xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โวยไม่เหลือตำแหน่งให้ถอดแล้ว สวน ป.ป.ช.ชี้มูลทั้งๆ ที่หลักฐานไม่ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยิ่งลักษณ์” แจง สนช.ถามถอดถอนจำเป็นหรือ โวยไม่เหลือตำแหน่งแล้ว จวกพิจารณาจะกระทบชาวนา ยันบริหารราชการซื่อสัตย์ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ สวน ป.ป.ช.ชี้มูลทั้งๆ ที่พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดว่าเกี่ยวโกง



วันนี้ (9 ม.ค.) ที่รัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อกล่าวหาถอดถอนต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ประเด็นที่สภาฯ แห่งนี้กำลังพิจารณา มีความสำคัญ และจะมีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริหารเศรษฐกิจอย่างรุนแรง กว้างขวาง และลึกซึ้ง ใน 2 ประเด็นดังนี้ อาทิ เกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรม และความจำเป็นในการถอดถอน เพราะในความเป็นจริง ได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเสมือนถูกถอดถอนมาแล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งครั้งแรก โดยผลของการยุบสภา ครั้งที่สองโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และครั้งที่สาม โดยประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“ทั้งหมดมีผลโดยสมบูรณ์แล้ว วันนี้ไม่เหลือตำแหน่งอะไรที่จะถอดถอนอีก หากจะดำเนินการต่อไป ก็ถือเป็นการถอดถอนที่ซ้ำซ้อน เป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองและทางกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมในอนาคตต่อไป การพิจารณาของสภาฯ แห่งนี้จะมีผลกระทบไม่เพียงแต่ต่อตัวดิฉันหรือนักการเมืองทั่วไปเท่านั้น แต่จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวนาซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มีฐานะยากจน และมีความหวังอยู่ที่นโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวกับข้าว และผลิตผลทางการเกษตร ดังนั้น ในการพิจารณาถอดถอนในวันนี้ ก็จะมีผลต่อการจัดทำนโยบายเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวนาในอนาคตต่อไป และอาจจะเท่ากับว่าเป็นการตัดความหวัง และอนาคตของชาวนาไทยไปอีกนาน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ยังยอมรับว่า พยานหลักฐานยังไม่ปรากฎชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริต ขอยืนยันว่าได้บริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างครบถ้วนถูกต้อง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ตลอดจนกฎระเบียบข้อบังคับของทางราชการ และแนวทางการบริหารที่ดีโปร่งใสและเป็นธรรม โครงการรับจำนำข้าว เป็นแนวคิดของพรรคเพื่อไทยที่พัฒนาจนเป็นนโยบายในการหาเสียงหลัก ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากพี่น้องประชาชนด้วยเสียงข้างมากในสภาฯ จึงถือว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นสัญญาประชาคม ที่รัฐบาลของตนมีต่อชาวนาไทยและประชาชนคนไทยทุกคน แนวคิดของนโยบาย มาจากการที่พรรคเข้าใจถึงปัญหาของชาวนา ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เผชิญกับปัญหาความยากจนต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน มีรายได้ที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง และต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานทุกประเภท ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ด้วยราคาข้าวที่ตกต่ำมาตลอด ในขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นทุกปี และชาวนาไทยเองได้รับส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรม

ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้อธิบายเจตนารมณ์ของนโยบายรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลต้องทำตามสัญญาประชาคมที่หาเสียง พร้อมอ้างว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

กรณีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลของตนทำให้ประเทศไทยเสียแชมป์ข้าวโลกว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะการระบายข้าวสารดำเนินการระบายตามราคาตลาดโลก ไม่ได้อ้างอิงราคาข้าวเปลือก จึงไม่เกี่ยวกับโครงการรรับจำนำข้าว แต่เป็นผลจากการทุ่มตลาดของต่างประเทศในเวลาดังกล่าว ข้อพิสูจน์คือ ปี 2557 ไทยกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอีกครั้ง ซึ่งเป็นข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้น

ส่วนข้อกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตทุกขั้นตอนในโครงการรับจำนำข้าวนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอปฏิเสธและขอโต้แย้งว่า การปล่อยให้มีการทุจริตหรือละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย เป็นข้อกล่าวหาที่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง เพราะในการบริหารราชการแผ่นดินได้กำชับไม่ให้มีการทุจริตอย่างเข้มงวด และมีการประชุมในการเปิดโครงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ตนและคณะรัฐมนตรีไม่ได้ละเลยต่อข้อแนะนำของ ป.ป.ช.และ สตง.โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา และได้ให้ติดต่อประสานงานกับ ป.ป.ช.รวมทั้งยังให้เข้มงวดในอีกหลายๆ โครงการ

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ได้มีกลไกการทำงานในทุกระดับไม่ละเลยที่จะมีกลไกในการป้องกันการทุจริตและความเสียหายในทุกขั้นตอน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวว่า กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่เป็นธรรม ไม่มีการตั้งอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และการไต่สวนเร่งรีบรวบรัดเพียง 20 วันเท่านั้น แล้วยังตัดพยานหลักฐานของฝ่ายตนเองออก ขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ยังได้ใช้ข้อมูลของทีดีอาร์ไอซึ่งเป็นข้อมูลเก่ามากล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม รับฟังแต่ทีดีอาร์ไอ และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่การตรวจสอบปกติ ตนพร้อมให้มีการตรวจสอบ แต่ต้องเป็นธรรม ไม่เคยคิดทุจริตหรือคดโกง ต้องมีความยุติธรรม ไม่อย่างนั้นจะปฏิรูปเพื่อความปรองดองได้อย่างไร

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวสรุปว่า แม้ก่อนหน้านี้ ตนจะได้คัดค้านอำนาจการดำเนินคดีโดยเห็นต่างกับสภานิติบัญญัติแห่งนี้ว่า รัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจแก่ สนช. ในการดำเนินคดีถอดถอน แต่ประธานฯ ก็ได้มีข้อวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังเดินทางมาที่ประชุมแห่งนี้ แม้ว่าตนจะมีความเห็นที่แตกต่าง เพื่อให้เห็นว่าในฐานะที่ตนตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา มีความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน เพราะมีความตั้งใจจริง ที่ได้อาสามาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน อยากเห็นเพียงแค่พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ดิฉันขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ดิฉันได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว โดยคำวินิจฉัยที่เป็นที่สุดของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 ซึ่งก็เป็นความแปลกที่ว่าจะให้มีการถอดถอนผู้ที่ไม่มีตำแหน่งได้อย่างไร ไม่อยากเห็นว่า กระบวนการทั้งหมดนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ทั้งโดยข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ถูกยกเลิกไปโดย คสช. จนหมดสิ้นแล้ว การถอดถอนก็ย่อมจะต้องยุติโดยปริยาย แต่หากคิดจะดำเนินการต่อ ดิฉันอยากจะฝากข้อพิจารณาว่า การปฏิรูปทางการเมืองที่รัฐบาลชุดปัจจุบันและสมาชิก สนช. ทุกท่านต้องการเห็น หากมีการดำเนินการที่ไม่มีหลักนิติธรรม ไม่มีกฎหมายรองรับ สังคมจะเห็นว่าไม่ยุติธรรม การปฏิรูปอันจะนำไปสู่ความปรองดองในสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

จากนั้นที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 9 คน เพื่อซักถามประเด็น โดยให้สมาชิกยื่นประเด็นซักถามมาได้ภายในวันที่ 13 ม.ค. และให้ทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงปิดคดีในวันที่ 15 ม.ค. และจะมีการเปิดประชุมเพื่อซักถามในวันที่ 16 ม.ค.

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากรัฐสภาฯแจ้งว่า ก่อนที่นส.ยิ่งลักษณ์ และ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. จะแถลงเปิดคดี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ได้เชิญนส.ยิ่งลักษณ์ นายวิชา ไปหารือนอกรอบเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบเวลาและระเบียบปฏิบัติการชี้แจง โดยการเข้าไปหารือครั้งนี้ใช้เวลาไม่นานนัก จากนั้นทั้งคู่ได้ออกจากห้องประชุมเพื่อมาเตรียมตัวชี้แจงต่อที่ประชุมสนช.





กำลังโหลดความคิดเห็น