xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หักดิบนำเข้าน้ำมันปาล์ม ตกลง “หลวงลุงกำนัน” จะเป็นพวกเดียวกับใคร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียบร้อยโรงเรียน “รัฐบาลบิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้วสำหรับการนำเข้าปาล์มน้ำมัน 50,000 ตัน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา โดยไม่สนว่าสต็อกน้ำมันปาล์มที่อ้างๆ กันว่าขาดแคลนนั้นจริงแท้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ ราคาปาล์มดิบที่พอจะสร้างรายได้ของพี่น้องเกษตรกรก็ร่วงลงทันที ขณะที่ราคายางพาราก็ยังโงหัวไม่ขึ้น เรื่องนี้เกษตรกรชาวสวนยางและชาวสวนปาล์มจึงสงสัยอย่างยิ่งไม่รู้ว่ารัฐบาลบิ๊กตู่จะซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้ชาวบ้านกันไปถึง ไหน

ถามจริงจากปากเกษตรกรชาวสวนยางอีกครั้งว่า สต็อกน้ำมันปาล์มมี เท่าไหร่กันแน่ ขาดแคลนแน่หรือ

ถามอีกครั้งหากรู้อยู่แล้วว่า ช่วงนี้ของทุกปีมีโอกาสที่จะไม่พอใช้ทำไมไม่รู้จักเก็บสต็อกในยามที่มีผลผลิตล้นเกิน และบริหารไว้ใช้ในยามที่ผลผลิตลดน้อยลง ทำไมจ้องแต่จะนำเข้าท่าเดียว

ถามจริงที่หาเหตุอยากนำเข้ามาทุกรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวลานี้ ก็เพราะว่าส่วนต่างราคาน้ำมันปาล์มจากมาเลย์และอินโดนีเซีย ถูก กว่าไทยถึงสิบกว่าบาท และส่วนต่างนี้มีผู้ได้ประโยชน์แบบหวานๆ มาตลอด ใช่หรือไม่

ชาวประชาที่เชียร์บิ๊กตู่ซึ่งเสียสละความสุขส่วนตัวมายึดอำนาจบริหารประเทศคงเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เรื่องนี้บิ๊กตู่เห็นพ้องว่าต้องนำเข้าปาล์มน้ำมัน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์กักตุนอย่างที่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้น แต่โลกความเป็นจริง นโยบายใดๆ ของรัฐบาลย่อมส่งผลให้มีฝ่ายที่ได้ประโยชน์และฝ่ายที่เสียประโยชน์ทั้งนั้น

การนำเข้าน้ำมันปาล์มจึงเป็นของขวัญที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ซึ่ง จะว่าไปแล้วก็เป็นฐานมวลชนที่รักชอบพออยู่กับ “หลวงลุงกำนัน”ไม่อยากได้จาก “ลุงตู่” แต่ถูกยัดเยียดให้ ถึงแม้มติครม.จะรับประกันราคารับซื้อผลิตผลปาล์มดิบในราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อกก.แต่เอาเข้าจริงจะถูกกดให้ต่ำลงอีก หรือไม่ใคร่จะไปรับผิดชอบดูให้ถ้วนทั่ว เมื่อเทียบกับว่าตอนนี้ชาวสวนปาล์มขายได้ราคา 6 บาทกว่าต่อกก.อยู่แล้ว

พูดกันง่ายๆ ภาษาชาวบ้านงานนี้เคราะห์ซ้ำกรรมซัดแท้ๆ ราคายางก็ต่ำเตี้ย ติดดิน ตกลงถึง 3 โลร้อย จะหันมาพึ่งปาล์มหน่อยก็มีเรื่องต้องถูกกดราคาให้ต่ำลงอีก เสียโอกาสแท้ๆ

ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ว่าไม่มีอย่างที่บิ๊กตู่ออกหน้ารับไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถ้าใครไปหลงเชื่ออย่างนั้นก็เด็กอมมือไปหน่อย

อยากรู้ไหมว่าใครได้ประโยชน์ ฟังจากปากของเธอคนนี้

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า(อคส.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมครม.ให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ 5 หมื่นตัน ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท จะใช้เวลาดำเนินการให้เสร็จไม่เกินกลางเดือนก.พ.นี้ โดย อคส.เจรจาต่อรองกับผู้ค้าน้ำมันปาล์มที่มาเลเซียแล้วทำให้ได้ราคาดี สามารถนำมาขายให้กับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมปาล์มน้ำมัน ใน ราคา ลิตรละ 27.50-28.00บาท ซึ่งเป็นราคาที่เอกชนรับได้ และสามารถผลิตขายปลีกไม่เกินราคาควบคุมของกรมการค้าภายใน ที่ลิตรละ 42 บาท

โปรดฟังอีกครั้ง เจรจากันไว้แล้วได้ราคาดีเสียด้วย และมีส่วนต่างที่ผู้ประกอบการจะได้จากราคานำเข้ากับราคาขายปลีกให้ผู้บริโภค เท่าไหร่? ลองคิดคำนวณดู ....ช่างเยี่ยมยอดอะไรอย่างนี้

และฟังจากเธอคนนี้ นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย แจ้งในที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2558 ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศจำนวน 40,000 - 50,000 ตัน เพราะสต็อกปาล์มมีเพียง 113,000 ตัน ซึ่งตึงตัวมากเมื่อเทียบกับปริมาณสต็อกในระดับปลอดภัย 200,000 ตัน ขณะที่มีความต้องการใช้อยู่ 130,000 ตันต่อเดือน และเป็นการนำเข้าในระยะสั้นครั้งเดียวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

เธอยังรับประกันเสร็จสรรพว่าการนำเข้าน้ำมันปาล์มครั้งนี้จะไม่กระทบ ต่อเกษตรกรเพราะได้ชี้แจงแล้ว

เช่นเดียวกับพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ที่ยืนยันว่าได้กำหนดให้โรงสกัดต้องเข้าไปรับซื้อปาล์มดิบจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ขณะที่โรงกลั่นต้องซื้อน้ำมันปาล์มจากโรงสกัดกิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งจะทำให้ทั้งผู้ผลิตและเกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบ

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมีการเคลื่อนไหวคัดค้านการนำเข้าน้ำมันปาล์มครั้ง นี้เพราะจะได้รับผลกระทบจากทั่วทุกหัวระแหงในพื้นที่ภาคใต้

และที่น่าอัศจรรย์ก็คือหลังจากพล.อ.ประวิตร ฟังข้อมูลจากที่ประชุมได้เห็นคล้อยตามและตัดสินใจเห็นชอบทันที จากนั้นเช้ารุ่งขึ้นวันที่ 20 ม.ค. 2558 ก็นำเข้าสู่ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบผ่านฉลุยทันใจไวดีแท้สำหรับการแก้ปัญหาให้นักธุรกิจเอกชนแต่สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มทันทีเช่นกัน เพราะราคาปาล์มดิบร่วงจาก 6 บาทกว่าต่อกก. เหลือเพียง 5 บาทกว่าทันควัน

ผลงานอันน่าประทับใจคราวนี้ บริษัทเอกชนผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม น่าเอา ของขวัญเลอค่าไปมอบให้กับประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมัน แห่งชาติ ที่ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม และบรรดาข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์และผู้บริหาร อคส.ที่เล็งการณ์ไกลปัดเป่าปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มให้สำเร็จลุล่วง ผู้บริโภคน้ำมันปาล์มก็ไม่ต้องห่วงกังวลว่าต้องไปต่อคิวแย่งซื้อน้ำมันปาล์มมากักตุนเพราะดันไปหลงเชื่อกระแสข่าวลวงน้ำมันปาล์มจะขาดตลาดเหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ครม.จะอนุมัติเรื่องนี้ไปแล้ว แต่รู้ยังว่าเกษตรกรเขาคัดค้านไม่เห็นด้วยยังไง สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ระงับการนำเข้าไว้ชั่วคราวจนกว่าจะศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพราะมีกลิ่นตุๆ ด้วยว่ากรมการค้าภายในเป็นผู้ดูแลและบริหารสต็อกน้ำมัน ปาล์มอย่างไรไม่ทราบถึงทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มลดลงเหลือ 7 หมื่นกว่าตันจากตัวเลขเมื่อเดือนต.ค. 2557 มีสต็อกอยู่ที่ 3.4 แสนตัน หายไปถึง 2.7 แสนตันซึ่งถือว่าเยอะมากจึงอยากให้ “บิ๊กตู่” ลองทบทวนตรวจสอบใหม่อีกสักครั้ง และเป็นคำถามถึงที่มาว่าน้ำมันปาล์มขาดแคลนจริงหรือไม่ หรือมีใครกำลังเล่น กลตัวเลขอีกแล้ว

สำหรับน้ำมันปาล์มขวดที่ขายอยู่ในท้องตลาดก็ยังมีขายปกติ ไม่มีการ ขาดแคลน ทำไมกรมการค้าภายใน จึงเสนอให้นำเข้าตั้ง 5 หมื่นตัน เพราะว่าอีกประมาณ 1-2 เดือนปาล์มทลายสุกของเกษตรกรจะเริ่มทยอยออกขาย

บรรดาแกนนำเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ยังมีข้อกังขาไม่เลิกว่าการ ที่คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ เร่งจัดชื้อในครั้งนี้อาจจะมีนัย อะไรอยู่ เพราะราคาปาล์มน้ำมันดิบจากต่างประเทศขณะนี้อยู่ที่ลิตรละ 18-19 บาท แต่เมื่อชื้อเข้ามาสำรองราคาจะสูงถึงลิตรละ 26 กว่าบาท ซึ่งส่วนต่างของเม็ดเงินตรงนี้ใครได้ประโยชน์ และอยากให้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมัน แห่งชาติ ออกมาชี้แจงให้เกษตรกรได้เข้าใจให้มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังสอนมวยด้วยการเสนอการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันขาด ตลาด ให้แก่รัฐบาลว่า อยากให้กระทรวงพาณิชย์ สร้างไซโล หรือโกดังเก็บน้ำมัน ปาล์มสำรองให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสำรองน้ำมันปาล์มที่จะออกสู่ตลาดของ เกษตรไว้สำรองในช่วงปาล์มพักฟื้นตัว โดยให้สหกรณ์ หรือกลุ่มสมาพันธ์ต่างเป็นผู้ดูแล และเก็บรักษาตามพื้นที่นั้น

นี่คือปัญหาที่เกษตรกรทั้งชาวสวนยางและชาวสวนปาล์มกำลังเจอ ซึ่งข้อเท็จจริงมิได้เป็นไปตามที่รัฐบาลโอ้อวดแต่ประการใด

โดยเฉพาะราคายางพาราที่ต้องจับตาว่า พล.อ.ประวิตรที่ฟุ้งว่าราคายางพาราจะขยับไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาทในเวลาอีกไม่ช้าไม่นานนั้น จะขยับด้วยวิธีอะไรและจะเป็นจริงได้หรือไม่

“ผมยืนยันว่า สามารถทำได้จริง การปรับราคายางกิโลกรัมละ 80 บาทเป็นเรื่องกล้วยๆ ถ้าทำไม่ได้ผมจะมาแถลงข่าวได้อย่างไร แต่ต้องค่อยๆ ปรับตัวขึ้น เริ่มตั้งแต่วันนี้ ภายใน 1 เดือน ราคาจะอยู่ที่ 80 บาทแน่นอน”

สิ่งที่ พล.อ.ประวิตรพูด ใครๆ ก็พูดๆ ได้ แต่สิ่งที่ชาวสวนยางพาราอยากรู้ก็คือ จะทำด้วยวิธีไหนและจะเป็นจริงได้อย่างไร

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์ม 16 จังหวัดภาคใต้ ให้ข้อมูลชัดเจนว่า วันนี้ราคาน้ำยางสดตกลงมาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 36-37 บาท ขณะเงินโครงการมูลภัณฑ์กันชนจำนวน 6,000 ล้านบาทที่ชี้นำราคายางพาราวันละกว่า 1 ล้านกิโลกรัมของรัฐบาลหมดลงแล้ว จึงถึงเวลาแล้วที่นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องออกมารับผิดชอบและพิจารณาผลงานตัวเองว่า นโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

ส่วนปาล์มน้ำมันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.50 บาท ชาวสวนยางยังมีกำไรกิโลกรัมละ 1 บาท แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายนำเข้าน้ำมันปาล์ม 50,000 ตันจะทำให้ราคาปาล์มตกทันที ซึ่งจากการลงสำรวจพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทราบว่า ขณะนี้สวนปาล์มมีผลดกมาก พร้อมจะตัดได้ใน 15 วัน จะไม่ขาดตลาดตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง แต่หากมีการนำเข้า น้ำมันปาล์มก็จะล้นตลาดทันที

งานนี้เห็นที “หลวงลุงกำนัน” คงจะผ้าเหลืองร้อนเป็นแน่แท้ เพราะถ้าเงียบนั่นแปลว่า หลวงลุงกำนันกำลังปกป้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่ไม่ได้สนใจพี่น้องชาวสวนยางและชาวสวนปาล์มที่เป็นฐานเสียงของตนเอง และเป็นกำลังหลักของ กปปส. เลยแม้แต่น้อย

ล้อมกรอบ

หรือ “รัฐบาลตู่” ร่อแร่? คสช.พี่ป้อมจึงตั้ง 7 บิ๊กทหารขันน๊อต

เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้หลังจากที่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช.”

ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือคณะกรรมการชุดนี้มี “พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ก็คือ เพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการบูรณาการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ คสช.ทั้ง 9 ด้านและเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่เหมาะสมและยั่งยืน

ทำไมถึงต้องมีคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ในเมื่อก็มีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช.เป็นแกนหลังในการทำงานอยู่แล้ว และรัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาลก็ล้วนแล้วแต่เป็นทหาร ล้วนแล้วแต่ คสช.และเป็นคนของ คสช.ทั้งสิ้น

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือ “ความซ้ำซ้อน” อย่างเห็นได้ชัด

นี่คือสิ่งที่ต้องค้นหาคำตอบ

ในการประชุมนัดแรกที่มี พล.อ.ประวิตรนั่งเป็นประธานหัวโต๊ะที่อาคารรับรองเกษะโกมลเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมขึ้นมา 7 ชุดและแต่ละชุดมี “7 บิ๊กทหาร” นั่งเป็นประธานกำกับดูแล

กล่าวคือ พล.อ.ประวิตรเป็นประธานคณะอนุกรรมการดูแลปัญหาความยากจนความเหลื่อมล้ำ การคลัง รัฐวิสาหกิจงบประมาณและพาณิชย์

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานคณะอนุกรรมการดูแลตำรวจ ยาเสพติด ความมั่นคง ปกครอง ทั้งระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะอนุกรรมการดูแลการอุตสาหกรรม พลังงาน การเกษตรและความสัมพันธ์ต่างประเทศ

พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะอนุกรรมการดูแลการท่องเที่ยวและกีฬา กิจการค้าชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ

พล.ร.อ.ไกรสรณ์ จันทร์สุวาณิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานคณะอนุกรรมการดูแลการประมง การขนส่ง โลจิสติก แรงงานและปัญหาแรงงานทาส

พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไอซีทีและสาธารณสุข

และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะอนุกรรมการดูแลงานด้านยุทธศาสตร์ คสช.โดยรวมและงานประสานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)

เป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ คสช.ถึงต้องมีคณะกรรมการฯ ชุดนี้

แน่นอน ความเป็นจริงที่ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับก็คือ ขณะนี้ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2558 ยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่ง นั่น หมายความว่าการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติและการอัดฉีดงบประมาณผ่านนโยบายและการลงทุนของภาครัฐยังไม่ลงไปถึงมือประชาชน

นั่นส่งผลทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในขั้นโคม่าและยังไม่มีทีท่าว่าจะลืมตาอ้าปากให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่มีเดิมพันสูงเพราะกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและคสช.โดยตรง ยิ่งไม่สามารถทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ คะแนนนิยมของรัฐบาลและคะแนนนิยมของ คสช.ก็จะยิ่งลดลงไปเป็นลำดับ

ด้วยเหตุดังกล่าว ถนนทุกสายจึงพุ่งเป้ามายัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า จะมีหมัดเด็ดหรือมาตรการใดๆ ออกมาหรือไม่

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลและ คสช.กังวล

กระนั้นก็ดี ผลพวงจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า ทหารให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือภาพลักษณ์ของ คสช.มาก กว่ากัน เพราะตรรกะในการ “คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช.” ดูเหมือนจะยิ่งสร้างความงุนงงหนักเข้าไปอีกว่า ทำไมประธานของคณะอนุกรรมการทั้ง 7 ชุดถึงมีแต่ “ทหาร” ฝ่ายเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น