xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! หลัง “ปิยสวัสดิ์” ขู่มติ กพช.ขีดเส้น 1 ปี ศึกษาต่ออายุสัมปทาน “เอราวัณ-บงกช”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน
ตามคาด! หลัง “ปิยสวัสดิ์”ขู่! “คุรุจิต” เผยมติ กพช.สั่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษา ขีดเส้น 1 ปี ผลสรุปแนวทางบริหารสัมปทานปิโตรเลียม เน้นผลการต่ออายุสัมปทาน “แหล่งเอราวัณ-บงกช” ที่จะหมดอายุ สัมปทานในปี 2566 พร้อมกัน 4 แนวทาง

จากกรณีวานนี้ (13 พ.ค.) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ออกมาเปรยว่า รัฐจะสูญรายได้ 7.15 แสนล้านบาท รวมถึงค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น 90 สตางค์ต่อหน่วย หากสิ้นปี 2558 นี้รัฐบาลไม่มีความชัดเจนต่ออายุสัมปทาน แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและแหล่งก๊าซบงกช

วันนี้ (14 พ.ค.) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2558 นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ และบงกช ที่อ่าวไทย ที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565-2566 ใน 4 แนวทาง คือ 1. การรักษาความต่อเนื่องระดับการผลิตก๊าซไม่ให้ลดต่ำลง 2. ให้มีการคัดเลือกผู้ดำเนินการต่อเนื่องหลังหมดอายุ โดยจะมีการเปิดกว้างทั้งรายใหม่และรายเก่า 3. ต้องเพิ่มสัดส่วนของรัฐบาลในการดำเนินการของภาคเอกชนเพื่อให้รัฐได้รับประโยชน์มากขี้น และ 4. ศึกษาการเรียกเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐในแต่ละรูปแบบ ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและศึกษารายละเอียดตามกรอบใน 4 แนวทางให้ได้ข้อยุติภายใน 1 ปี

“ในส่วนของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและแหล่งก๊าซบงกช มีกำลังการผลิตรวม 2,100-2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 76 ของการผลิตในอ่าวไทย ซึ่งหากรัฐยังไม่มีแนวทางชัดเจนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอาจส่วผลให้ผู้ได้รับสัปทานจะไม่มีการลงทุนเพิ่มก่อนที่จะหมดอายุการสัมปทาน”

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการปรับลดปริมาณสำรองน้ำมันตาม พ.ร.ก.ป้องกันแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เหลือสำรองทั้งสิ้น 6-7% จากเดิม 12% หรือจาก 43 วันเหลือ 24-25 วัน เนื่องจากช่วงนี้ไม่มีความจำเป็น เพราะสถานการณ์น้ำมันดิบในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการลดสำรองดังกล่าวผู้ค้าทุกรายจะได้รับประโยชน์ในด้านต้นทุนที่ลดลงเท่าเทียมกัน ไม่เพียงแต่เฉพาะ บมจ.ปตท.(PTT) เท่านั้น

ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 หรือแผน PDP 2015 ซึ่งเป็นแผนจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว โดยปรับลดค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงเหลือร้อยละ 3.94 จากเดิมขยายตัวร้อยละ 4.41 รวมทั้งให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งการจัดทำแผน PDP 2015 นี้ ได้พิจารณาจากหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ด้านหลัก คือ

1) ด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) โดยคำนึงถึงการกระจายแหล่งและชนิดเชื้อเพลิง เพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 65 ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 40 ในปี 2579 โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน ถ่านหินสะอาด และการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน ในขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของปริมาณความต้องการไฟฟ้าสูงสุด

2) ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะโลกร้อนลงกว่าร้อยละ 37 ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2556 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มศักยภาพ ผ่านมาตรการต่างๆ ไปสู่ 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ อุตสาหกรรม อาคารธุรกิจ ที่อยู่อาศัย และภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 89,672 ล้านหน่วย (GWh) ในปี 2579

และ 3) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) โดยกำหนดให้ราคาค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสม โดยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและบริหารระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนน้อยที่สุด ทั้งนี้คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของแผน PDP ฉบับนี้อยู่ที่ 4.587 บาท/หน่วย

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผน PDP 2015 ฉบับใหม่ ที่ประชุมฯ จึงมีมติเห็นชอบแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โครงการลงทุนในระยะที่ 1 ของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ โดยมอบหมายให้ บมจ.ปตท.เป็นผู้ดำเนินการ จำนวน 3 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 13,900 ล้านบาท และรับทราบในหลักการสำหรับการลงทุนในระยะที่ 2 และ3 ของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ (ส่วนที่1) และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซ LNG (ส่วนที่ 2) ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ บมจ.ปตท.ไปศึกษารายละเอียดเสนอต่อ กบง. เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนนำเสนอต่อ กพช.ต่อไป

พร้อมกันนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดภาวะปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาดและสามารถจัดหาได้ง่ายขึ้น ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ที่ประชุมฯ จึงได้เห็นชอบในหลักการให้ลดอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายให้เหลือจำนวนวันสำรองประมาณ 25 วัน จากเดิม 43 วัน โดยแบ่งเป็นน้ำมันดิบร้อยละ 6 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 1 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนเพราะทำให้ต้นทุนในการสำรองของประเทศลดลงและคาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง 9 สตางค์ต่อลิตร

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้เลื่อนกำหนดวันออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ FiT (Feed-in Tariff) ภายใต้กลไกการแข่งขันด้านราคา จากเดิมภายในไตรมาสแรกของปี 2558 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2558 โดยไม่รวมพลังงานน้ำและขยะในการประกาศรอบนี้ และสำหรับพลังงานน้ำและขยะจะไม่ดำเนินการด้วยกลไกการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และควรดำเนินการส่งเสริมเป็นการเฉพาะตามนโยบายรัฐบาล และยังเห็นชอบขยายระยะเวลาการจำหน่ายหุ้นของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ให้แก่ประชาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกไปเป็นภายในปี 2558 โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเจรจากับ SPRC เพื่อกำหนดระยะเวลาเข้าจดทะเบียนและจำหน่ายหุ้นที่เหมาะสม และดำเนินการแก้ไขสัญญาฯ ต่อไป


แหล่งก๊าซบงกช (แฟ้มภาพ)
ฝ่ายเลขานุการที่ประชุมจากกระทรวงพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น