xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานย้ำก๊าซฯ ไทยเหลือ 6 ปีครึ่ง ดันเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานกางสำรองก๊าซฯ ไทยที่พิสูจน์แล้ว (P1) เหลือแค่ 6 ปีกว่าๆ ย้ำไทยจำเป็นต้องเร่งเปิดให้เอกชนสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 แต่จะเปิดได้ มิ.ย.นี้หรือไม่ต้องรอแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมก่อน พร้อมกับเร่งบริหารจัดการแหล่งสัมปทานเอราวัณ-บงกช ที่จะหมดอายุปี 2565-2566 ภายใน 1 ปี



 
นายคุรุจิต นาครทรรพ รักษาการปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า มีความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศ ทั้งการเปิดสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการบริหารจัดการสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุปี 2565-66 เนื่องจากพบว่าปริมาณก๊าซฯ เริ่มลดลง โดยสิ้นปี 2557 พบว่าปริมาณสำรองก๊าซฯ ที่พิสูจน์ได้ (P1) เหลือเพียง 6 ปีกว่า และเมื่อรวมกับสำรองก๊าซฯ ที่คาดว่าจะพบ(P2) เหลือใช้เพียง 13 ปี ขณะที่การใช้ก๊าซฯ ปัจุบันอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ประมาณ 1.8 ล้านล้าน ลบ.ฟ.ต่อปี)

อย่างไรก็ตาม การเปิดให้เอกชนสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบ 21 ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะเปิดได้เมื่อใด และจะทันกับ มิ.ย. 58 ที่เคยวางเป้าหมายไว้หรือไม่ เนื่องจากต้องรอให้การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสียก่อน โดยในขณะนี้การแก้ไขกฎหมายนี้ทาง ครม.ได้เห็นชอบและให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียด ซึ่งรูปแบบใหม่จะมีการเปิดให้ใช้ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) แต่ที่สุดจะเป็นแบบใดเรื่องนี้ ครม.จะเป็นผู้ตัดสินใจ ทางกระทรวงพลังงานคงแค่ได้เสนอแนะเท่านั้น

“ความจริงแล้วต้องเร่งเปิดสัมปทานตั้งแต่ปี 2555 แต่ก็ล่าช้ามาโดยตลอด ซึ่งหากเร่งสำรวจจะได้รู้ว่าจะต้องบริหารจัดการหรือนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เท่าใด แม้ว่าการเปิดสัมปทานรอบ 20 มีพบเพียง 1 แปลง สำรองเล็กมาก 5 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องเร่งหาเพราะสำรองเราเล็กมากเพื่อลดนำเข้าให้น้อยสุดเท่าที่ทำได้” นานคุรุจิตกล่าว

ปัจจุบันไทยผลิตก๊าซฯ ในประเทศ 78% (3,750 ล้านลูกบาศ์ฟุต/วัน) นำเข้าจากพม่า 19.% (1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน) และนำเข้า LNG 3% (200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน) ขณะที่สัมปทานแหล่งใหญ่คือเอราวัณ ของเชฟรอน-บงกชของ ปตท.สผ. จะหมดอายุในปี 2565-2566 รวม 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือการผลิตของแหล่งนี้คิดเป็น 59% ของกำลังผลิตในอ่าวไทย รวมแหล่งพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซียหรือ JDA ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องทำอย่างไรให้การลงทุนใน 2 แหล่งนี้มีต่อเนื่องเพราะเมื่อแปลงสัมปทานหมดอายุลงและตามกฎหมายก็ต่ออายุไม่ได้แล้วนั้นก็ต้องชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นเอกชนจะไม่ลงทุนเจาะหลุมต่อซึ่งจะทำให้สำรองก๊าซฯ จาก 2 แหล่งทยอยลดลงในปี 2560 และจะกระทบหนักปี 2565 ที่อาจหายจนเหลือเพียง 300-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่วนที่หายต้องทดแทนด้วยการนำเข้า LNG ที่ราคาแพง หากคิดที่ราคา 15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 85 สตางค์ต่อหน่วยในปี 2565

“แหล่งสัมปทานหมดอายุ กำหนดต้องแก้ไขกฎหมายให้รัฐเข้าไปถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น อาจจะเป็นกระทรวงการคลังหรือบริษัทที่รัฐถือหุ้นก็ต้องพิจารณาให้เสร็จใน 1 ปี ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายด้วย รวมไปถึงการแก้ไขสัญญาเรื่องราคาก๊าซ และหากจะแก้ไขโดยมุ่งหวังรัฐได้ประโยชน์สูงสุดอาจจะกระทบต่อผู้บริโภคราคาก๊าซขยับขึ้น ยกตัวอย่างที่มาเลเซียเมื่อสัญญาเอสโซ่ เชลล์หมด ก็ให้บริษัทในเครือปิโตรนาสถือหุ้น50%” นายคุรุจิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น