เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ยื่นหนังสือต่อ ปธ.กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย ขอพิจารณาแก้กฎหมายปิโตรเลียม ทั้ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 “วีระ” เชื่อระบบเเบ่งปันผลผลิตเหมาะสมกับไทยมากกว่า “อภิสิทธิ์” แนะให้ความจริงประชาชนแก้ กม.ก่อนเปิดสัมปทาน
วันนี้ (25 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ก ถ.แจ้งวัฒนะ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เดินทางยื่นหนังสือต่อ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยขอให้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดให้รัฐบาลสามารถให้สิทธิอื่นๆ นอกเหนือจากการให้สัมปทาน เช่น การจ้างผลิต การแบ่งปันผลผลิต ซึ่งเป็นระบบที่ทั่วโลกใช้กัน และขอให้มีบทบัญญัติว่าด้วย กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมและสิทธิในการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการเก็บรักษาไม่ว่าจะบนบกหรือทะเล ให้เป็นของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยมีบทบัญญัติให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เป็นของรัฐ 100% ซึ่งมีหน้าที่ในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการประมูล มีอำนาจควบคุมการประกอบกิจการปิโตรเลียมของเอกชนคู่สัญญา และให้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการเข้าร่วมลงทุนกับเอกชนคู่สัญญาในลักษณะสัญญาร่วมดำเนินการ
นอกจากนี้ยังขอให้มีบทบัญญัติจัดตั้งสภาพลังงานประชาชนและกองทุนเพื่อพัฒนาปิโตรเลียม และบทบัญญัติเปิดเผยข้อมูลของสัญญาและการประกอบกิจการปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชน และกำหนดพื้นที่ประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของประชาชน พื้นที่เกษตรกรรม ประมง และการท่องเที่ยว
โดยตัวแทนเครือข่ายที่ประกอบด้วย นายวีระ สมความคิด, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม, พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส, นายรุ่งชัย จันทสิงห์ พร้อมด้วยภาคประชาชนที่ถือป้ายพร้อมข้อความ อาทิ ระบบแบ่งปันผลผลิต คืนความเป็นธรรมทางทรัพยากรให้ชาติและประชาชน, พลังงานไทย พลังงานของใคร ของประชาชน ปตท. กระทรวงพลังงาน รัฐบาล หรือเชฟรอน
น.ส.บุญยืนกล่าวระหว่างยิ่นหนังสือว่า หากมีการแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลยังจะใช้วิธีการสัมปทานก็ต้องตอบให้ได้ว่าใช้เพราะอะไร ข้อดีมีอะไร การมายื่นหนังสือในครั้งนี้ไม่ได้มองว่ารัฐบาลไม่จริงใจต่อการแก้ไขปัญหา แต่ภาคประชาชนมองว่า สำนักงานปฏิรูปกฎหมายเป็นองค์กรอิสระ น่าจะแก้ไข พ.ร.บ.ได้ดีกว่า ส.ป.ช. และยังเป็นหนทางเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชน พร้อมสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลแบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลแบ่งปันปิโตรเลียมให้กับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีร้อยละ 50 ภาคประชาชนร้อยละ 50 เท่ากับว่ารัฐบาลอุ้มภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากเกินไป แล้วให้ภาคประชาชนแบกรับภาระราคาพลังงาน วอนรัฐบาลอย่ามองแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ขอให้มองถึงปากท้องของประชาชนด้วย ที่สำคัญ ทุกวันนี้ประชาชนเดือดร้อน เพราะรัฐบาลให้อำนาจคนกลุ่มเดียวตัดสินในเรื่องราคาพลังงานของประเทศ
ทั้งนี้ ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้รับหนังสือ พร้อมกล่าวว่าจะใช้ความรู้ในการพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ และเน้นการมีส่วนร่วม ยืนยังเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน
ด้านนายวีระ สมความคิด มองว่าระบบแบ่งปันผลผลิตน่าจะมีความเหมาะสมกับประเทศไทย มากกว่าระบบสัมปทาน ตนมีความเห็นว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย ดังนี้
1. ควรแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยสามารถกำหนดให้ใช้ระบบการให้สิทธิอื่นๆ นอกจากระบบแบ่งปันผลผลิตได้ด้วย
2. ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม และสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งบนบกและในทะเล ให้เป็นของรัฐ โดยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
3. บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ต้องเป็นของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์
4. ให้จัดตั้ง สภาพลังงานประชาชนและกองทุนเพื่อพัฒนาปิโตรเลียม
5. ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลของสัญญาและการประกอบกิจการปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
6. กำหนดพื้นที่ประกอบกิจการปิโตรเลียม โดยจะต้องไม่กระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน พื้นที่เกษตร การประมง และการท่องเที่ยว
7. แก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยภาษีปิโตรเลียม
ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า หากมีการแก้กฎหมายแล้ว พลังงานไม่เพียงพอต่อการใช้งานในอนาคต ภาคประชาชนจะรับผิดชอบอย่างไร นายวีระกล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรถามว่าประชาชนจะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าภาคประชาชนต้องถามกลับว่าทุกวันนี้ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับภาระราคาเชื้อเพลิง รัฐบาลเคยรับผิดชอบอะไรบ้างไหม ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยริเริ่มแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องความโปร่งใสและการทุจริตคอรัปชั่น.
ส่วนรายละเอียดของหนังสือมีใจความดังนี้ เรื่อง ขอให้พิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
กราบเรียน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
ข้าพเจ้าในนามตัวแทนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ใคร่ขอเรียนถึงเหตุผลสำคัญที่ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พิจารณาปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ๒ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยเร่งด่วน ดังนี้
๑. การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมโดยเร็ว จะช่วยทำให้การปฏิรูปพลังงานของประเทศมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และยังช่วยสนับสนุนให้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ อันจะทำให้เกิดผลผูกพันในข้อสัญญาที่ไม่อาจแก้ไขได้ยาวนานถึง ๓๙ ปีตามอายุสัญญาสัมปทาน
๒. การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทยดำเนินการตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ตลอดระยะเวลา ๔๔ ปีที่ผ่านมามีการแก้ไขกฎหมายนี้หลายครั้ง แต่ยังคงใช้ระบบสัญญาแบบสัมปทานเหมือนเดิม โดยไม่สามารถใช้ระบบสัญญาแบบอื่น เช่น ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบสัญญารับจ้างบริการได้ ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อให้ดึงดูดความสนใจและสร้างความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนของบริษัทน้ำมันระหว่างประเทศ ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานมากขึ้นตามลำดับ
๓. ระบบสัมปทานของไทยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับที่เป็นตัวเงิน คือ ค่าภาคหลวง ภาษี และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเป็นหลัก มากกว่าผลประโยชน์ที่สำคัญด้านอื่น โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นเจ้าของของรัฐในปิโตรเลียมที่ผลิตได้และรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายปิโตรเลียม ซึ่งตามระบบสัมปทานของไทยนั้น ปิโตรเลียมที่ผลิตได้จะตกเป็นของผู้รับสัมปทานทั้งหมด เมื่อประชาชนหรือรัฐต้องการใช้ประโยชน์จะต้องจ่ายเงินซื้อกลับมาในราคาอิงราคาตลาดโลก จึงทำให้ประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากร ไม่ได้รับประโยชน์หรือความคุ้มครองในด้านราคาพลังงานจากระบบสัมปทานแต่อย่างใด
๔. ระบบสัมปทานไทยให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยในผลประโยชน์อื่นๆ เช่น การมีสิทธิในข้อมูลปริมาณปิโตรเลียมที่แท้จริง หรือการมีส่วนร่วมของรัฐในการสำรวจและขุดเจาะผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินที่รัฐได้รับเป็นอย่างมาก ผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินเหล่านี้จะได้รับจากระบบอื่นที่ไม่ใช่ระบบสัมปทาน เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งหลายประเทศในโลกใช้อยู่ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น
๕. รัฐไม่มีข้อมูลในปริมาณปิโตรเลียมเป็นของตัวเองก่อนเปิดสัมปทาน เนื่องจากรัฐไม่ได้ทำการสำรวจก่อน จึงมีข้อมูลน้อยทำให้ขาดอำนาจในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ที่รัฐควรจะได้รับ และทำให้ขาดความโปร่งใส ไม่สามารถบริหารจัดการและพัฒนาระบบการให้สิทธิในการผลิตปิโตรเลียมที่ดีกับระบบสัมปทานได้
๖. ระบบสัมปทานของไทยไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ไม่สร้างความเป็นธรรมต่อผู้รับสัมปทานรายใหม่ เนื่องจากผู้รับสัมปทานรายเก่าที่มีแปลงข้างเคียงแปลงสัมปทานที่เปิดใหม่มีความได้เปรียบผู้ประมูลรายใหม่ เพราะมีข้อมูลมากกว่า จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาการผูกขาดสัมปทานอยู่ในกลุ่มผู้รับสัมปทานรายเดิมเท่านั้น
๗. ระบบสัมปทานของไทย ไม่มีการรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
๘. รัฐได้รับส่วนแบ่งรายได้แบบถดถอย ระบบสัมปทานไทยมีการเก็บส่วนแบ่งรายได้ของรัฐหลังหักค่าใช้จ่ายด้วยภาษีร้อยละ ๕๐ ของกำไรสุทธิ อัตราเดียวจึงทำให้รัฐได้ส่วนแบ่งแบบถดถอย คือ ไม่ว่าโครงการจะได้กำไรน้อยหรือมาก รัฐก็เก็บภาษีในอัตราเดียวกัน ซึ่งตรงข้ามกับระบบแบ่งปันผลผลิตของมาเลเซียที่ออกแบบส่วนแบ่งกำไรแบบขั้นบันไดตามอัตรากำไร กำไรน้อยจ่ายน้อย กำไรมากจ่ายมาก ทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าสัมปทานไทย จึงเกิดความเป็นธรรมมากกว่าทั้งต่อรัฐและเอกชน
๙. พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งมีการแก้ไขกฎหมายหลายครั้ง แต่ยังมีหลายบทหลายมาตราที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษี เช่น ปัญหาการยกเว้นภาษีเงินปันผล และส่วนแบ่งกำไร อาจเป็นช่องทางให้มีการโอนกำไรในรูปของดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับในต่างประเทศ ปัญหาการแยกเก็บหรือคำนวณภาษี การโอนกิจการปิโตรเลียม อาจเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเลี่ยงการเสียภาษีจากเงินได้สุทธิ โดยวิธีกำหนดค่าตอบแทนแก่กัน และอาจทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยและ/หรือช้าลง ปัญหาการหักค่าใช้จ่าย อาจมีการสร้างค่าใช้จ่ายในต่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาหักในการคำนวณภาษี ปัญหาการคำนวณกำไรสุทธิสัมปทานไทยบนฐานรายรับรายจ่ายจากแปลงสัมปทานรวมทุกแปลง (ไม่คิดแยกเป็นรายแปลงแบบอังกฤษ) ทำให้ฐานรายจ่ายกว้างขึ้น กำไรสุทธิน้อยลง ปัญหาจากสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาลต่างประเทศอาจทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากทรัพยากรตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายได้ เป็นต้น
๑๐. ระบบภาษียังสร้างความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้รับสัมปทานรายเก่ากับผู้รับสัมปทานรายใหม่ กล่าวคือ ผู้รับสัมปทานรายเก่าที่มีรายได้จากแปลงสัมปทานเดิมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการสำรวจแปลงสัมปทานใหม่ที่ไม่พบปิโตรเลียมมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้จึงเท่ากับรัฐช่วยรับความเสี่ยงไปด้วย ทำให้ผู้รับสัมปทานรายเก่าได้เปรียบผู้รับสัมปทานรายใหม่ที่ไม่มีฐานรายได้จึงต้องรับความเสี่ยงไว้เองทั้งหมด
จากการพิจารณาถึงความไม่สอดคล้องด้านต่างๆ ของการใช้ระบบสัมปทานของไทย และข้อได้เปรียบของระบบแบ่งปันผลผลิต ดังที่กล่าวมา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับการนำมาใช้ในประเทศไทย
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตของไทยจะต้องทำการยกเลิกกฎหมายปิโตรเลียมและออกเป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ โดยควรมีหลักประการสำคัญๆ ที่ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม โดยสรุปดังนี้
๑. ให้ทำการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ โดยในพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับใหม่สามารถกำหนดให้ใช้ระบบการให้สิทธิอื่นๆ นอกจากระบบแบ่งปันผลผลิตได้ด้วย ทั้งนี้จะมีผลตั้งแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียมใหม่เป็นต้นไป โดยไม่ใช้บังคับกับผู้รับสัมปทานตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ ฉบับเดิม
๒. ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมและสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งการเก็บรักษาปิโตรเลียมไม่ว่าบนบกหรือในทะเลเป็นของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(National Oil Corporation)
๓. มีบทบัญญัติให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Corporation) ที่เป็นของรัฐร้อยละร้อย โดยมีบทบัญญัติให้กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมและสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งการเก็บรักษาปิโตรเลียมไม่ว่าบนบกหรือในทะเลเป็นของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะทำหน้าที่ในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการประมูล มีอำนาจควบคุมการประกอบกิจการปิโตรเลียมของเอกชนคู่สัญญา(Contractor) ให้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการเข้าร่วมลงทุนกับเอกชนคู่สัญญา(Contractor) โดยบริษัทย่อยดังกล่าวกับเอกชนคู่สัญญา (Contractor) อยู่ในลักษณะของสัญญาร่วมดำเนินการ (joint operating agreement) และบริษัทหรือองค์กรใดที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติโดยมีคุณสมบัติที่ขัดต่อกฎหมาย ให้มีบทลงโทษทั้งจำและปรับ
๔. มีบทบัญญัติให้จัดตั้งสภาพลังงานประชาชนและกองทุนเพื่อพัฒนาปิโตรเลียม เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิมีส่วนร่วมทางตรงในการกำหนดนโยบาย ผลประโยชน์ และเรื่องต่างๆของประเทศชาติที่เกี่ยวกับปิโตรเลียม ทรัพยากรพลังงาน การใช้ประโยชน์จากสิ่งดังกล่าว และการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากกิจการปิโตรเลียม
๕. มีบทบัญญัติในการเปิดเผยข้อมูลของสัญญาและการประกอบกิจการปิโตรเลียม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการจัดการและการตรวจสอบของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๖. มีบทบัญญัติการกำหนดพื้นที่ประกอบกิจการปิโตรเลียม โดยพื้นที่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องอยู่ในระยะที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่การประมง และการท่องเที่ยว
๗. ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยภาษีปิโตรเลียม ปัญหาในระบบจัด
เก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติต่างๆ ที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และควรพิจารณาจัดตั้งสำนักจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเป็นการเฉพาะ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อเอกชนทุกรายและสร้างเป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริงที่พึงได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากร
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นางสาวบุญยืน ศิริธรรม)
ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
“อภิสิทธิ์” แนะให้ความจริงประชาชนแก้ กม.ก่อนเปิดสัมปทาน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่รับฟังเหตุผลของภาคประชาชน และหาทางออกที่ตอบโจทย์ทุกด้านคือ แก้จุดอ่อนของกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีการกระทบต่อความมั่นคง ต่อจากนี้เป็นเรื่องที่รัฐจะทำงานร่วมกับภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้การแก้กฎหมายออกมาดีและเร็ว โดยหวังว่าจะสามารถรักษาบรรยากาศที่ดีต่อกันได้ ซึ่งจะทำให้ก้าวพ้นความขัดแย้งในประเด็นเรื่องนี้ได้ และเป็นก้าวสำคัญไปสู่การปฏิรูปด้วย แต่ต้องมีความต่อเนื่องซึ่งตนจะติดตาม แต่ที่ไม่ร่วมเป็นกรรมการเพราะทราบดีว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากตนเป็นนักการเมือง
ประเด็นที่ควรแก้ไขในข้อกฎหมายนั้น หลายประเด็นภาคราชการไม่ปฏิเสธ และบางเรื่องระบุชัดว่า เป็นนโยบายของรัฐบาล สิ่งที่ควรทำคือ 1. ปิดจุดอ่อนของระบบปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มอำนาจร่อรองภาครัฐ ทำให้การจัดการพลังงาน รัฐได้ประโยชน์สูงสุด 2. ประโยชน์ที่ได้มา ต้องจัดสรรให้เป็นธรรมต่อประชาชน 3. ดุแลคุ้มครองสิทธิประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 4. เพิ่มทางเลือกให้รัฐ สามารถใช้ระบบอื่นนอกจากสัมปทานได้ อย่างน้อยในปี 2565 ที่จะต้องมีการเปิดสัมปทานอีกก็จะทำให้ประเทศมีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยไม่ใช่ตั้งต้น ให้สัมปทานอย่างเดียว
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวร่วมรับผิดชอบหาก การชะลอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานว่า ตนยืนยันว่าทุกคนที่ทักท้วงเรื่องนี้ มีเจตนาดี บนสมมุติฐานที่เป็นเหตุ เป็นผล จึงมั่นใจว่าถ้านายกฯ แก้ไขกฎหมาย ได้ในเวลาไม่กี่เดือน ไม่กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน แต่ต้องบริหารจัดการและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง ด้วยการให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนด้วยว่า แปลงที่จะเปิดสัมปทานรอบที่21ว่าไม่ได้มีปริมาณมาก และปัจจุบันมีการนำเข้าพลังงานอยู่แล้ว
“การเปิดสัมปทานรอบนี้แม้แต่ราชการก็คาดการณ์ว่า จะได้ปริมาณไม่มาก เพราะในรอบ 19-20 ได้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งแปลงที่จะทำในรอบที่ 21 คือแปลงที่เอกชนเคยสำรวจแล้ว และคืนกลับมาเพราะเห็นว่าไม่คุ้ม หรือ ไม่พบแหล่งปิโตรเลียม แต่วันนี้ อาจมีเทคโนโลยีใหม่และต้นทุนที่เปลี่ยน จึงต้องการสำรวจซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า แปลงนี้จะไม่ได้พลังงานที่มากอยู่แล้วหลังจากนี้อยากให้ราชการร่วมกับขับเคลื่อนร่วมกับประชาชนโดยตนพร้อมให้ข้อมูลกับสังคม และให้คำปรึกษากับทุกฝ่าย”