ตาก - น้ำมันเชื้อเพลิงตกค้างชายแดนแม่สอดร่วม 2 ล้านลิตร หลัง ปนม.ตรวจสอบ ขณะที่เมียวดีเจอปัญหาขาดแคลนหนัก ราคาพุ่งจากปกติไม่ต่ำกว่าลิตรละ 10 บาท จนคนพม่าแห่นำรถยนต์ข้ามฝั่งมาเติมในไทย ขณะที่พ่อเมืองตากทำหนังสือหารือกรมธุรกิจพลังงาน ขอผ่อนผันขนส่งน้ำมันแบบเดิมชั่วคราว คาดพรุ่งนี้ (23 มี.ค.)ได้คำตอบ
วันนี้ (22 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ที่ฝั่งเมียวดี ประเทศพม่า ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งดีเซล เบนซิน มีเพียงปั้มเล็กๆไม่กี่แห่งที่ยังพอมีขาย แต่ราคาแพงจากปกติไม่ต่ำกว่าลิตรละ 10 บาทขึ้นไป ทำให้ชาวพม่าพากันนำรถเก๋งและรถบรรทุกขนาดเล็กข้ามฝั่งมาเติมน้ำมันในฝั่งไทยกันเป็นจำนวนมาก
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ ปนม. ได้เข้าตรวจสอบ-สกัดรถบรรทุกที่ขนน้ำมันส่งออกทางชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด ไปยัง จ.เมียวดี บริเวณท่าเรือริมน้ำเมย ท่าที่ 10 บ้านท่าอาจ หมู่ 3 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด กว่า 20 คัน และท่าอื่นที่กำลังจะถ่ายน้ำมันลงท่อ ส่งข้ามแม่น้ำเมยไปเมียวดี รวมกว่า 40 คัน ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นการส่งออกผิดช่องทาง ทั้งที่มีการปฏิบัติกันมานาน เนื่องจากสะพานมิตรภาพไทย-พม่าไม่สามารถรองรับน้ำหนักรถถบรรทุกขนาดใหญ่ได้
ที่ผ่านมาการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งเบนซิน-ดีเซลไปยัง จ.เมียวดี วันละ 600,000-800,000 ลิตร รถส่วนใหญ่จะเป็นรถบรรทุกพ่วง แต่ละคันบรรทุกน้ำมันประมาณ 45,000 ลิตร ขณะนี้มีรถน้ำมันถูกกักกันที่ชายแดนกว่า 40 คัน น้ำมันกว่า 2 ล้านลิตร
ขณะที่นักธุรกิจ พ่อค้า ผู้ประกอบการได้ทำหนังสือถึงนายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เพื่อขอให้หาทางออกในเรื่องดังกล่าวซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ทำหนังสือหารือกรมธุรกิจพลังงานเพื่อขอผ่อนผันการขนส่งน้ำมันแบบเดิมชั่วคราวไปก่อนเพราะขณะนี้ผลกระทบในวงกว้างทำให้มูลค่าการค้าชายแดนลดลง และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ล่าสุดนายสมชัยฐ์ ละผู้บริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) ได้ประสานกับนายอูหล่วย กั่วอู ผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี เป็นการส่วนตัว เพื่อเจรจาปรับความเข้าใจร่วมกันว่า วันพรุ่งนี้ (23 มี.ค.) ทุกอย่างน่าจะชัดเจนขึ้น อาจจะมีการให้ระบายสินค้าน้ำมันออกไป เพื่อลดผลกระทบ จากนั้นให้เริ่มต้นดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องชัดเจน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามแนวชายแดน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย