ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จังหวัดสงขลา ฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ของโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียม (ระยะที่ 2) และโครงการผลิตปิโตรเลียม (ส่วนขยาย ระยะที่ 2) แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย G5/43 ของบริษัท ซี อี ซี อินเตอร์เนชั่น ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) เพื่อชี้แจงผลกระทบสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ห้องสมิหลา โรงแรมบีพี สมิหลาบีช อ.เมือง จ.สงขลา นายสุทธิชัย สุขสีเสน พลังงานจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ของโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียม (ระยะที่ 2) และโครงการผลิตปิโตรเลียม (ส่วนขยาย ระยะที่ 2) แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย G5/43 ของบริษัท ซี อี ซี อินเตอร์เนชั่น ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย)
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้การศึกษา และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้แทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้แทนจากบริษัท ซี อี ซีฯ เจ้าของโครงการ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม) บริษัท ลักกี้สตาร์ เอนไวรอนเมน จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ทั้งระดับภาค ระดับจังหวัด ท้องถิ่นตลอดจนสถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม
การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงร่างข้อเสนอโครงการ และขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนของโครงการฯ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การวางแผนพัฒนา การจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของโครงการต่อไป
โครงการฯ ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลย จี 5/43 ซึ่งได้รับสัมปทานจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะดำเนินการเจาะหลุมเจาะสำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูลขนาด และขอบเขตของโครงการสร้างแหล่งกักเก็บเพิ่มเติม จำนวน 10 ตำแหน่ง ตลอดจนติดตั้งโครงสร้างในทะเลเพื่อการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม จำนวน 4ตำแหน่ง โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเจาะหลุมเจาะสำรวจในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 และติดตั้งโครงสร้างทางทะเลเพื่อการผลิตเพิ่มเติม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559
ทั้งนี้ โครงการฯ สามารถเริ่มดำเนินการภายหลังจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นอกจากนี้ กิจกรรมของโครงการฯ จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในอนาคต ตลอดจนเพิ่ม และรักษากำลังการผลิตที่มีอยู่มนปัจจุบัน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาระดับปริมาณพลังงานสำรองในประเทศ และรักษาเสถียรภาพทางด้านพลังงานอีกด้วย