xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงยันสัมปทานกับ PSC ผลตอบแทนให้รัฐไม่ต่างกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงแจงกรณีข้อเสนอให้ใช้กองทุนน้ำมันฯ ลงทุนสำรวจผิดวัตถุประสงค์ แถมสำรวจไม่เจอใครรับผิดชอบ ขณะที่ระบบสัมปทานและ PSC ผลตอบแทนที่เอกชนจะเสนอให้รัฐสุดท้ายไม่ต่างกัน ย้ำแปลงอ่าวไทยที่ประกาศแม้จะอยู่รายล้อมแปลงเดิมก็ไม่ได้หมายความว่าจะเจอปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์เสมอไป
 

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภายใต้ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส ไม่ให้ผลประโยชน์เข้ารัฐที่เพียงพอ และได้เสนอให้รัฐดำเนินการจ้างสำรวจโดยใช้เงินลงทุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทานนั้น กรณีการใช้เงินกองทุนน้ำมันลงทุนเพื่อจ้างสำรวจฯ จะเป็นการผิดวัตถุประสงค์ เพราะกองทุนน้ำมันตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดฯ คือใช้เป็นกลไกของรัฐในการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศจากกรณีที่ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนน้อยที่สุด

“นอกจากจะเป็นการผิดวัตถุประสงค์แล้ว หากรัฐสำรวจแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นการสูญเงินโดยเปล่าประโยชน์ ตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ ส่วนกรณีที่ให้ผู้ลงทุนเสนอผลตอบแทนให้รัฐในระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ให้ผู้ลงทุนเสนอผลประโยชน์แก่รัฐในระบบสัมปทานเลย” นางพวงทิพย์กล่าว

นอกจากนี้ แม้รัฐจะมีข้อมูลที่ได้จากผู้รับสัมปทานจากการออกสัมปทานในหลายรอบที่ผ่านมา แต่ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณา เป็นข้อมูลที่บอกได้เพียงลักษณะของโครงสร้างทางธรณีวิทยา และความน่าจะเป็นว่าจะมีปิโตรเลียมอยู่หรือไม่เท่านั้น ยังขาดการพิสูจน์ทราบโดยวิธีการขุดเจาะ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงและมีความเสี่ยงในกรณีขุดแล้วไม่พบ และแปลงในอ่าวไทยที่ออกประกาศเชิญชวน แม้จะอยู่รายล้อมแปลงเดิมแต่ไม่ได้หมายความว่าจะสำรวจพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์เสมอไป ปริมาณทรัพยากรที่แจ้งไว้นั้นเป็นตัวเลขที่ได้จากการประเมินทางวิชาการ ยังไม่สามารถนำมาตีเป็นมูลค่าได้ ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน และมีความเสี่ยงอยู่มาก กว่าจะพิสูจน์ทราบว่ามีอยู่จริง และนำขึ้นมาได้เท่าไร

“เมื่อค้นพบ มีการพัฒนา จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้รัฐตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย คือ ค่าภาคหลวง เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม นอกจากนั้น ผู้ประมูลยังสามารถแข่งขันกัน แสดงเจตจำนงยื่นซองประมูลให้ Signature Bonus มากกว่าขั้นต่ำที่รัฐกำหนดไว้ก็สามารถทำได้ ซึ่งใน Thailand III Plus ยังคงมีการเก็บ Production Bonus หากมีการผลิตสะสมตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด ดังนั้นรัฐจะได้ประโยชน์โดยรวมมากกว่าบริษัทอยู่แล้ว ซึ่งหากอ้างอิง Thailand III รายได้รัฐจากการจัดเก็บมา รัฐมีสัดส่วนรายได้ต่อเอกชนถึง 72:28 ซึ่งก็ไม่ได้ต่ำแต่อย่างใด” นางพวงทิพย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น