xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ช่างร้ายเหลือ เลี่ยงบาลี-ขู่ใช้ ม.44ลุยสัมปทานปิโตรเลียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การออกมาสร้างกระแสเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ดังขึ้นอีกครั้งตามเป้าหมายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งก่อนนี้จำใจต้องเลื่อนการเปิดสัมปทานออกไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2558 เพื่อฟังความรอบข้างและแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยเสียก่อน

แต่กฎหมายยังแก้ไขไม่เสร็จ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2558 ที่ผ่านมาว่าจะเปิดเชิญชวนเอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิต พื้นที่ที่มีศักยภาพสูง 29 แปลง ภายในเดือนมิ.ย. 2558 นี้ เพราะเป็นห่วงล่าช้าจะประสบปัญหาการขาดแคลนก๊าซฯ

แถมยังมีคำขู่จากไอ้โม่งจากกระทรวงพลังงานด้วยว่าถ้ายังยืดเยื้อนายกรัฐมนตรีอาจต้องใช้มาตรา44 ตามรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อไม่ให้กลุ่มคัดค้านอ้าปากประท้วงอีกด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า คราวนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เปิดสัมปทาน” แต่เลี่ยงบาลีไปใช้คำว่า “เปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิต” ซึ่งเนื้อแท้ที่จริงก็ไม่ได้มีความหมายแตกต่างกัน เพราะเป็นการเชิญชวนภายใต้เงื่อนไขกฎหมายปิโตรเลียมเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไขใหม่แต่อย่างใด

นอกจากนั้น คราวนี้กรมเชื้อเพลิงฯ ยังจะทำให้ดูออกมาดีโดยจะแยกแปลงสำรวจที่มีศักยภาพสูงที่จะพบปิโตรเลียม เช่น แปลงสำรวจ G3, G5และ G6 ในอ่าวไทยให้อยู่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตโดยมีกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รองรับ ส่วนแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทยที่เหลือจะอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน เหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างเพื่อรีบเดินหน้าต่อเพราะปริมาณก๊าซที่พิสูจน์แล้วจะจริงในอีก 6-7 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนในอนาคต

อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันไทยมีการใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นเป็น 5,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ผลิตเองได้เพียง 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่เหลือนำเข้าจากพม่า 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลย์ อีก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต่อวัน นำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

การออกมาผลักดันของกรมเชื้อเพลิงฯ คราวนี้มีการปล่อยข่าวจากกระทรวงพลังงานด้วยว่า ช่วงที่เปิดเชิญชวนเอกชนเข้ามาสำรวจปิโตรเลียม 29 แปลงในเดือนมิ.ย.นี้นั้น เป็นช่วงเดียวกันกันที่ สนช.พิจารณาแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน จากมี.ค.-พ.ค. 2558โดยอ้างว่าเป็นบัญชาของนายกรัฐมนตรี หากสนช.ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องนำมาตรา 44 มาบังคับใช้เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ายื่นขอสำรวจได้โดยไม่มีการประท้วงอีก

ข่าวปล่อยข้างต้น เป็นเวลาประจวบเหมาะกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สองพระหน่อ คือ นายอลงกรณ์ พลบุตร และ นายมนูญ ศิริวรรณ ก็ออกมาเป็นลูกคู่เรียกร้องให้รัฐบาลรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ขานรับกันพอดิบพอดี โดยทั้งนางพวงทิพย์ นายอลงกรณ์ และนายมนูญ ทั้งสามเสียง ให้เหตุผลเดิมๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่าถ้าไม่รีบเปิดสัมปทานรอบใหม่ จะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานเหมือนเคยๆ

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งเหมือนเคยเข้าใจในเรื่องพลังงานของประเทศที่มีปัญหาและต้องการการปฏิรูปเสียใหม่โดยรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วน บอกว่า หลังจากที่ สปช. ได้ส่งรายงานเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21ไปยังรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจัดเวทีกลางรับฟังความคิดเห็นด้านพลังงานตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาตามข้อเสนอของภาคประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้า โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514ซึ่งรัฐบาลน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้

เหตุที่ต้องเร่งทำให้เกิดความชัดเจน นายอลงกรณ์ ให้เหตุผลว่า เพราะจะส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อรัฐบาลไทย เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ออกประกาศเชิญชวนบริษัทต่างๆ ให้มายื่นขอสิทธิสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21 แล้ว ถึงแม้ว่าจะต้องเลื่อนออกไปก็เป็นเหตุผลที่ยอมรับกันได้ แต่ไม่ใช่เลื่อนไปไม่มีกำหนด จะต้องมีความชัดเจนว่าจะเปิดสัมปทานวันไหน อย่างไร

ทำนองเดียวกับ นายมนูญ ศิริวรรณ รองประธาน กมธ.ปฏิรูปพลังงาน คนที่ 2 สปช. ที่เห็นว่า หากการเปิดสัมปทานยังถูกเลื่อนออกไป จะทำให้ไทยต้องนำเข้าพลังงานจากนอกประเทศมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยผลกระทบจะเกิดขึ้นเมื่อปริมาณก๊าซในประเทศลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเห็นนับจากนี้ไปประมาณ 5 ปี

ในความเห็นของนายมนูญ จึงสนับสนุนให้เดินหน้าสัมปทานรอบที่ 21 ไปก่อน ขณะเดียวกันก็แก้กฎหมายและจัดตั้งองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับระบบแบ่งปันผลผลิตควบคู่กันไป ถ้าพร้อมที่จะทำระบบแบ่งปันผลผลิตเมื่อไร แล้วมาดูว่าจะใช้ระบบนี้ในแปลงสัมปทานใด เช่น แปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือเอาไปใช้ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.พลังงาน ที่มาจากภาคประชาชน มีความเห็นว่าการเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ควรรอให้มีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จากสนช.ก่อน หากเปิดตอนนี้ยังอยู่ภายใต้กฎหมายปิโตรเลียมฉบับเดิมจะทำให้รัฐไม่มีอำนาจต่อรองและไม่สามารถเลือกแนวทางที่จะทำให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด และภาคประชาชนกำลังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายปิโตรเลียมควบคู่ไปกับร่างกฎหมายของสนช.จะเสร็จในเดือนพ.ค.นี้ และสนช.ควรรอร่างกฎหมายของภาคประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2558 ให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่21 ออกไปก่อน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดชัดเจนในวันนั้นว่า ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมมาศึกษารายละเอียดและตัดสินใจว่าให้ไปแก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป จะยังไม่มีการเปิดให้ยื่นสัมปทาน และไม่ใช่แต่แก้กฎหมายอย่างเดียวเท่านั้นยังมีขั้นตอนของการดำเนินการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ต้องทำ

“.... จะมีการหารือว่าจะทำอย่างไร ก็สรุปว่าแก้กฎหมายก่อน ถึงจะทำอะไรได้ โดยการแก้กฎหมายนั้น ต้องไปดูว่ามีข้อขัดข้องตรงไหน ทำได้หรือไม่ วิธีนี้ วิธีโน้น สองสามวิธี ทำได้หรือไม่ อย่างไร อะไรดีกว่าอะไร ต้องเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีก ถึงได้บอกว่าต้องมาคุยกันอีกสิ ที่ผ่านมาเพียงแต่พูดในหลักการเฉยๆ ต้องลงรายละเอียดกันอีกที คุยกันแล้วเดี๋ยวไปแก้กฎหมายเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)จบเมื่อไหร่ก็ว่ากันในขั้นตอนของการเปิดสำรวจสัมปทาน เรื่องนี้ไม่ได้มีกรอบเวลา กฎหมายเสร็จเมื่อไหร่ ก็ทำเมื่อนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.ในวันดังกล่าว

ย้ำอีกครั้งว่า นายกรัฐมนตรี พูดชัดเจนว่าไม่มีกรอบเวลา กฎหมายเสร็จ เมื่อไหร่ก็ทำเมื่อนั้น ส่วนคนที่ออกมาพูดถึงกรอบเวลา 3 เดือนนั้น คือ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวคือ หลังจากครม.มีมติดังกล่าว นายณรงค์ชัย ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่21 ที่สิ้นสุดในวันที่ 16 มี.ค. 2558เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ครั้งที่ 6ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งตามกำหนดอย่างช้าคือเดือนมิ.ย.ที่จะถึงนี้

สำหรับการแก้ไขกฎหมายนั้น รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โดยหลักการแก้ไข พ.ร.บ.เบื้องต้นจะปรับปรุงเงื่อนไขระบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพิ่มเติม ซึ่งหลังจากการแก้ไข พ.ร.บ.เสร็จสิ้น จะมีการออกประกาศให้เอกชนสามารถเข้าร่วมยื่นสำรวจและผลิตตามกรอบเวลาเดิมที่120 วัน ดังนั้น จึงคาดว่าจะสามารถเริ่มพิจารณาเปิดสัมปทานรอบที่ 21ได้ไม่เกินช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. 2558

จะเห็นได้ว่า เวลานี้ยังในกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2558คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่มีพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นเกี่ยวกับพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ เพื่อนำไปสู่การยกร่างกฎหมายดังกล่าว

โปรดติดตามต่อไปว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะยังยืนยันท่าทีเช่นเดียวกับเมื่อคราวมีมติครม.ให้ชะลอสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2558 เพื่อแก้ไขกฎหมายให้เสร็จก่อน หรือจะโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องของกระทรวงพลังงานและกลุ่มทุนที่จะให้รีบเดินหน้าต่อไป


นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น