xs
xsm
sm
md
lg

"วิชา"ถล่ม"นิคม"ใช้อำนาจขัดรธน. ต้องถอดถอนตัดสิทธิ "ปู"แถลงสู้วันนี้-ตร.คุมเข้มหน้าสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แถลงเปิดคดีถอดถอน"นิคม-สมศักดิ์" ผ่านไปด้วยดี "วิชา" อ้างประเพณีต้องถอดถอนตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี แม้พ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้ว เชื่อไม่กระทบปรองดอง แต่จะช่วยสร้างศรัทธาผู้ปกครองคุณธรรมสูง "นิคม" แถลงโต้ ยันทำตามอำนาจหน้าที่ ใช้ข้อบังคับเคร่งครัด อ้างฝ่ายค้านตีรวนต้องปิดประชุม ย้อน"สุรชัย" หากถูกสมาชิกด่า"เลว" จะโกรธไหม ด้าน "ยิ่งลักษณ์" แถลงสู้คดีจำนำข้าววันนี้ ตร.คุมเข้มหน้าสภา เตือนแม่ยกห้ามป่วน ยังมีอัยการศึกคุมอยู่ "บิ๊กป้อม" ขอร้องแฟนคลับให้กำลังใจอยู่ที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องมาที่สภา

เมื่อเวลา 12.25 น.วานนี้ (8ม.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ได้มีการแถลงเปิดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผู้ร้องขอให้ดำเนินการถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 68 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และ การแถลงคัดค้านโต้แย้งสำนวน ของนายนิคม(ผู้ถูกกล่าหา)

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว พ.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิก สนช. ได้เสนอญัตติให้ประชุมลับ โดยอ้างว่าอาจสร้างความวุ่นวาย สถานการณ์บ้านเมืองเหมือนจะเข้าสู่ปกติ แต่ในความเป็นจริงกลับยังมีประชาชนที่เฝ้าติดตาม ที่แบ่งเป็นสองฝ่าย และหากปล่อยให้มีการประชุมแบบเปิดเผยก็อาจนำมาความแตกแยกในบ้านเมือง ซึ่งตนเชื่อว่าจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน

แต่นายกล้านรงค์ จันทิก สนช. อดีตกรรมการป.ป.ช. ขอหารือว่า วิธีการปฏิบัติในการถอดถอนไม่เคยมีการประชุมลับ สิ่งสำคัญสุด ทั้งสองฝ่ายจะต้องเสนอข้อเท็จจริง เหตุผล หลักฐาน ให้เป็นที่ประจักษ์ หากมีการประชุมลับความเสียเปรียบจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ถูกร้องที่ไม่มีโอกาสชี้แจงให้ประชาชนทราบ จึง ขอเสนอให้ถอนญัตติออกไป ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง มิเช่นนั้นสภานี้จะได้รับความเสียหาย

**โหวตให้ประชุมโดยเปิดเผย

ประธานที่ประชุมจึงขอให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็น นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช. กล่าวว่า การพิจารณาวันนี้ ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทยที่ตนคิดว่าประชาชนทั้งประเทศกำลังติดตามเฝ้าดูจำนวนมาก จึงไม่น่าจะเป็นการประชุมลับ เพราะจะถูกชาวบ้านบอกว่า ปิดหู ปิดตา ประชาชน เราไม่ต้องกลัวอะไรเพราะมีหลักยึดมั่นอย่างเดียวว่า สนช.ชุดนี้ ทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง ประเทศชาติ ยึดหลักกฎหมายถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ฉะนั้นไม่ต้องกลัว ขณะที่สมาชิกหลายคนอภิปรายสนับสนุนให้ประชุมอย่าเปิดเผย เพราะการอภิปรายครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับ สนช. และเพื่อให้สังคม สื่อมวลชนรับรู้รับทราบข้อเท็จจริง ก็ไม่จำเป็นต้องมีประชุมลับ

แต่พ.ต.อ.ชัชวาลย์ ยังยืนยันว่า ตนเสนอด้วยเหตุผล เหมือนการพิจารณาของศาล ทั้งสองฝ่ายนำเรื่องข้อเท็จจริงมายืนยันอยู่แล้ว แต่การนำข้อเท็จจริงของสองฝ่าย มีคนอยากรู้อยากทราบแน่นอน ส่วนตัวถือว่าการพิจารณาโดยเปิดเผยน่าจะมีประโยชน์ แต่สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ไม่เหมือนกับในอดีต ยังยืนยันที่จะไม่ถอนญัตติ เพราะเป็นกรณีจำเป็น เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำคัญ

นายพรเพชร กล่าวว่า มีสมาชิกจำนวนมากเสนอชื่อ ขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ตนไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งในสนช. เพราะสิ่งที่กำลังพิจารณาอยู่ในความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้สังคมกำลังรับฟังว่า ป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหา จะว่าอย่างไร ตนยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง โดยจะควบคุมการแถลงทั้งสองฝ่ายให้ถูกต้อง โดยให้อยู่ในประเด็นคำร้อง เป็นพยานหลักฐานที่อยู่ในสำนวน และไม่ใช่เป็นการเสนอพยานหลักฐานใหม่

นายสมชาย กล่าวว่า ในข้อบังคับการประชุม สนช. ข้อที่ 152 ระบุว่า การพิจารณาให้เปิดเผย เว้นแต่จำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำคัญ ถ้าจะประชุมลับ ก็ต้องยกเว้นข้อบังคับ และอดีตที่ผ่านมามีการดำเนินการถอดถอนหลายกรณี ทั้งหมดทำโดยเปิดเผย ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติ 107 เสียง ต่อ 70 เสียงไม่เห็นด้วยกับการประชุมลับ งดออกเสียง 19 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

**ป.ป.ช.ชี้ นิคมใช้อำนาจขัดรธน.

จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่วาระ โดยเริ่มจาก นายวิชา มหาคุณ ตัวแทนฝ่ายป.ป.ช. แถลงว่า แม้นายนิคม จะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว แต่เนื่องจากการถอดถอนมีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ. 2542 จึงต้องป้องกันไม่ให้ผู้นั้นกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก แม้รัฐธรรมนูญ 2557 จะไม่ได้ระบุถึงการถอดถอนไว้โดยตรง แต่ใน มาตรา 5 ก็เปิดให้มีการวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองได้ และ มาตรา 11 ก็ให้อำนาจสนช. ในการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยไว้ กระบวนการถอดถอน จึงต้องเดินไปตามหลักการเมืองการปกครองที่เคยมี

"ข้อห่วงกังวลที่ว่า กระบวนการถอดถอนอาจมีผลทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิรูป และการปรองดอง ของคสช. ผมมองว่าตรงกันข้ามกัน เพราะกระบวนการถอดถอนนี้จะทำให้สังคมได้รับความเชื่อมั่นและศรัทธา วางใจให้การปฏิรูปประเทศจะเป็นไปด้วยดี และเรียบร้อย จากการถูกปกครองโดยผู้มีจริยธรรมและคุณธรรมระดับสูงเหนือกว่าคนอื่นทั้งหมด นี่จึงเป็นหลักไมล์แรกที่จะเริ่มต้นทำประเทศของเราให้ใสสะอาด ปราศจากสิ่งที่ประชาชนไม่ไว้วางใจ” นายวิชา กล่าว

นายวิชา กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวุ่นวายทางการเมือง นำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ จนมีคำวินิจฉัยที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ออกมา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ หยิบยกการคุ้มครองเสียงข้างน้อยขึ้นมาอธิบาย ที่กลายเป็นรากฐานการตรวจสอบของป.ป.ช. โดยในสำนวนชี้มูลความผิดของนายนิคม คือ สั่งปิดการอภิปรายก่อนครบกำหนดเวลา และตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติกว่า 47 คน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาส.ว. ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 และ กฎหมายป.ป.ช.

**นิคมอ้างทำตามหน้าที่ทุกประการ

จากนั้น นายนิคมได้แถลงชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตอนหนึ่งว่า หากฝ่ายนิติบัญญัติถูกลบหลู่ ก็ไม่สามารถทำงานได้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครอง ห้ามฟ้องร้องการทำหน้าที่ก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีแล้ว ข้อกล่าวหาของป.ป.ช.จะตกไปโดยปริยาย ส่วนประเด็นที่ตนถูกป.ป.ช. ชี้มูลความผิด คือกรณีที่ตนรับญัตติปิดประชุม โดยที่สมาชิกหลายคนยังไม่ได้อภิปราย แต่ถ้าไปดูในเอกสารรายงานการประชุมก็จะเข้าใจว่า ทำไมตนจึงดำเนินการดังกล่าว และให้ดูว่า ทำไมการพิจารณาเพียงมาตราเดียวได้ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงกว่า ทั้งที่มีผู้อภิปราย 13 คนเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ยื่นแปรญัตติส่วนใหญ่ล้วนยื่นแบบผิดหลักการ ไม่เป็นไปตามญัตติหลักของการพิจารณา ตนจึงไม่สามารถให้อภิปรายได้ เพราะการยื่นญัตติเช่นนี้เป็นเทคนิค และลูกเล่นของคนเล่นการเมืองมานาน พยายามตีรวนในทุกเรื่อง เป็นความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายอย่างเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

เมื่อมีสมาชิกเห็นว่าการอภิปรายยืดยาว และครบประเด็นแล้ว จึงมีการเสนอญัตติให้ปิดอภิปรายตามข้อบังคับฯ ซึ่งตนก็ถามความเห็นในที่ประชุมว่า มีใครเห็นเป็นอื่นหรือไม่ โดยเสียงส่วนใหญ่ก็มีมติเห็นควรให้ปิดการอภิปราย เป็นการดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมทุกขั้นตอน

นายนิคม ยืนยันว่า ตนไม่ได้ละเมิดหลักยุติธรรม ข้อเสนอแนะของผู้ร้อง หรือ ทางป.ป.ช. ที่ถามว่าทำไมตนถึงไม่พักการประชุมเพื่อให้วิป 3 ฝ่ายไปประชุมกัน แต่ตนทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะไม่สามารถละเมิดสิทธิที่เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกตามข้อบังคับการประชุม สิ่งที่ตนกระทำตามได้ยึดหลักของกฎหมายทุกประการ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระบวนการในการตัดสินจะไม่อยู่บนหลักของกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ตนเข้าใจ และต้องมาชี้แจงด้วยตนเอง เพราะจำเป็นต้องรักษาสถาบันนิติบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไว้ ดังนั้นจึงข้อให้ สนช.ใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุผลหากปล่อยให้องค์กรอื่นมาก้าวล่วง ถามว่า สมาชิกสภาที่กำลังทำหน้าที่อยู่ตอนนี้ต่อไปจะมีความปลอดภัยในชีวิตทางการเมืองหรือไม่ เพราะวันหนึ่งพวกท่านอาจจะมายืนอยู่จุดเดียวกับตนก็ได้

"ใครๆก็รู้ว่า นิคม เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้นานที่สุด ไม่เคยมีใครทำได้ หลับตาท่องรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับได้หมด ผมทำหน้าที่ตามมติของที่ประชุม เหมือนกับสภาแห่งนี้ที่ทำหน้าที่ แต่สภานี้ถือเป็นสภาที่เรียบร้อย ไม่เหมือนสมัยผมเป็นสภาการเมือง ถือเป็นเวรกรรม การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 128 ชั่วโมง แต่ใช้ในการประท้วงไปแล้วถึง 50 ชั่วโมง ถูกเอาแฟ้มขว้าง หากเป็น ท่านสุรชัย (ประธานที่ทำหน้าที่ประชุมในขณะนั้น) ถูกด่าว่าไอ้เลว จะโกรธมั๊ย จะควบคุมได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม วันที่กรรมาธิการจะดำเนินการซักถามข้อเท็จจริง ผมก็ยินดีที่จะมาให้ข้อมูลด้วยตัวเอง" อดีตประธานวุฒิสภา กล่าว

**"สมศักดิ์"สละสิทธิ์การคัดค้าน

ต่อมาเป็นขั้นตอนการแถลงเปิดคดีของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง ตาม มาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบ มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยฝ่าย นายสมศักดิ ไม่ติดใจแถลงคัดค้านการเปิดสำนวนถอดถอน จึงทำให้มีการแถลงเปิดสำนวนเพียงฝ่ายเดียว

โดยนายวิชาได้แถลงเปิดคดีแจกแจงถึงพฤติกรรมของนายสมศักดิ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 56 ก่อนที่นายสมศักดิ์ จะได้ลงนามเพื่ออนุญาตบรรจุ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส. ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยของตน นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ไปเปลี่ยนกับร่างฉบับเดิม ซึ่งนายอุดมเดช และคณะ จำนวน 315 คน เป็นผู้เสนอเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 โดยมีการแก้ไขหลักการ ซึ่งการแก้ไขดังกล่าว ให้ส.ว.สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันกันโดยไม่ต้องเว้นวรรค แม้จะอ้างว่าหลักการของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว คือการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ก็เป็นเรื่องที่ต้องปรากฏอยู่ในส่วนของทั้งหลักการ และเหตุผล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกรัฐสภาได้ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้ออ้างของนายสมศักดิ์ ที่ว่า เข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถกระทำได้ โดยได้ถามเจ้าหน้าที่แล้ว ไม่อาจรับฟังได้ การกระทำของนายสมศักดิ์ ดังกล่าวถือว่าเป็นกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังร่วมกับ นายนิคม ตัดสิทธิ์ ผู้สงวนการแปรญัตติ และปิดการอภิปรายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสั่งปิดอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งกำหนดวันการแปรญัตติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็วินิจฉัยว่ามีความผิดไปแล้ว ดังนั้นการกระทำและพฤติการณ์ของนายสมศักดิ์ เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และมาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 270 และ มาตรา 274 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา 62

"คดีของนายนิคม และสมศักดิ์ ถือเป็นอนาคตของชาติในการตรวจสอบทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศที่ไม่ใช่แค่รับสินบน หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ แต่ยังหมายถึงจริยธรรม และคุณธรรม ที่เป็นหลักในการปกครองประเทศดังที่เช่น มหาตมะ คานธี นักต่อสู้สันติวิธีของประเทศอินเดีย เคยพูดไว้" นายวิชา แถลงการณ์เปิดสำนวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำรับกรรมาธิการซักถามการถอดถอนคู่กรณีในกระบวนการถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ ได้กำหนดไว้ชุดเดียวกันจำนวน 9 คน โดยกำหนดวันประชุมซักถามคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 15 ม.ค. โดยสนช. สามารถส่งคำถามได้วันสุดท้ายในวันที่ 12 ม.ค. และคาดว่าจะมีการลงมติการถอดถอนในช่วงปลายเดือนม.ค.

**ยกคำร้องคดีเก่า"ปู-ปลอด-จารุพงศ์"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประธานกรรมการป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งว่า ตามที่วุฒิสภาได้ส่งคำร้อง ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะส.ส.จำนวน 146 คน ขอให้ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ข้อหากระทำการทุจริต ก่อนที่จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินไต่ส่วนข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 25 พ.ย.56 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาคำร้องแล้ว เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 เพียงประการเดียว ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้สิ้นสุดแล้ว จึงไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่เป็นมูลฐานแห่งการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงไม่มีมูลเหตุไต่ส่วนคำร้องต่อไป และได้มีมติให้จำหน่ายคดีออกจากระบบความ

** "ยิ่งลักษณ์" แจงคดีจำนำข้าวเอง

นายพิชิต ชื่นบาน ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปให้ข้อมูลต่อที่ประชุม สนช. ในคดีจำนำข้าว กรณีถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในฐานะผู้มีอำนาจ แต่กลับไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ว่า ตนพร้อมกับอดีตรัฐมนตรี ทั้งนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง นายวราเทพ รัตนากร อดีตรมช.คลัง และนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ พร้อมทีมทนายความ จะเดินทางไปกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย แต่ยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเป็นผู้ชี้แจงด้วยตัวเองเพียงคนเดียว

อย่างไรก็ตาม คงต้องขอฟังการแถลงเปิดคดีนี้ของป.ป.ช. ก่อนว่ามีข้อหาอะไรบ้าง ก่อนที่จะหารือกันถึงแนวทางในการต่อสู้คดี

ส่วนที่มีข่าวระบุว่า อาจมีบรรดาพ่อยก-แม่ยก เดินทางไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น ตนไม่ทราบ แต่ความเป็นจริงขอให้สงบๆ ดีกว่า

ด้านนายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า อาจมีประชาชนเดินทางไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่รัฐสภาในวันนี้ แต่ตนยืนยันว่าไม่มีการกะเกณฑ์คนอะไรจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น หากมีคนเดินทางไปให้กำลังใจ น่าจะเป็นการเดินทางไปให้กำลังใจกันเอง และเชื่อว่าคงไม่ได้ไปกันมาก

**ตร.คุมเข้มสภาฯรับมือแม่ยกยิ่งลักษณ์

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร. กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (9 ม.ค.) ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเข้าชี้แจงข้อกล่าวหา กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อที่ประชุมสนช. ว่า ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งการลงพื้นที่หาข่าว และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้น เนื่องจากยอมรับว่า มีกระแสข่าวประชาชนเตรียมเดินไปให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรีจำนวนมาก

ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือผู้ที่จะเดินทางไป ขอให้เป็นเพียงการให้กำลังใจ ไม่ควรแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ หรือก่อเหตุใดๆ เนื่องจากขณะนี้บ้านเมืองยังอยู่ในช่วงของการบังคับใช้กฎอัยการศึก หากกระทำความรุนแรง จะเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ แต่จากข้อมูลเบื้องต้นเชื่อว่าไม่น่าจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในวันดังกล่าว

** ไม่ต้องมาให้กำลังใจ"ปู"ที่สภา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะ รมว.กลาโหม และ รองหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสการปลุกระดมประชาชนผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพื่อมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันนี้ (9ม.ค.) ว่า "อย่ามาเลยครับ จะมาทำไม่ ไม่ต้องมาหรอกครับ เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน ถ้ามัวแต่ยกขบวนไปสนับสนุน ก็ไม่ได้อะไร เพราะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้ทาง สนช. จะต้องดำเนินการตามกระบวนการ และกฎหมาย เรื่องการให้กำลังใจสามารถให้ได้ อยู่ที่บ้านหรือโทรศัพท์มาให้กำลังใจก็ได้ เพราะถึงมาก็ไม่มีประโยชน์" พล.อ.ประวิตร กล่าว

สำหรับเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยให้กับทุกฝ่าย ซึ่งคิดว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพิเศษ ส่วนที่มีการมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลต่อไปหรือไม่ ตนคิดว่าไม่ส่งผลใดๆ เพราะเราดำเนินการตามขั้นตอน และข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นตนยังไม่ได้รับรายงานจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จะมีผู้มาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในจำนวนเท่าใด และตนขอร้องว่า อย่ามาเลย เพราะขณะนี้รัฐบาลกำลังทำงานอยู่ และสามารถดูแลเหตุการณ์ทุกอย่างให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ซึ่งขณะนี้ประชาชนทุกคนก็มีความพึงพอใจ

เมื่อถามว่า หากที่ประชุมสนช. มีติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คิดว่าไม่วุ่นวาย เพราะต้องดูไปตามกฎหมาย ว่า ทางสนช.มีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ สนช. ตนเป็นฝ่ายบริหารคงไปล่วงล้ำอำนาจไม่ได้ แต่ก็ได้มีการเตรียมป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เมื่อถามย้ำว่า หากถอดถอนจริง คสช. เอาอยู่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "คสช.เอาอยู่ ผมทำทุกอย่างเต็มที่ ตามกฎหมาย และตามขั้นตอนอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความสงบ และเกิดความปรองดอง เนื่องจากเป็นความตั้งใจของรัฐบาล และคสช."
“วิชา” เปิดคดีถอดถอน หวังสังคมศรัทธา - “นิคม” โต้อ้างฝ่ายค้านตีรวนรีบปิดประชุมแก้ รธน.
“วิชา” เปิดคดีถอดถอน หวังสังคมศรัทธา - “นิคม” โต้อ้างฝ่ายค้านตีรวนรีบปิดประชุมแก้ รธน.
ผ่านไปแล้วเปิดสำนวนถอดถอน “นิคม - สมศักดิ์” แก้ รธน. ที่มา ส.ว. มิชอบ พบ “ชัชวาลย์” พยายามให้ประชุมลับ อ้างกลัวแตกแยก แต่ “กล้านรงค์” เบรกเพราะไม่เคยมี สุดท้าย 107 เสียงตอกหน้าหงาย “วิชา” แถลงเปิดสำนวน ชี้ผู้ถูกกล่าวหาแม้พ้นเก้าอี้แต่ก็มีโทษตัดสิทธิ์ 5 ปี หวังสังคมเชื่อมั่นศรัทธา ทำประเทศใสสะอาด ด้าน “นิคม” โต้กลับ อ้างฝ่ายค้านตีรวนเลยต้องปิดประชุม ตัดสิทธิ์สมาชิก 47 คนแปรญัตติ ย้อนถ้าประธานถูกสมาชิกด่าเลวจะโกรธไหม ด้าน “สมศักดิ์” ไม่ติดใจถูกอัดฝ่ายเดียว ประชุมซักถามสองฝ่าย 15 ม.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น