xs
xsm
sm
md
lg

2 กมธ.ปฏิรูปพลังงานจี้รัฐบาลเร่งเปิดสัมปทานรอบ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า หลังจากที่ สปช.ได้ส่งรายงานเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไปยังรัฐบาล โดยรัฐบาลจัดเวทีกลางรับฟังความคิดเห็นด้านพลังงาน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาตามข้อเสนอของภาคประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้าของเรื่องนี้ โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ทั้งที่รัฐบาลน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้แล้ว เพราะส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อรัฐบาลไทย เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ออกประกาศเชิญชวนบริษัทต่างๆ ให้มายื่นขอสิทธิสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21 แล้ว ถึงแม้ว่าจะต้องเลื่อนออกไปก็เป็นเหตุผลที่ยอมรับกันได้ แต่ไม่ใช่เลื่อนไปไม่มีกำหนด ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเปิดสัมปทานวันไหน อย่างไร และไม่ควรโยนให้รัฐบาลต้องตัดสินใจอีก

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าการเปิดสัมปทานรอบใหม่จะต้องเดินหน้า เพราะความมั่นคงด้านพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ และต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานคนที่ 2 สปช. กล่าวว่า หากการเปิดสัมปทานยังถูกเลื่อนออกไป จะทำให้ไทยต้องนำเข้าพลังงานจากนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หากเปิดสัมปทานได้เร็วเท่าไร ยิ่งดี เชื่อว่า คสช.รู้ดีว่าความเสี่ยงของประเทศมีมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องรีบตัดสินใจ เพียงแต่ว่าขณะนี้กระแสคัดค้านของภาคประชาชนค่อนข้างแรง เรียกร้องให้มีระบบหรือทางเลือกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีการพูดถึงระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เพราะฉะนั้นคงจะดูว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายให้มีทางเลือกได้หรือไม่ เชื่อว่าถ้ามีความชัดเจนก็คงจะเร่งรัดให้แก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เห็นว่ามีการตอบสนองข้อเรียกร้องของภาคประชาชน และจะได้เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมต่อไป

นายมนูญ เห็นว่ารอบที่ 21 ควรจะเดินหน้าใช้ระบบสัมปทานไปก่อน ขณะเดียวกัน เราก็แก้ไขกฎหมาย และหาทางจัดตั้งองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับทำระบบแบ่งปันผลผลิตควบคู่กันไปด้วย ถ้าพร้อมที่จะทำระบบแบ่งปันผลผลิตเมื่อไร แล้วมาพิจารณาดูว่าจะใช้ระบบนี้ในแปลงสัมปทานใด เช่น แปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือเอาไปใช้ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา”นายมนูญ กล่าว และว่า สำหรับภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตนมีข้อสังเกตว่า แต่ละคนที่ออกมารณรงค์คัดค้าน ไม่มีใครที่มีประสบการณ์ตรงในธุรกิจน้ำมัน หรือในอุตสาหกรรมการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมเลย เป็นเพียงการนำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาวิเคราะห์กันเองทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น