xs
xsm
sm
md
lg

“อำนวย ปะติเส” สั่งสอบ “วัชระพันธุ์” เลขาฯ กองทุนเกษตรกร อดีตเด็ก “แม้ว” ใช้เงินไม่โปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรคนปัจจุบัน(ภาพจากแฟ้ม)
รมช.เกษตรฯ สั่งตรวจสอบ “วัชระพันธุ์ จันทรขจร” เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร หลังรับหนังสือจากเกษตรกรร้องบริหารงานผิดวินัยการเงินตามที่ สตง. ได้เข้าติดตามการใช้จ่ายเงินของบอร์ดกองทุนฯ ทุกระดับ พบใช้ผิดวัตถุประสงค์ เผยเคยเป็นทีมยุทธศาสตร์ “ทักษิณ” เป็นสหายใกล้ชิด “หมอมิ้งค์ - เกรียงกมล - คุณหญิง อ.”

วันนี้ (28 ม.ค. 58) ผู้สื่อข่าวรายงานจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ว่า หลังจากเกษตรกรที่เป็นหนี้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในภาคกลางและภาคเหนือกว่า 200 คน ได้เดินทางมายังสำนักงาน กฟก. เขตจตุจักร ในช่วงเช้า และรับปากจะเดินทางกลับภูมิลำเนาหลังจากตกลงกับตัวแทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จะเร่งให้การช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวได้พยายามปักหลักพักแรมด้านหน้าถนนคู่ขนาน หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรอพบและยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่จะมาประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ ที่กระทรวงเกษตรฯ ในวันที่ 29 ม.ค. นี้

โดยกลุ่มฯ เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรกว่า 2 พันล้านบาท โดยมีมูลหนี้ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ได้ขอให้ลดต้นลดดอกร้อยละ 50 รวมทั้งให้ ครม. ยืดเวลาการชำระไปอีก 15 ปี ตามมติ ครม. ปรับโครงสร้างหนี้ 7 เม.ย. 53 และ 19 พ.ค. 57 โดยมีเกษตรกรที่อยู่ในเงื่อนไขกว่า 8 หมื่นราย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในช่วงเย็น นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ ได้เข้าเจรจากับเกษตรกร และรับปากเร่งแก้ปัญหาหนี้สินภายในเดือน ก.พ. เพราะขณะนี้ได้นำเข้าบรรจุวาระการประชุมของ ครม. แล้ว ขณะที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 1 และมณฑลทหารบกที่ 1 ได้แจ้งกับเกษตรกรถึงกฎอัยการศึกที่ยังประกาศใช้อยู่ห้ามการชุมนุมใดๆ จึงทำให้เกษตรกรยอมเดินทางกลับ

รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายอำนวยตรวจสอบการบริหารงานกองทุนฯ ที่ผิดวินัยการเงินตามหนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่ได้เข้าติดตามการใช้จ่ายเงินของคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในทุกระดับ พบว่า มีการใช้เงินกองทุนผิดวัตถุประสงค์ที่จะต้องนำไปฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร แต่กลับนำไปซื้อรถให้กับคณะกรรมการ และจ้างบุคลากรจำนวนมาก

รวมทั้ง สตง. ได้ระบุชัดมีการกระบวนการจงใจทำให้มีการประชุมบ่อยครั้ง เพื่อให้เงินค่าใช้จ่าย เช่น เบี้ยประชุม ค่าเดินทางไกล ซึ่งผลประโยชน์ตกกับคณะกรรมการกองทุนฯ โดย สตง. ได้เสนอต่อ ครม. เพื่อขอเงินฟื้นฟูหนี้ ตามงบเดิมจำนวน 2,399 ล้านบาท ที่อนุมัติจากรัฐบาลชุดที่แล้วกลับคืน และให้ ครม. พิจารณาอนุมัติงบใหม่ รวมทั้งคณะกรรมการกองทุนฯ ในส่วนตัวแทนเกษตรกรหมดวาระลง จะต้องเลือกตั้งกรรมการกองทุนใหม่

นอกจากนี้ นายอำนวย ได้สั่งให้ทำการตรวจสอบการทำงานของนายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คนปัจจุบัน ที่ถูก คสช. เรียกเข้าไปรายงานตัวชุดแรกภายหลังเข้าควบคุมอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 และเป็นคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงคนสนิทสนามกับ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย และอดีตรองเลขานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สำหรับ นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร มีชื่อเล่นว่า “โป๊ะ” ถือเป็นเป็นอีกหนึ่งสหายที่เข้าป่าที่เขตน่าน มีความใกล้ชิดกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ หมอมิ้งค์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งสนิทสนมกับนายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เป็นมือไม้ทำงานให้กับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นนักยุทธศาสตร์ตัวฉกาจคนหนึ่ง มีความสนิทสนมกับอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และยังสนิทสนมกับคุณหญิงอดีตภรรยาของนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง อักษรย่อตัว อ.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นายวัชระพันธุ์ ได้ทำเรื่องมายังกระทรวงเกษตรฯ เสนอปรับโครงสร้างบอร์ดบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนกรรมการมาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงต่างๆ อาทิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงการคลัง รวมถึงตัวแทนจาก คสช. ทั้งนี้ เพื่อปฏิรูปและกันตัวแทนเกษตรกรกลุ่มหลังนี้ออกไป

“เลขา กฟก. ได้ทำหนังสือเพื่อให้หัวหน้า คสช. สั่งการตั้งบอร์ดใหม่ เพื่อจัดการแก้ไขหนี้เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนหนี้ ตั้งแต่ปี 2546 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2556 แล้วกว่า 5 แสนราย มูลค่าหนี้กว่า 7.94 หมื่นล้านบาท และยังเสนอให้กันตัวแทนเกษตรกรออกไป เนื่องจากที่ผ่านมาที่เข้ามานั่งส่วนใหญ่ล้วนมีผลประโยชน์แอบแฝง เนื่องจากคุณสมบัติผู้แทนเปิดโอกาสทุจริต ทั้งหวังมาล้างหนี้ตนเอง/เครือญาติ บ้างก็เรียกเก็บเงินจากเกษตรกร”

มีรายงานด้วยว่า คสช. ได้สั่งการให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรโดยเร็วที่สุด โดยระหว่างนี้ได้มีคำสั่งเห็นชอบให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ และคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการจัดการหนี้ ชุดหมดวาระให้รักษาการไปพลางก่อน เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรสมาชิกได้

ขณะที่ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีความเป็นห่วงผู้มีรายได้น้อย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า จึงให้ทุกกระทรวง ที่เกี่ยวข้องหามาตรการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เช่น การลดภาษีปัจจัยการผลิต หางานสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร โดยอยากให้เป็นมาตรการที่ช่วยเกษตรกรเป็นกลุ่มใหญ่

นอกจากนี้ นายกฯ ได้สั่งใน ครม. ให้ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หาแนวทางพักหนี้เกษตรกรซึ่งมีอยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยให้ไปศึกษาแนวทางการพักหนี้ ข้อดีและข้อเสียของการพักหนี้ โดยให้นำกลับมาเสนอโดยเร็ว เนื่องจากมองว่าหนี้สินที่เกษตรกรมีอยู่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะรายได้ที่เกษตรกรเพิ่มขึ้น จากการช่วยเหลือของรัฐบาล เกษตรกรต้องนำไปใช้หนี้ที่มีอยู่ หากมีการพักหนี้ในส่วนนี้เกษตรกรจะมีกำลังซื้อมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น