xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานเตรียมยกเลิกประกาศสัมปทานฯ รอบ 21 รอแก้ กม.ก่อนเดินหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานเตรียมประกาศยกเลิกประกาศสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หลังจากที่ประกาศขยายเวลายื่นเอกสารสำรวจฯ สิ้นสุด 16 มี.ค.นี้ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขกฎหมายก่อนเดินหน้าใหม่ที่คาดหวังจะเปิดใหม่ได้ช่วง ต.ค. 58 นี้ ขณะที่นักลงทุนแห่สอบถามกรมเชื้อเพลิงฯ อื้อ

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เลื่อนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อนเพื่อให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ครั้งที่ 6 ให้เสร็จภายใน 3 เดือน ดังนั้นเร็วๆ นี้กระทรวงพลังงานเตรียมออกประกาศยกเลิกประกาศการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 16 มีนาคม

ทั้งนี้ หลักการแก้ไข พ.ร.บ.เบื้องต้นจะปรับปรุงเงื่อนไขระบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพิ่มเติม ซึ่งหลังจากการแก้ไข พ.ร.บ.เสร็จสิ้นจะมีการออกประกาศให้เอกชนสามารถเข้าร่วมยื่นสำรวจและผลิตตามกรอบเวลาเดิมที่ 120 วัน ดังนั้นจึงคาดว่าจะสามารถเริ่มพิจารณาเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ได้ไม่เกินช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเลื่อนเปิดสัมปทานฯ ครั้งนี้ออกไปจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนระดับหนึ่ง

“เชื่อว่านักลงทุนที่ยื่นซองประมูลเข้ามาแล้ว 1 รายคาดว่าจะไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ เนื่องจากเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีข้อพิพาทระหว่างภาครัฐกับประชาชนในขณะนี้” รมว.พลังงานกล่าว

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนสอบถามเข้ามาจำนวนมากหลังจากที่ทราบข่าวถึงการให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อนเพื่อรอการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เนื่องจากผู้ที่จะยื่นสิทธิ์สัมปทานฯ ได้เตรียมเอกสารต่างๆ ไว้แล้ว ซึ่งตามประกาศจะมีระยะเวลาของเอกสารหลักประกันคำขอสัมปทานซึ่งกำหนดระยะเวลาชัดเจนแน่นอน

“ขณะนี้มีเอกชน 1 รายได้ยื่นขอสัมปทานแล้ว และมีอีกหลายรายเตรียมจะยื่นภายในวันที่ 16 มีนาคมนี้ แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีมีดำริชะลอก็ต้องรอความชัดเจน แต่เอกสารประกอบคำขอมีอายุครบกำหนดเวลา เช่น หนังสือบริคณห์สนธิขอคัดไว้ไม่เกิน 3 เดือน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารมีระยะเวลาค้ำประกันไม่น้อยกว่า1 ปี” นางพวงทิพย์กล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ เองก็ต้องรอความชัดเจนว่าที่สุดแล้วการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จะเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ในบางมาตราเพิ่มเติม หรือจะเป็นการยกร่างกฎหมายใหม่ให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ซึ่งหากแก้ไขบางมาตราก็จะใช้เวลาไม่มากนัก แต่หากเป็น PSC จะต้องยกร่างกฎหมายใหม่ที่กรมฯ เองมองว่าน่าจะใช้เวลาเกิน 3 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น