xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 35 คำถามซักฟอก “ปู” ทวงถามความรับผิดชอบจำนำข้าว “พรเพชร” ยันไม่ได้เล่นเกมกลั่นแกล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน สนช. แถลงปฏิเสธเล่นเกมกลั่นแกล้งอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยันเป็นเอกสิทธิ์ไม่ถามตัวผู้แทน หลังเบี้ยวสภาไร้เหตุผล เปิด 35 คำถาม จี้หาความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และชีวิตชาวนาที่สังเวยโครงการจำนำข้าว เชิญ “ปนัดดา” แจงผลสอบข้าว 22 ม.ค.


วันนี้ (16 ม.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงข่าวถึงการดำเนินการถอดถอนในกระบวนการซักถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เนื่องจากวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมมาตอบคำถามจึงทำให้ สนช. ไม่ประสงค์จะถามตัวผู้แทนของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คน โดยให้เหตุผลว่า ในแต่ละคำถามของ สนช. ต้องการถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยตรง และไม่ประสงค์ที่จะถามบุคคลอื่น ซึ่งไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับสามารถบังคับให้ สนช. จะถามหรือไม่ถามก็ได้ เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้แจ้งเหตุผลถึงสาเหตุที่ไม่มาตอบคำถามทั้งที่ สนช.เปิดโอกาสให้มาตอบคำถามถึงช่วงเย็นวันนี้ แต่ฝ่ายผู้แทนก็ไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งตนก็อาศัยหลักนิติธรรมเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเปิดโอกาสให้กรรมาธิการซักถามเปิดเผยคำถามทั้ง 35 คำถาม เพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นำไปใช้ในการแถลงปิดคดี และขอยืนยันว่าเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อถามว่า ถือเป็นการขัดข้อบังคับหรือไม่ เพราะได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนมาชี้แจงแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ นายพรเพชร กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ขัดข้อบังคับ เพราะ สนช. ตั้งคำถามเพื่อถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ถามผู้แทน อีกทั้งข้อบังคับดังกล่าว เปิดช่องไว้เพื่อประสงค์จะให้ถามผู้แทนโยตรง ซึ่งตนขอยืนยันในหลักการว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรจะมาตอบคำถามด้วยตนเอง ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า กระบวนการวันนี้ไม่ได้เป็นการเล่นเกม ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เดินทางมาวันนี้ จะมีผลต่อการลงมติถอดถอนในวันที่ 23 ม.ค. นี้หรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องไปถาม สนช. เอง

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการซักถามของกรรมาธิการต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากในการพิจารณาถอดถอนจากตำแหน่ง ตามคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้ง 35 คำถาม โดย สมาชิก สนช. ผู้ยื่นญัตติซักถามประสงค์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ตอบคำถามด้วยตนเอง ไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นตอบ คือ 1. ในฐานะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ทราบเรื่องความเสี่ยงในการดำเนินโครงการจำนำข้าวและข้อทักท้วง และตัวเลขความเสียหายตามที่ คณะอนุกรรมการปิดบัญชี หนังสื่อจาก ป.ป.ช. และหนังสือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือไม่

2. หากความเสียหายเกิดขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบถึงการคลังประเทศ เหตุใดไม่ยับยั้งหรือแก้ไขปัญหา แต่กลับปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไป น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร

3. สืบเนื่องจาก ป.ป.ช. สตง. ทีดีอาร์ไอ แจ้งความเสียหายในโครงการจำนำข้าว ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาลได้ตระหนักหรือไม่ว่าอยู่ในฐานะสั่งการให้ยุติ ชะลอ หรือทบทวนการดำเนินโครงการได้ทันทีตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การที่ไม่ได้ตัดสินใจชะลอหรือยุติก็เกิดส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ใช่หรือไม่

4. ตามที่ได้กล่าวอ้างว่านโยบายจำนำข้าวมีมาตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนถึงยุคของท่าน รวมเวลาเกือบ 33 ปี คำถามถามว่า ทราบหรือไม่ว่าหลักการรับจำนำข้าวรัฐบาลก่อนหน้านั้นจะรับจำนำข้าวจากเกษตรกรในราคาที่ไม่สูงกว่าราคาตลาดในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีเงินหมุนเวียนและเกษตรกรสามารถไถ่ถอนคืนได้ แต่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งราคาสูงกว่าราคาตลาดร้อยละ 50 จึงเป็นไปไม่ได้ที่เกษตรกรจะกลับมาไถ่ถอนคืน ดังนั้นจึงไม่ถือเป็นการจำนำข้าว แต่เป็นการแทรกแซงตลอด อันเป็นการขัดหลักการค้าสากล และกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ที่นานาประเทศรวมถึงประเทศไทยยึดถือ เท่ากับรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการค้าขายเสียเอง จึงส่งผลกระทบธุรกิจค้าขาย และการส่งออกข้าว

5. โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ดำเนินการ ตามแนวทาง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ซึ่งใช้ในการหาเสียงใช่หรือไม่

6. ขอทราบความหมายของการจำนำข้าวตามเจตนารมณ์ และผลสุดท้ายที่รัฐบาลต้องการ

7. หากโครงการจำนำข้าวเกิดผลเสียหายทำให้ต้องใช้งบประมาณของคนทั้งชาติมาแก้ไขปัญหา ในฐานะผู้นำรัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

8. ทราบหรือไม่ ว่านำตัวเลขคดี ปรส. มาเปรียบเทียบมิได้ เนื่องจาก ปรส. เป็นกรณีที่รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีแอล แต่กรณีจำนำข้าวเป็นโครงการประชานิยม

9. หากในอนาคตได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินนโยบายจำนำข้าวหรือไม่ อย่างไร และจะป้องกันการทุจริตอย่างไร และจะป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

10. เมื่อท่านเป็นรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นนโยบาย ซึ่งราคาดังกล่าวสูงกล่าวราคาตลาดโลก คำถามเหตุใดจึงหาเสียงว่าเป็นการรับจำนำข้าว แทนที่จะบอกว่าเป็นการรับซื้อขายข้าว ท่านมีเจตนาอย่างไร

11. โครงการรับจำนำข้าว เมื่อได้รับข้าวจากที่จำนำแล้ว จำเป็นต้องเก็บในโกดังข้าว คำถามคือโกดังเป็นของรัฐหรือเอกชน และมีวิธีการเก็บข้าวอย่างไร และเจ้าของโกดังได้รับผลประโยชน์อย่างไร

12. รัฐบาลตั้งราคารับจำข้าวในราคาสูง และระบายข้าวให้เฉพาะราย ในราคาต่ำกว่าราคาประกัน จึงไม่มีเกษตรกรไถ่ถอนคืน ซึ่งเป็นการทำลายกลไกราคาข้าวในประเทศ เกิดความเสียหายต่อโรงสีรายย่อย รัฐบาลทำตัวเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ ผู้ประกอบการค้ารายย่อยได้รับผลกระทบ ทำลายกลไกลตลาดการค้าเสรี คำถามคือได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร

13. การกำหนดราคาตันละ 15,000 บาท แต่ราคาในตลาดอยู่แค่ 6,000 - 9,000 บาทต่อตัน จึงขอทราบว่า มีเกษตรกรมาไถ่ถอนข้าวคืนหรือไม่ หากไม่มีกล่าวได้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วเป็นโครงการดังกล่าวเป็นการรับซื้อข้าวจากเกษตรกร

14. ก่อนเริ่มโครงการนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แถลงว่า ถ้ารัฐบาลทำโครงการดังกล่าว แล้วทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับรัฐบาลชุดก่อนใช้ในโครงการประกันรายได้ รัฐบาลเพื่อไทยจะคงอยู่ไม่ได้ แต่ต่อมาปรากฏว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี แถลงว่า การปิดบัญชีทั้งหมด 15 โครงการ มีผลขาดทุน 6.8 แสนล้านบาท สำหรับโครงการรับจำนำข้าวในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ 4 โครงการมีผลขาดทุน 5.1 แสนล้านบาท จึงอยากถามว่า 1. ความเสียหายที่เป็นตัวเลขจากคณะกรรมการปิดบัญชีฯทำให้ต้องนำเงินงบประมาณมาใช้จำนวนมาก ซึ่งมีผลประโยชน์ใดบ้างเกิดขึ้นกับชาวนาอย่างยั่งยืนบ้างหรือไม่ 2. ตามที่ได้ระบุว่า มีการตั้งกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาแก้ปัญหา ผลของคณะกรรมการปรากฏ ความเสียหายหรือไม่ 3. แล้วจะรับผิดชอบอย่างไร

15. การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดคือ 15,000 บาท และข้าวเหนียว 20,000 บาท จึงมีการนำข้าวมาสวมสิทธิ และเวียนเทียนข้าว 1. รัฐบาลทราบปัญหาหรือไม่ และแก้ไขปัญหาอย่างไร 2. มีการสอบสวนและลงโทษหรือไม่ ผลทางคดีเป็นอย่างไร 3. ถ้ามีการดำเนินคดี เหตุใดถึงไม่มีและไม่ลงโทษ

16. โครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดความเสียหาย จนเสียเงินสูญเปล่า เพราะเก็บข้าวไว้นานจนเสื่อมคุณภาพจึงทำให้มูลค่าข้าวลดลงปีละหลายล้านบาท รัฐบาลได้คำถึงผลเสียที่เกิดขึ้นหรือไม่ และมีแนวทางในการป้องกับแก้ไขเพียงใด

17. รัฐบาลทราบตัวเลขการขาดทุน แต่ยังปล่อยให้นโยบายรับจำนำข้าวยังดำเนินการต่อไปจนกระทั่งเกิดความเสียหายต่อระบบการเงิน การคลัง อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะ ถามว่าอดีตนายกฯ ได้แก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของเงินคงคลัง เพื่อนำไปชำระหนี้อย่างไร และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

18. ตั้งแต่ทำโครงการรับจำนำข้าว มีเงินกลับสู่ประชาชนเท่าไหร่ อย่างไร และมีความเสียหายในโครงการนี้เท่าไหร่ หากมีได้กำหนดนโยบายในการหาเงินมาช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และตอนที่อดีตนายกฯ คิดโครงการรับจำนำข้าว และดำเนินโครงการ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ได้วางแผนเพื่อติดตาม ควบคุม และแก้ไขปัญหาหรือไม่ อย่างไร ขอให้แจกแจงในรายละเอียด

19. ยืนยันได้หรือไม่ว่าไม่มีเจตนาทุจริตเชิงผลประโยชน์ทับซ้อน หากทราบว่ามีการทุจริตแล้วได้ดำเนินการอย่างไรในการระงับยับยั้งโครงการ

20. ทราบหรือไม่ว่าจะมีผลประโยชน์ที่สูญเสียจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และได้วางมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อช่วยให้ชาวนาได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่

21. ทราบถึงการรั่วไหลและการทุจริตในขั้นตอนต่างๆหรือไม่ และได้มีการดำเนินการจัดการป้องกันปราบปราม ควบคุม การทุจริตในขั้นตอนการจำนำข้าวทั้งระบบหรือไม่ เหตุใดยังพบการทุจริตอย่างต่อเนื่อง และระหว่างดำเนินการได้มีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินโครงการบ้างหรือไม่ อย่างไร อีกทั้งได้พบข้อบกพร่องของการดำเนินการหรือไม่ และดำเนินการต่อข้อบกพร่องนั้นอย่างไร แก้ไขหรือจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ อย่างไร

22. เมื่อมีการอภิปรายในสภา บ่งบอกว่าผู้ที่มาซื้อข้าวคือผู้ช่วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นภรรยาของนักการเมือง ของพรรคเพื่อไทยที่สังคมรู้จักดี ถามว่าได้มีการสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ ถ้าสั่งการ ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร

23. การที่ท่านกล่าวว่าโครงการจำนำข้าวเป็นการช่วยเหลือชาวนา 14 ล้านครอบครัว แต่จากการสำรวจทีดีอาร์ไอ พบว่า มีเพียง 1 ใน 4 ของชาวนา คือชาวนาระดับปานกลางและระดับดีที่ได้รับประโยชน์ ทำให้ชาวนารายเล็กเกิดความเครียดจนกระทั่งฆ่าตัวตาย ถึง 16 ราย คำถามท่านทราบหรือไม่ และช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร

24. ช่วงที่ดำเนินโครงการ 2 ปีเศษ มีปริมาณข้าวเก็บสะสมเพิ่มขึ้นจนเกิดความเสียหาย ข้าวเสื่อมคุณภาพ ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และประธานโครงการรับจำนำข้าว เหตุใดจึงไม่สั่งการให้เร่งดำเนินการระบายข้าว เพื่อลดความเสียหายอย่างร้ายแรง และเหตุใดจึงไม่ดำเนินการระงับยับยั้ง

25. เหตุใดจึงไม่ระงับยับยั้งหรือไม่หารือคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขโครงการดังกล่าว กระทั่งก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงิน การคลัง อย่างร้ายแรง และเมื่อเกิดความเสียหายแล้ว มีการดำเนินการแก้ไขอย่างไร

26. ช่วงที่รัฐบาลดำเนินโครงการต้องการให้ราคาข้าวสูงกว่าราคาท้องตลาด เพื่อให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด ราคาข้าวกลับตกลงตามลำดับ เมื่อราคาตกลงสะสมมากขึ้น อดีตนายกฯได้กำหนดแนวทางการแก้ไขอย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของอดีตนายกฯหรือผู้ใด

27. เมื่อทราบเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และความเสียหายมาตลอด อดีตนายกฯ ได้มีการสั่งการตรวจสอบ และแก้ไขอย่างไร ขอให้อธิบายอย่างละเอียด

28. ในฐานะนายกฯ ได้กำหนดนโยบายรับจำนำข้าวมาแต่ต้น และในฐานะประธานนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้รับทราบปัญหาของอนุกรรมการปิดบัญชีมาตลอด โดยเฉพาะการรับทราบรายงานว่ามีจุดอ่อนจุดเสี่ยงทุกขั้นตอน สร้างความเสียหายต่อการเงิน เสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ จึงมีการเสนอให้ทบทวนยุติการรับจำนำข้าวในฤดูกาลต่อไป เหตุใดจึงไม่ระงับยับยั้งโครงการจนเกิดความเสียหายมากขึ้นตามลำดับ

29. รับทราบเรื่องการขายข้าวไม่ได้ การเวียนขายข้าวหรือไม่ และมีข้อกังวลใจกับการขายข้าวไม่ได้หรือไม่ ข้อ 30 ในการจำหน่ายข้าวเปลือกจากโครงการรับจำนำข้าว รัฐได้ขายให้ประเทศใดบ้าง มีกี่สัญญา มีการส่งออกราคาเท่าไหร่ ยืนยันได้หรือไม่ว่าขายให้ใคร

31. ทราบหรือไม่ว่าหาก สนช. มีมติถอดถอน จะมีผลต่อสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของท่าน 5 ปี หากทราบเหตุใดยังยืนยันว่าเป็นการตัดสิทธิซ้ำซ้อน

32. ในการแถลงเปิดคดีเมื่อ 9 ม.ค. อดีตนายกฯ ได้ชี้แจงว่า ป.ป.ช. ได้อ้างรายงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ โครงการรับจำนำข้าวสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งระบุว่าเป็นข้อมูลเก่า ถามว่าท่านระบุได้หรือไม่ว่าข้อมูลวิจัยข้อใดเป็นข้อมูลเก่าที่ ป.ป.ช. ยกมากล่าวอ้าง

33. ขอให้ขยายความในส่วนของคำว่ารัฐบาลต่างประเทศที่สนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร มีประเทศใดบ้าง แล้วการดำเนินการของประเทศนั้นๆ ส่งผลขาดทุนเหมือนโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลของท่านหรือไม่ และประเทศดังกล่าวมีการทำวิจัยหรือไม่

34. ทำไมรัฐบาลไม่ทำโครงการลดราคาน้ำมันตามสัญญาประชาคมทั้งที่เป็นนโยบายเดียวกันกับโครงการรับจำนำข้าว และคิดว่านโยบายพรรคกับความรับผิดชอบต่อประเทศสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน

และ 35. เหตุใดจึงไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการป้องกันและระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหาย ส่อว่าเป็นการแสดงเจตนาหรือไม่

จากนั้น นายพีระศักดิ์ พอจิตร รองประธาน สนช. ในฐานะประธานที่ประชุม ได้แจ้งต่อสมาชิกถึงกำหนดวันแถลงปิดคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยวาจา ในวันที่ 22 ม.ค. และจะมีการลงมติถอดถอนในวันที่ 23 ม.ค.

อีกด้านหนึ่งที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวันที่ 16 ม.ค.ได้รับหนังสือเชิญจากประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สนช.ไปให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงผลสอบโครงการจำนำข้าว วันที่ 22 ม.ค.เวลา 08.30 น.ที่ห้องรับรอง 1 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 เรื่องนี้ตนจะนำเรียนนายกฯก่อนเพื่อขออนุญาตในฐานะผู้บังคับบัญชา ส่วนการชี้แจงจะนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เมื่อถามว่า ลำบากใจหรือไม่ ไปชี้แจงในช่วงที่สนช.กำลังพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ม.ล.ปนัดดา ตอบว่า จะระมัดระวัง ตนเป็นข้าราชการประจำ ยันยันไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง



กำลังโหลดความคิดเห็น