รองนายกฯ เผยแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมแค่บางมาตรา ให้กระทรวงพลังงานทำ แต่ต้องรับฟังข้อคิดเห็นของกรรมการร่วมแล้วจึงนำเข้าที่ประชุม ครม. จากนั้นให้ กฤษฎีกาดู แย้มอาจมีหลายสูตรใช้สัมปทาน อาจให้คนกลางมาร่วมดู หวังเดินหน้ารวดเร็ว
วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแก้ไขกฎหมายก่อนที่จะเดินหน้าดำเนินการด้านพลังงานว่า จากการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องพลังงานเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่เป็นอย่างสงบ เรียบร้อย โดยข้อเสนอเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามเรื่องดังกล่าวขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการที่ชัดเจนก่อนที่จะมีการเดินหน้าต่อไป โดยเป็นการแก้ไขในบางมาตราเท่านั้น ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานก็ต้องรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นแล้วจึงนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. จากนั้นจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ดูรายละเอียดในข้อกฎหมายก่อนจะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกเป็นกฎหมาย
นายวิษณุกล่าวว่า ทั้งนี้จะประสานไปยัง สนช.ว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นเพราะทุกคนรอให้มีกติกาที่ชัดเจนออกมา แต่เนื้อหาจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่คณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นว่าอยากได้คำตอบอะไรก่อนที่จะเปิดการประมูลเพราะในวันที่ 20 ก.พ. มีการพูดถึงข้อดีข้อเสียของการเปิดสัมปทานหรือการแบ่งผลประโยชน์ ซึ่งตนก็ได้ยินผู้ที่รู้พูดว่า ในกฎหมายดังกล่าวอาจจะเขียนไว้หลายสูตร แล้วถึงเวลาจึงจะเลือกใช้ อย่าคิดว่าใช้เพียงการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แต่อาจจะเผื่อไว้สำหรับรอบอื่นๆ ด้วย
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีคนกลางเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ต้องให้คณะกรรมการร่วมชุดดังกล่าวทำงานไปก่อน และอาจจะมีคนกลางเข้ามาร่วมดู แต่ถึงอย่างไรร่างกฎหมายดังกล่าวก็ต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบก่อนอยู่แล้ว และหวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ส่วนจะเป็นไปตามความคาดหมายที่ตั้งไว้หรือไม่นั้น ตนไม่สามารถตอบได้