xs
xsm
sm
md
lg

เวทีซักคดีข้าว ห้ามลิ่วล้อ “ปู” ตอบแทน-ป.ป.ช. ชี้ก่อหนี้ชาตินี้ใช้ไม่หมด อย่ามั่วปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช.เปิดเวทีซักคดีจำนำข้าว ป.ป.ช. แจงเตือน รบ.ก่อนแล้วไม่ฟังจนเสียหายหนัก หนี้ทั้งชาติยังใช้ไม่หมด ยันต้องถอดถอน โต้ไม่เคยปัดข้อมูลจำเลย ใช้เวลาไต่สวนนาน รับไม่เคยเจอคดีลำบากเท่านี้ ย้อนตรวจจำนำข้าว ยุคก่อนสุดชุ่ย ใช้คนเดียวตรวจวันเดียว ดักให้ยุติปรองดองผิดวิธี ก่อนชะงัก กมธ.ซักถาม “ปู” โวยเจ้าตัวไม่มาแจง ส่งบริวารล้วงข้อสอบไปแถลงปิดคดี จนต้องถกลับ ก่อนถามต่อห้ามคนอื่นตอบแทน

วันนี้ (16 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน สนช.เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีปล่อยปละเลยไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการจำนำข้าว ในช่วงแรกจะเป็นการซักถามฝ่ายผู้ร้อง คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจำนำข้าวปี 2554 ป.ป.ช.ให้ความสำคัญและดำเนินการกับโครงการจำนำข้าวอย่างไรบ้าง และ ป.ป.ช.ทราบว่าเกิดการทุจริตเมื่อใด มีพยานหลักฐานอะไร และดำเนินการอะไรไปบ้าง เหตุใดเมื่อยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ป.ป.ช.จึงยังคงดำเนินการถอดถอนอยู่

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช.แสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องพืชผลทางการเกษตรมากว่า 10 ปี เพราะเห็นข้อบกพร่องของแต่ละรัฐบาล ไม่ได้เจาะจงเฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยนโยบายจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดช่องการทุจริต จึงให้ทีดีอาร์ไอไปทำวิจัยพบว่าการแทรกแซงราคาข้าวทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด เมื่อ ป.ป.ช.พบว่าโครงการมีปัญหาจึงทำหนังสือเตือนให้ ครม.ทราบว่าไม่ควรดำเนินการโครงการ โดยเตือนถึง 2 ครั้ง แต่รัฐบาลยังนิ่งเฉย ยืนยันจะดำเนินโครงการต่อ จนกระทั่งเกิดปัญหาโครงการจำนำข้าวขึ้นมา เรื่องการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีการทุจริตจำนำข้าวในทุกระดับชั้นทั่วประเทศ ก่อให้เกิดผลร้ายอย่างรุนแรงตามที่เตือนไป ล่าสุดปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็ไปแจ้งความเอาผิดต่อคู่สัญญาโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ข้อหาฉ้อโกง มีความเสียหาย 6.5 หมื่นล้านบาท จึงถึงเวลาสิ้นสุดโครงการจริงๆ เพราะผลเสียมากมายมหาศาล

“ทั้งนี้ ป.ป.ช.ไม่ได้กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ทุจริตโดยตรง แต่มีพฤติการณ์ส่อทุจริต และมีข้อสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เกี่ยวพันกับการทุจริตหรือไม่ ซึ่งการดำเนินคดีอาญา คณะทำงานร่วม ป.ป.ช.กับอัยการสูงสุดได้ข้อยุติแล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วย ซึ่งอัยการสูงสุดกำลังพิจารณาฟ้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเร็วนี้ และแม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว แต่ยังมีอำนาจถอดถอนอยู่ เพราะยังมีโทษถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี”

คณะกรรมาธิการซักถามได้ถามคำถาม ป.ป.ช.เพิ่มเติมว่า เหตุใด ป.ป.ช.ปฏิเสธการขอให้สอบพยานและหลักฐานเพิ่มเติมของผู้ถูกกล่าวหา เหตุใดจึงเร่งรัดลงมติคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และโครงการจำนำข้าวสร้างความเสียหายกระทบระบบการเงิน การคลังประเทศอย่างใด มีตัวเลขอะไรเป็นหลักฐาน รวมถึงการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่าการถอดถอนจะกระทบต่อการปฏิรูปประเทศนั้น ป.ป.ช.มีความเห็นอย่างไร นายวิชาชี้แจงว่า ป.ป.ช.ไม่เคยปฏิเสธข้อมูลของผู้ถูกกล่าวหา ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าได้รับสิทธิใดบ้าง และผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้สิทธิต่างๆ มาตลอด ทั้งการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา การคัดลอกพยานหลักฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อส่งอะไรมาจะต้องรับไว้หรือสอบทั้งหมด เพราะต้องพิจารณาว่า พยานที่ขอมามีความสำคัญ และเกี่ยวพันกับคดีหรือไม่ ถือเป็นเรื่องปกติขององค์กรที่ทำหน้าที่ตุลาการ หรือกึ่งตุลาการ ทั้งนี้ ป.ป.ช.ใช้เวลาไต่สวนคดีนี้ 1 ปี 10 เดือน ไม่ใช่ 21 วัน ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ ตลอดเวลา 1 ปี 10 เดือนเป็นช่วงเวลายากลำบากที่สุดเพราะถูกปิดล้อมสำนักงาน ต้องหอบหิ้วสำนวนคดีติดตัวไปตลอด ป.ป.ช.ไม่เคยเจอคดีใดที่ลำบาก รุนแรงขนาดนี้ จะจดจำไว้ตลอดชีวิต

“โครงการนี้สร้างความเสียหายต่อระบบการเงินและการคลังของประเทศ โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ยืนยันตัวเลขการขาดทุนสะสมของโครงการ ณ วันที่ 31 พ.ค. 56 ว่า ขาดทุน 332,372 ล้านบาท ล่าสุดตัวเลขปิดบัญชีการขาดทุนโครงการจำนำข้าวเมื่อ 22 พ.ค. 57 พบว่าขาดทุนสะสม 5.18 แสนล้านบาท ส่วนระดับหนี้สาธารณะ แม้จะไม่เกินเพดานร้อยละ 60 แต่จากการไต่สวนพบว่า ครม.ตั้งวงเงินดำเนินโครงการ 5 แสนล้านบาท ใช้เงินกู้ ธ.ก.ส.9 หมื่นล้าน และเงินกู้สถาบันการเงิน 4.1 แสนล้านบาท มีภาระดอกเบี้ย เมื่อโครงการขาดทุน รัฐบาลต้องนำเงินไปชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งรองปลัดกระทรวงคลังระบุว่า ภาระหนี้โครงการจำนำข้าว ทำให้มีเงินบริหารราชการแผ่นดินลดลง เพราะรัฐบาลต้องรับผิด ชอบผลขาดทุน และดอกเบี้ยที่ไปกู้มา ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน และการระบายข้าวล่าช้า ทำให้ขาดเงินหมุนเวียนมาใช้ในปีถัดไป ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการคลัง การเงินของประเทศ หนี้สาธารณะ จน รมว.คลังระบุว่า ต้องแบกภาระหนี้โครงการนี้ 30 ปี นอกจากนี้ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนชาวนาที่ร่วมโครงการประกันราคาข้าวสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทราบว่า มีการประกันราคาข้าวที่ 10,000 บาทต่อตัน และใน 1 สัปดาห์ต้องตรวจสอบราคาข้าว และจ่ายชดเชยในส่วนต่าง ซึ่งไม่ใช่การบิดเบือนกลไกตลาด ส่วนโครงการจำนำข้าว เป็นการกำหนดราคาข้าวที่สูงกว่าตลาด ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน เช่น ค่าเช่านา ค่าปุ๋ย ทำให้ชาวนาต้องไปกู้เงินเพิ่ม ในที่สุดเมื่อชาวนาไม่ได้รับค่าข้าว ก็ไม่สามารถไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ ทำให้ชาวนาฆ่าตัวตายไป 10 กว่าราย”

นายวิชากล่าวว่า ขณะที่การตรวจสอบโครงการจำนำข้าวก็มอบให้บุคคลๆคนเดียวไปตรวจสอบ ตรวจสอบภายในวันเดียว ไม่เหมือนกรณีรัฐบาลนี้ที่ตรวจสอบโดยใช้เวลา มีการพิสูจน์ดีเอ็นเอข้าว จนสามารถเอาผิดผู้กระทำผิดได้ชัดเจน การทุจริตโครงการจำนำข้าวต้องยับยั้งตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ปล่อยให้ลุกลามกลายเป็นขบวนการ กระบวนการเหล่านี้ต้องสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรม กลั่นกรองผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมสูงกว่าคนปกติ ไม่ใช่ใครก็มาเป็นได้ ต้องมีหิริโอตตัปปะ คือ การเกรงกลัวและละอายต่อบาป ทั้งนี้ กระบวนการปรองดองกับการนำผู้ทำผิดมาลงโทษมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากนำมารวมกันทำให้กลไกการปรองดองผิดเพี้ยน ในกระบวนการทางการเมืองการพิจารณาคดีต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม กระบวนการก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงขนาดนี้จะชดใช้ทั้งชาติก็คงไม่หมด เพราะเอาภาษีของประชาชนไปละเลงให้เกิดผลประโยชน์ส่วนตน ไหลเข้ากระเป๋าของบุคคล หากจะให้ ป.ป.ช.ยุติก็เป็นการปรองดองผิดวิธี หากจะให้เลิกแล้วต่อกันก็ควรมาทำความจริงให้กระจ่างชัด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีงามในการตรวจสอบคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง จะสร้างทัศนคติที่ถูกต้องแก่ประชาชนในอนาคต

ต่อมาเป็นการซักถามฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่ง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการซักถาม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากการหารือกับกรรมาธิการซักถามและเจ้าของญัตติคำถาม เห็นควรให้ดำเนินการซักถามผู้ถูกกล่าวหาต่อไป โดยประสงค์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ตอบคำถามเท่านั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นจะถือว่าให้ กมธ.ซักถาม ถามโดยไม่ต้องการคำตอบจากผู้แทนผู้ถูกกล่าวหา

นายพิชิต ชื่นบาน ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขอให้บันทึกในที่ประชุมว่า รายงานการพิจารณาคดีระบุชัดแจ้งว่าการนัดหมายผู้เกี่ยวข้องนั้น หมายถึงผู้แทนคดีหรือผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4 ระบุว่าการที่มีข้อซักถามแล้วไม่เปิดโอกาสให้ผู้แทนชี้แจง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ จึงขอให้ที่ประชุมบันทึกไว้ ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ในฐานะ กมธ.ซักถาม กล่าวว่า การถามคำถามยังถือว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกกล่าวหา ที่สามารถนำไปเขียนในสำนวนวันแถลงปิดคดีได้ด้วย จึงถือว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมผู้ถูกกล่าวหาแล้ว

จากนั้น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ชี้แจงว่า ผู้แทนคดีที่มาในวันนี้มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ตอบคำถาม ซึ่งมั่นใจว่าพวกตนมีความสามารถ พร้อมตอบทุกคำถาม แม้ว่าจะไม่ทราบคำถามดังกล่าวล่วงหน้า แต่มั่นใจว่าจะสามารถให้ข้อมูลแก่กรรมาธิการได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่สมาชิก สนช.จะได้ใช้ดุลพินิจ โดยเราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะส่วนที่ ป.ป.ช.เข้าใจคลาดเคลื่อน

ขณะที่นายพิชิตยืนยันว่า การชี้แจงถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญต้องให้การคุ้มครองตามมาตรา 4 ดังนั้นเราเพียงต้องการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาพึงจะได้รับ จึงยืนยันที่จะรักษาสิทธิไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกละเมิด และขอให้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

จากนั้นเข้าสู่กระบวนการซักถาม โดยในการตั้งคำถาม กมธ.ได้ใช้วิธีระบุชัดเจนว่าประสงค์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ตอบคำถามด้วยตัวเอง โดยไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นตอบ โดยคำถามอาทิ เนื่องจากตามที่หน่วยงานต่างๆ มีหนังสือทักท้วง การดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวอย่างเป็นทางการในตัวเลขความเสียหายของรัฐจากอนุกรรมการปิดบัญชีของกระทรวงการคลัง 3 ฉบับ วันที่ 9 ตุลาคม 2555 เสียหาย 3.2 หมื่นล้านบาทวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 เสียหาย 2.2 แสนล้านบาท และครั้งที่ 3 วันที่ 10 ตุลาคม 2556 ระบุความเสียหาย 3.3 หมื่นล้านบาท และจากหนังสือ ป.ป.ช. 2 ฉบับ หนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 4 ฉบับ ฉบับสุดท้ายลงวันที่ 30 มกราคม 2557 เสนอให้รัฐบาลทบทวน และยุติโครงการ แต่รัฐบาลไม่ฟัง และที่สุดมีตัวเลขยืนยันความเสียหายมากกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวมกับการลดค่าของราคาข้าวในสต๊อกที่เหลือจากตัวเลขดังกล่าวจะเป็นภาระของรัฐต่อไป จึงขอถามโดยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบเป็นรายข้อย่อย ดังต่อไปนี้ 1. ในฐานะที่ผู้ถูกล่าวหาเป็นนายกฯ และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติทราบเรื่องในความเสี่ยง ข้อทักท้วง และตัวเลขความเสียหายของโครงการเหล่านั้นหรือไม่ 2. หาความเสียหายต่อเนื่องจะส่งผลระทบต่อสถานะทางการเงินของประเทศ แล้วทำไมถึงไม่ระงับหรือชะลอแต่กลับยังปล่อยให้ดำเนินการ 3. ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงความรับผิดชอบต่อวามเสียหายอย่างไร

จากนั้นนายนิวัฒน์ธำรงได้ขอใช้สิทธิในการตอบคำถาม เพราะเป็นคำถามเชิงปฏิบัติที่ผู้แทนคดีสามารถให้คำตอบได้ การให้พวกเราได้ตอบคำถามน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสภา อีกทั้งยังเป็นการทำความเข้าใจต่อกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย แต่นายสุรชัยชี้แจงว่า สนช.มีความหนักใจ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหนังสือมายังประธาน สนช. โดยไม่ได้แจ้งเหตุความจำเป็นใดที่ไม่สามารถมาสภาได้ เพียงแต่ขอมอบหมายให้ผู้แทนคดีมาตอบคำถาม ซึ่งอย่างน้อยที่สุดในหนังสือที่มาถึงประธาน สนช. ควรแจ้งว่ามีเหตุความจำเป็นใดขัดข้อง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการที่ สนช.จะพิจารณาในแนวทางที่จะอนุญาตให้ผู้แทนตอบคำถามแทนได้ และ สนช.มีมติไปแล้วว่าเห็นควรมอบหมายให้กมธ.ซักถาม ไปตกลงกับเจ้าของคำถาม ซึ่งเป็นสิทธิของเจ้าของญัตติ ในการแถลงเปิดคดีไม่ได้มีการแจ้งว่าใครจะมาตอบคำถามบ้าง ซึ่งจะได้ตั้งคำถามได้ตรงตัวว่าจะถามใครหรือผู้แทนคนใด จึงขอความเห็นใจสภาด้วย ตรงนี้เป็นประเด็นปัญหาและเป็นอุปสรรค ถ้าวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาเองแล้วขออนุญาตให้ผู้แทนตอบคำถามแทนจะง่ายกว่าในการพิจารณา แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เดินทางมาก็เป็นอุปสรรค การถามคำถามไม่ได้เป็นเป็นการกีดกัน แต่สามารถนำไปร่างคำแถลงปิดคดีได้

“ที่ประชุมมีมติและมอบหมายว่า เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกว่าประสงค์อย่างไร ซึ่งผู้ตั้งคำถามทั้ง 13 คน ประสงค์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ตอบคำถาม เพราะผู้แทนทั้งหมดอาจจะตอบคำถามได้ไม่ตรง เพราะคดีนี้เป็นคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์โดยตรง ไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่งอื่นใด อีกทั้งคำถามทั้งหมดสมาชิกประสงค์จะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ ป.ป.ช.ได้รับทราบคำถามก่อน เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิในวันแถลงปิดคดีได้ ซึ่งตนคิดว่าเป็นธรรมแล้ว ไม่สามารถดำเนินการเป็นอย่างอื่น”

นายพิชิตจึงลุกขึ้นชี้แจงว่า ข้อบังคับกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น ในข้อบังคับไม่ได้บัญญัติอย่างที่ประธานในที่ประชุมแถลง จึงขอให้บันทึกไว้ ส่วนเรื่องเอกสิทธิ์ของผู้ตั้งคำถามไม่ขอโต้แย้ง แต่ยืนยันว่ามาตรา 4 เป็นสิทธิที่ผู้เกี่ยวข้องที่จะชี้แจง จึงอยากให้ประธานฯ วินิจฉัยเลยว่าผู้เกี่ยวข้องคือผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ไม่เช่นนั้นยังถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ

จากนั้นนายสุรชัยจึงขอให้ผู้แทนผู้ถูกกล่าวหาทำการประสานให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มายังสภา ซึ่งนายนิวัฒน์ธำรงกล่าวยืนยันว่าพร้อมที่จะตอบแทน เพราะถ้าให้ประสานตอนนี้ไม่ทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน และไม่มั่นใจว่าจะทำได้แค่ไหน อย่างไร นายสุรชัยซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายต่อสู้คดีได้เต็มที่ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน จึงขอพักการประชุม 10 นาที โดยเชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไปหารือกันข้างห้องประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง ประธานฯ ได้สรุปผลการหารือว่าผู้แทนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เห็นชอบให้ดำเนินการกระบวนการพิจารณาต่อไปตามมาติของ กมธ.ซักถาม จากนั้นกรรมาธิการซักถามได้ทำการซักถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อไปจนครบ 35 คำถามโดยไม่ให้คนอื่นตอบแทน












กำลังโหลดความคิดเห็น