xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.พลังงาน สรุปผลศึกษา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เสนอ สนช.12 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ว่า คณะกรรมาธิการพลังงาน ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 3 คณะ เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีระบบสัมปทานบริหารจัดการปิโตรเลียมเพียงระบบเดียว จึงได้มีการศึกษาระบบอื่นๆ ได้แก่ ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ซึ่งรัฐสามารถควบคุมรายละเอียดการดําเนินการได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งมีส่วนร่วมในการควบคุมปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมาได้ตามสัดส่วนที่เป็นเจ้าของ แต่จะต้องตั้งองค์กรมหาชนหรือที่เรียกว่า "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" เพื่อรับงานกำกับดูแล เช่นเดียวกับมาเลเซียที่มีบริษัทปิโตรนาส ส่วนระบบจ้างผลิต จะเป็นการจ้างให้บริษัทผลิตแล้วจ่ายเป็นค่าจ้างให้บริษัทนั้นๆ โดยรัฐจะได้ผลประโยชน์เต็มที่ และระบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ให้รัฐและเอกชนจับมือกันดำเนินการด้านปิโตรเลียม

ส่วนผลการศึกษาเรื่อง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลสำคัญใน 4 ประเด็น คือ 1.ค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทน ภาษีเงินได้และภาษีซ้อน และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้ ซึ่งเห็นว่ามียังมีช่องโหว่หลายประการที่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน เช่น การเก็บภาษีภาคหลวงควรให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างกรมสรรพกรเป็นผู้จัดเก็บ เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบไหนจะดีที่สุดก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มี แต่ละระบบมีข้อดีข้อเสียและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ส่วนตัวเห็นว่า การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนน่าจะเหมาะสมกับประเทศไทย เพราะลดเรื่องความเสี่ยงและลดภาระรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ คณะกรรมาธิการพลังงานจะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่สโมสรนายทหารอากาศ บางซื่อ จากนั้นคณะกรรมาธิการฯ จะนำข้อเสนอและผลการศึกษาเบื้องต้นสรุปเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม สนช.ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาก่อนส่งให้รัฐบาลไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและใช้เป็นข้อมูลการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น