น แต่เนื่องจากพ่อรับราชการของกรมปศุสัตว์ ทำให้ต้องย้ายตามพ่อไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย จนครั้งหนึ่งพ่อถูกย้ายไปรับตำแหน่งในจังหวัดทางภาคใต้ของไทย จึงต้องย้ายตาม ซึ่งได้ไปทำงานที่สถานีบำรุงสัตว์เทพา ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสถานีวิจัยบำรุงสัตว์เทพา ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา
ต่อจากนั้นก็ย้ายมาทำที่ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จังหวัดนราธิวาส และได้เข้าทำงานครั้งแรกที่โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตร มูโน๊ะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
หลังจากนั้น เกิดการหักเหของชีวิต “วันหนึ่งนั่งคิดแล้วรู้สึกว่าไม่อยากที่จะย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆอยากหยุด และหาอะไรทำที่เป็นของตนเอง” จึงได้ตัดสินใจเดินออกจากอ้อมอกพ่อ มุ่งหน้าสู่จังหวัดชลบุรี โดยมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อำเภอศรีราชา เมื่ออายุ 25 ปี โดยเข้าไปทำงานที่ ศรีราชาฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มสุกรที่ใหญ่ และติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยมี คุณไมตรี เต็มศิริพงษ์ เป็นเจ้าของ
ชีวิตได้ไต่เต้ามาจากการเป็นพนักงานที่ศรีราชาฟาร์ม ด้วยความที่คลุกคลีกับสัตว์มาโดยตลอด เพราะพ่อเป็นปศุสัตว์ ทำให้การทำงานราบรื่น และเป็นที่รักของเจ้านาย หลังจากนั้น บริษัทได้มีการขยับขยายกิจการจากการเลี้ยงสุกรมาเป็นเพาะเลี้ยงจระเข้ และพัฒนาต่อมาเป็นสวนเสือ ศรีราชา จากพนักงานคนหนึ่งในฟาร์ม มาเป็นผู้จัดการ และเจ้าของกิจการร่วมในปัจจุบัน
โดยในช่วงระหว่างปี 2540-2541 ซึ่งถือเป็นช่วงปีแรกของการเปิดดำเนินธุรกิจสวนสัตว์แบบเต็มรูปแบบ สวนเสือศรีราชา มีนักท่องเที่ยวมาเข้าชมมากถึง 900,000 คน ในปีแรกซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร
เป้าหมายสำคัญของสวนเสือศรีราชาในช่วงนั้น คือ การพัฒนาตัวผลผลิตที่มีอยู่เดิมให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เริ่มจากการเพิ่มจำนวนเสือที่เพาะพันธุ์จากเริ่มแรก 2 คู่ เป็น 140 ตัว และมีเป้าหมายการขยายพันธุ์สูงสุดที่ 200 ตัว ส่วนปริมาณจระเข้ ที่มีอยู่จาก 3 พันตัว ได้เพิ่มจำนวนเป็น 2.5-2.8 หมื่นตัวจนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวมากถึง 1,400,000 คนต่อปี
กิจกรรมหลักภายในสวนเสือศรีราชา เป็นการแสดงสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ จระเข้ ช้าง และหมูนับเลข เป็นกิจกรรมสำคัญที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง