xs
xsm
sm
md
lg

“สุขุมพันธุ์” เสนอ มท.ลุยป้ายโฆษณา แฉขบวนการทุจริตกินได้กระทั่งค่าไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กทม.เด้งรับ “สุขุมพันธุ์” เรียกประชุมด่วนเคลียร์ปัญหา “ป้ายโฆษณาดิจิตอลเรืองแสงเถื่อน” เผยกฎหมายล้าหลังชงเรื่องไปมหาดไทย ร่างกฎควบคุมป้ายแอลอีดี ประชาชนร้องเรียนอื้อ “มลพิษทางสายตา” เกรงอันตรายต่อผู้ขับขี่ ชี้ไม่แค่คนใช้รถใช้ถนนเดือดร้อน แต่ชาวบ้านก็เจอด้วย เจอปัญหาหลับไม่ลงเพราะแสงสว่างจ้าทะลุถึงห้องนอน วอน “ศรีวราห์” เดินหน้าคืนความสุขคนเมืองหลวง

กรณีส่วยป้ายโฆษณาจอดิจิตอลเรืองแสง หรือจอแอลอีดี ที่มีอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 2 นาย รวมทั้งระดับ ผกก.อีกไม่ต่ำกว่า 50 โรงพักเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยจนเป็นข่าวครึกโครมมีประชาชนสนใจจำนวนมากนั้น ในส่วนของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลความเรียบร้อยโดยตรงมีรายงานว่าหลังเกิดข่าวแฉโพยกันขึ้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมหาทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนร้องเรียนกันจำนวนมากเนื่องจากเสียสมาธิขณะขับรถ หรือบางรายได้รับความเดือดร้อนจากป้ายโฆษณาจอแอลอีดี เนื่องจากแสงสว่างจ้ารบกวนการหลับนอนด้วย จึงเห็นว่าปัญหาดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นวงกว้างจึงจำเป็นต้องรีบแก้ไข

ข่าวแจ้งว่าที่ประชุมได้หยิบยกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.ป้าย กองผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มาประกอบการพิจารณาพร้อมกับ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ได้ผลสรุปว่าแม้อำนาจและความรับผิดชอบจะขึ้นกับ กทม.แต่ที่ผ่านมาป้ายโฆษณาจอแอลอีดี ในส่วนกิจการของตำรวจไม่เคยมาขออนุญาตจาก กทม.แม้แต่รายเดียว เป็นการใช้อำนาจโดยพลการ ที่ผ่านมา กทม.ก็ทำอะไรไม่ถนัดเพราะเห็นว่าเป็นหน่วยงานราชการ อีกทั้งมีการอ้างถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ได้จากบริษัทเอกชน เช่น ติดตามคนหาย ประกาศจับคนร้าย หรือแจ้งความรถหาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่ผ่านมากลับมีการร้องเรียนของประชาชนเข้ามามากขึ้นจึงสมควรหยิบยกมาแก้ไขอย่างเร่งด่วนจริงจังขั้นตอนต่อจากนี้คือทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงหมาดไทย เพื่อออกกฎกระทรวงจัดการกับป้ายจอแอลอีดีเหล่านี้ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันยังล้าหลังมิได้ครอบคลุมถึงป้ายอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งควรมีการคำนวณค่าแสงสว่างที่ก่อมลพิษทางสายตา และรายละเอียดทางด้านอื่นๆ

สำหรับจุดที่ประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับมลพิษทางสายตามากที่สุดก็คือ ป้อมยามตำรวจตามแยกสำคัญต่างๆ ทุกแยก ถนนพระราม 9 ขาเข้าช่องอาร์ซีเอ สี่แยกปทุมวัน ย่านพระราม 4 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ช่วงเพชรพระราม และด่วนยมราช สามแยกหน้าสนามม้านางเลิ้ง ถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวางตลอดทั้งสาย แยกประตูน้ำ ราชประสงค์หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ย่านถนนอังรีดูนังต์ ติดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย่านบางยี่ขันช่วงสะพานพระปิ่นเกล้า ไปจนถึงถนนปิ่นเกล้าฯ-นครไชยศรี วงเวียนใหญ่ ย่านบุคคโล หรือแม้แต่แยกบางมด เป็นต้น

เกี่ยวกับการทุจริต “ส่วยป้ายโฆษณา” ที่กำลังขยายวงไปยังป้ายไฟอื่นๆ ด้วยเนื่องจากมีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมากทั้งนี้จากข้อมูลการร้องเรียนต่างๆ ที่เข้ามาจะเห็นได้ว่านอกจากป้ายโฆษณาจอแอลอีดี ในส่วนที่ดำเนินการโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล เองแล้วยังมีของเอกชนที่ติดตามอาคารและพื้นที่ต่างๆ ทั่ว กทม.ด้วยที่เป็นตัวการก่อให้เกิดมลพิษทางสายตาแก่ผู้ขับขี่ หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัย ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนเมืองหลวงส่วนใหญ่พบเจอกับตัวเองมาเป็นเวลานาน แต่ไม่เคยมีหน่วยงานใดแก้ไขให้

มีข้อมูลเก่าตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ระบุว่า ทั้ง 50 เขตของเมืองหลวงมีป้ายบิลบอร์ดแบบเก่า และแบบจอแอลอีดี รวมทั้งสิ้น 989 ป้าย ถูกต้องตามกฎหมาย 841 ป้ายและเป็นป้ายเถื่อน 148 ป้าย อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหามลพิษทางสายตาที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน หน่วยงานเกี่ยวข้องโดยกระทรวงมหาดไทย จำเป็นต้องรีบประสานกับ กทม.เร่งออกกฎหมายรองรับให้ทันกับสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วย

สำหรับกรณีส่วยป้ายโฆษณาจอแอลอีดีที่มีตำรวจน้อยใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้นจากการลงพื้นที่หาข้อมูลก็พบว่ายังคงมีป้ายโฆษณาของเอกชนติดตั้งอยู่ตามปกติ และที่หนาแน่มากที่สุดได้แก่พื้นที่ บก.น.1 บก.น.2 บก.น.5 และ บก.น.6 เนื่องจากอยู่ในเขตเศรษฐกิจ ส่วนอัตราค่าใช้จ่ายของบริษัทเอกชนที่จ่ายให้กับตำรวจท้องที่นั้น มีรายงานว่าตำรวจจะได้เงินช่วยค่าไฟป้ายละ 3 พันบาท ท้องที่หนึ่งมีไม่ต่ำกว่า 10 ป้ายเป็นเงินรวมเดือนละ 3 หมื่นบาทเป็นอย่างต่ำ หากโรงพักมีพื้นที่อยู่ชั้นในราคาก็จะแพงขึ้นไปตามค่าเศรษฐกิจด้วย ปัญหาจึงอยู่ที่เงินดังกล่าวในแต่ละ สน.นำไปใช้จ่ายค่าอะไร หรือเข้ากระเป๋าตำรวจคนไหน

อย่างไรก็ตาม เรื่องค่าไฟฟ้าที่นำมาใช้กับระบบจอแอลอีดีนั้น มีรายงานว่าทางการไฟฟ้านครหลวงไม่เคยเรียกเก็บจากตำรวจแม้แต่น้อย เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนหน่วยงานราชการ แต่อนุญาตแค่เพียงให้ใช้ในตู้จราจรตำรวจเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับป้ายโฆษณา จึงเห็นได้ว่ากรณีส่วยป้ายโฆษณาที่มีตำรวจตกเป็นจำเลยสังคมนั้นมีแง่มุมไม่ชอบมาพากลมากมาย

เมื่อ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพรหมณกุล รรท.ผบช.น.หยิบเรื่องนี้มาจัดระเบียบสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่จึงเป็นที่หวังของประชาชนที่ได้รับผลกระทบว่าเมื่อปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขจากองค์กรตำรวจแล้วทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร หรือกระทรวงมหาดไทย จะได้ขับเคลื่อนด้วยความสะดวกใจไม่ต้องพะวงปัญหาลูบหน้าปะจมูก โดยจุดหมายก็คือความถูกต้อง และความผาสุกของสังคมส่วนรวมนั่นเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น