รอยเตอร์/เอเอฟพี - วอลล์สตรีททะยานปิดบวกในช่วงท้ายของการซื้อขายเมื่อวันพฤหัสบดี (22 ม.ค.) หลังอีซีบีแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่คาดหมายไว้ ปัจจัยนี้ก็ดันให้ทองคำขยับขึ้น ผิดจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงแรง ท่ามกลางดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและข้อมูลสต๊อกเชื้อเพลิงที่บ่งชี้ถึงอุปสงค์อันอ่อนแอของอเมริกา
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 259.70 จุด (1.48 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,813.98 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 31.03 จุด (1.53 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,063.15 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 82.98 จุด (1.78 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,750.40 จุด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งทะยานตามตลาดอื่นของยุโรป หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)เผยว่าจะดำเนินการเข้าซื้อสินทรัพย์มูลค่า 60,000 ล้านยูโรต่อเดือน ไปจนถึงเดือนกันยายน 2016 มากกว่าที่ตลาดคาดหวัง
อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิเคราะห์เตือนว่าแม้นักลงทุนจะยินดีปรีดาต่อการตัดสินใจของอีซีบี แต่คำถามมากมายเกี่ยวกับความเข้มแข็งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยูโรโซนก็ยังคงอยู่ “หลายคนบอกว่ามาตรการนี้คงจะไม่สามารถพลิกฝ่ามืออย่างทันทีทันใด” จอห์น คานาลลี นักยุทธศาสตร์การลงทุนของแอลพีแอล ไฟแนนเชียลในนิวยอร์ก กล่าว “มันเป็นเส้นทางที่ยาวไกล และนี่เป็นเพียงก้าวย่างแรกเท่านั้น”
ในส่วนของข้อมูลทางเศรษฐกิจอื่นๆ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยว่ายอดผู้ขอเข้ารับสิทธิประโยชน์คนว่างงานในสัปดาห์ล่าสุด ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน แต่ก็ยังถือกว่าน้อยกว่าที่คาด
กระนั้นข่าวลือที่ว่ากูเกิลมีความสนใจเข้าซื้อทวิตเตอร์ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในการควบรวมกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ก็ช่วยกระพือแรงเข้าซื้อมากขึ้น
ความคาดหวังว่ามาตรการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางยุโรปจะช่วยกระตุ้นการเติบโต ส่งผลให้ราคาทองคำเมื่อวันพฤหัสบดี (22 ม.ค.) ปิดบวกพอสมควร แม้ถูกกดดันจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นก็ตาม โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 7.00 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,300.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาน้ำมันวานนี้ (22 ม.ค.) กลับมาดิ่งลงแรงอีกครั้ง จากข้อมูลเชื้อเพลิงสำรองของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นตามหลังอีบีซีลงมือกระตุ้นเศรษฐกิจ
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด ของตลาดนิวยอร์ก งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 1.47 ดอลลาร์ ปิดที่ 46.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 51 เซนต์ ปิดที่ 48.52 ดอลลาร์
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานในวันพฤหัสบดี (22 ม.ค.) ว่าคลังน้ำมันดิบสำรองของชาติผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก เพิ่มขึ้นถึง 10.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ถึง 4 เท่า ทำให้โดยรวมแล้วคลังน้ำมันสำรองของอเมริกา เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 13.3 ระดับที่ไม่เคยพบเห็นในช่วงเวลานี้มานานกว่า 80 ปีเลยทีเดียว