“กพช.” เคาะ 4 แนวทางวางกรอบบริหารสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานช่วงปี 65-66 โดยเฉพาะ 2 แหล่งใหญ่เอราวัณ-บงกช ต้องเปิดทางให้รัฐเข้าไปถือหุ้นในแหล่งดังกล่าวจากที่เป็นของเชฟรอน-ปตท.สผ. แย้มอาจเป็นคลังก็ได้ขึ้นอยู่กับการศึกษา พร้อมเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐที่เหมาะสม เปิดกว้างผู้ลงทุนใหม่และเก่า ส่วนการแก้ไข กม.ปิโตรเลียมให้เสร็จภายใน 3 เดือนส่อเค้าเสร็จไม่ทัน
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ว่า กพช.ได้เห็นชอบกรอบการพิจารณากรณีสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลงในช่วงปี 2565-66 ซึ่งเป็นส่วนของแปลงสัมปทานเอราวัณ และบงกช ไว้ 4 แนวทาง ได้แก่ 1. ให้ความสำคัญการจัดหาระดับการผลิตและการลงทุนในแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าว 2. คัดเลือกผู้ดำเนินงานด้วยการเปิดกว้างให้ผู้ที่ลงทุนปัจจุบันและรายใหม่เข้ามา โดยต้องแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมซึ่งอาจเป็นระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือรับจ้างผลิต 3. เพิ่มสัดส่วนของรัฐในแหล่งนี้จากเดิมไม่มีเลย 4. ศึกษาเรียกเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐที่เหมาะสม โดยมอบกระทรวงพลังงานคณะกรรมการปิโตรเลียมนำกรอบไปศึกษาและหาข้อยุติภายในระยะเวลา 1 ปี
“แปลงที่จะหมดอายุมี 3 สัมปทานกับ 5 แปลงสำรวจ คือ แหล่งเอราวัณของ บ.เชฟรอน และคณะหมดอายุ มี.ค. 2565 และแหล่งบงกช ของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตหมดอายุ เม.ย. ปี 66 รวมกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 76% ของการผลิตทั้งหมดในอ่าวไทย ซึ่งกรอบดำเนินการนั้นก็ไม่ได้ระบุว่ารัฐที่จะเข้าไปถือเพิ่มเป็นใคร ซึ่งก็อาจจะเป็นกระทรวงการคลังก็ได้ ทั้งหมดรอผลศึกษาก่อน ส่วนสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่ได้มีการคุยในครั้งนี้เพราะได้หารือกันในสภาอยู่แล้วในเรื่องของกฎหมายต่างๆ แต่ทุกฝ่ายก็เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำต่อ” นายคุรุจิตกล่าว
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และกฎหมายรายได้ภาษีปิโตรเลียมอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งได้หารือกันในรายละเอียดต่างๆ และคงจะต้องมีการนำเสนอให้กฤษฎีกาพิจารณาก่อนเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดที่เคยกำหนดไว้ให้เสร็จภายใน 3 เดือนมีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ทัน ส่วนการเปิดสัญญาเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ก็จะต้องรอกฎหมายที่หลักการจะมีรูปแบบทั้งสัมปทาน PSC และรับจ้างผลิต
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-79 (PDP2015) หรือแผนไฟฟ้าระยะ 21 ปี นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผน PDP 2015 ฉบับใหม่ กพช.จึงมีมติเห็นชอบแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นโครงข่ายระบบท่อก๊าซฯ ประกอบด้วย 3 ระยะ วงเงินลงทุนรวม 143,000 ล้านบาท โดย กพช.เห็นชอบอนุมัติการลงทุนระยะที่ 1 ของ บมจ.ปตท.ที่ประกอบด้วย 3 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 13,900 ล้านบาท กำหนดเสร็จปี 2560-2562 ได้แก่ 1. การปรับปรุงแท่นผลิต อุปกรณ์และระบบท่อส่งก๊าซให้โรงไฟฟ้าขนอมใหม่ 2. ระบบท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลเชื่อมแหล่งอุบล (อ่าวไทย) และ 3. สถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ บนระบบท่อส่งก๊าซวังน้อย-แก่งคอย