xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ยื่น “บิ๊กตู่” ค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับพลังงาน เปิดช่องทุจริตอำพราง “สัมปทาน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online





“เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย” ยื่นหนังสือถึงนายกฯ คัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่กระทรวงพลังงานเสนอและผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้ว โดยประชาชนไม่รับรู้ ระบุมีช่องโหว่ให้รัฐมนตรีหรืออธิบดีใช้ดุลพินิจเอง เปิดช่องทุจริตเอื้อประโยชน์เอกชน และมีลักษณะใช้ถ้อยคำอำพราง แต่เนื้อหายังเป็นสัมปทานเหมือนเดิม จี้ถอนร่างจากฤษฎีกาและนำร่างข้อเสนอของ คปพ.เข้า ครม.และจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนต่อไป



วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานก.พ. เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) 35 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ผ่านนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งกระทรวงพลังงานเป็นผู้เสนอ และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 และชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีการเพิ่มภาษีสรรพามิตก๊าซแอลพีจีภาคขนส่ง และกรณีนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดที่จะให้ภาคขนส่งเลิกใช้ก๊าซแอลพีจีภายใน 2 ปี

โดยนายปานเทพ กล่าวว่า คปพ. ขอแสดงจุดยืนคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับที่...พ.ศ....และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฉบับที่...พ.ศ....ที่ผ่านการอนุมัติโดยหลักการของคณะรัฐมนตรีแล้ว เนื่องจากเห็นร่างฯ พรบ. ทั้ง 2 ฉบับนั้นไม่เคยมีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบก่อนและไม่ได้มีการรับฟังเสียงของประชาชนหรือมีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแต่อย่างใด แต่มีการอนุมัติโดย ครม.ไปก่อน คปพ. จึงห่วงว่าภาคประชาชนอาจเกิดความสงสัย ว่า ครม.ขาดความจริงใจต่อข้อเสนอของประชาชนหรือไม่ เพราะการการะทำมี่เกิดขึ้นขัดแย้งกับหนังสือของนายกฯ ที่แจ้งให้ คปพ ว่าขอให้เชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นไทย และการย้อเสนอต่างๆ ที่มีการเสนอไปยังภาครัฐก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

นายปานเทพ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับไม่สามารถรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนได้ เนื่องจากมีช่อโหว่ที่จะเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ คปพ. จึงขอคัดค้าน ร่างฯ พ.ร.บ. ดังกล่าว และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจด้วยการปฏิบัติตามสัญญาที่เคยบอกว่า ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม

ด้านนายรุ่งชัย จันทสิงห์ แนวร่วมคปพ.กล่าวถึงแนวคิดการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตแอลพีจีภาคขนส่ง และยกเลิกการใช้แอลพีจีภายใน 1-2 ปี ที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนแนวคิดดังกล่าว และยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เนื่องจากสถานะของกองทุนน้ำมันในขณะนี้ถือว่าเพียงพอ และจะได้ไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เห็นว่า การใช้แอลพีจีในภาคขนส่งไม่ได้มีสัดส่วนมากที่สุด แต่เป็นภาคปิโตรเคมีที่ใช้มากกว่า และการใช้ภาคขนส่งก็ไม่ใช่การใช้พลังงานผิดประเภท เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันแล้ว แอลพีจีจะช่วยลดมลภาวะได้มากกว่า ดังนั้นการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตจะเป็นการเพิ่มต้นทุน ทำให้บริการรถยนต์สาธารณะเพิ่มขึ้น จึงเห็นว่าไม่ควรปรับเพิ่มดังกล่าว แต่ควรจะเรียกเก็บจากภาคปิโตรเลียมที่เป็นผู้ใช้แอบพีจีมากที่สุดแทน ส่วนการให้ยกเลิกการใช้แอลพีจีภายใน 1-2 นั้น จะกระทบต่อผู้ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ในรถยนต์แอลพีจีที่มีอยู่ 1.5 ล้านคัน ซึ่งหากมีการดำเนินการดังกล่าวจะถือเป็นความผิดพลาดของนโยบายภาครัฐเอง

โดยภายหลังการให้สัมภาษณ์ นายปานเทพ ได้ไปพบนายทหารจากคสช.ที่ได้เชิญตัวมาพบเพื่อสอบถามและปรับทัศนคติที่ชั้น 3 สำนักงานก.พ.ขณะที่แนวร่วมที่เหลือยังคงรออยู่ที่โรงอาหารสำนักงานก.พ.

สำหรับหนังสือคัดค้านร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติปิโตรเลียม และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานนั้น มีใจความสำคัญว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2558 และ ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 โดยที่ไม่ได้เปิดเผยร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างโปร่งใส ตลอดจนคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งยังสรุปผลการศึกษาไม่แล้วเสร็จก็มิได้รับทราบแต่ประการใด ขณะนี้ คปพ.ได้สืบค้นและรับทราบเนื้อหารายละเอียดเพิ่มในร่างแก้ไขเพิ่มเติมของกฎหมายดังกล่าวทั้งสองฉบับ จึงเกิดความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งในเนื้อหาดังกล่าว และขอคัดค้านร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับที่นำเสนอโดยกระทรวงพลังงานในประเด็นดังต่อไปนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน มีบทบัญญัติที่เปิดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจโดยไร้หลักเกณฑ์ ให้สามารถใช้ระบบสัมปทาน หรือระบบแบ่งปันผลผลิตก็ได้ ทำให้เกิดการใช้ดุลยพินิจ หรือการต่อรองผลประโยชน์ส่วนตน หรือความไม่โปร่งใสได้ง่าย นอกจากนี้ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ในร่างกฎหมายดังกล่าวที่จะให้เกิดการประมูลแข่งขันเพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด อันไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ประสงค์จะให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

2. ในร่างกฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติใช้ดุลพินิจโดยปราศจากการควบคุมตรวจสอบในการกำหนดวิธีการสำหรับการยื่นข้อเสนอและตกลงทำสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของระบบสัญญาการแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมอันมีมูลค่าเป็นตัวเงินสูงมากในระดับหมื่นล้านบาทจนถึงหลายแสนล้านบาท ซึ่งอาจมีการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษได้

3. ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน ในมาตรา 53/4(2) ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ผู้รับสัญญาใช้อัตราร้อยละ 50 ของผลผลิตรวมของปิโตรเลียม เพื่อวัตถุประสงค์ในการหักค่าใช้จ่ายสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียม” นั้น ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่พึงได้ และได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เพราะเป็นการกำหนดสัดส่วนในการหักค่าใช้จ่ายของผู้รับสัญญาสูงเกินความเป็นจริงในตลาดอย่างมาก เป็นผลทำให้ผู้รับสัญญาทั้งหมดจะได้รับผลประโยชน์จากรัฐสูงเกินควร

4. ในร่างฯ มาตรา 53/4(3) ของพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ ซึ่งบัญญัติเนื้อหาว่า “ให้ถือว่าส่วนที่เหลือของผลผลิตรวมของปิโตรเลียมหลังจากชำระค่าภาคหลวงจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผลผลิตรวมของปิโตรเลียม และหักเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับประกอบกิจการปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 50 ของผลผลิตรวมของปิโตรเลียมแล้ว เป็นปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรและให้แบ่งแก่ผู้รับสัญญาในจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละ 50” เปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลพินิจเพื่อกำหนดอัตราการชำระค่าภาคหลวง หรือส่วนแบ่งผู้ให้รับสัญญา โดยใช้คำว่า “ไม่น้อยกว่า” ร้อยละ 10 ก็ดี หรือ “ไม่เกินกว่า”ร้อยละ 50 ก็ดี ซึ่งอาจมีการต่อรองในอัตราเท่าใดก็ได้โดยไม่มีหลักเกณฑ์ หากเป็นกรณีที่ไม่มีการประกวดราคา และผู้มีอำนาจเกิดความคิดที่ทุจริต ก็จะเกิดการใช้ดุลพินิจอันมิชอบด้วยหลัก “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” อีกทั้งก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือแก่ผู้รับสัญญาได้ จะทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้

ในขณะที่ มาตรา 4 ของร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งบัญญัติเนื้อหาว่า “บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียม” นั้น เป็นการอนุญาตให้ผู้รับสัญญา สามารถนำค่าภาคหลวง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ที่นำส่งไปแล้ว และค่าใช้จ่ายตายตัวสำหรับประกอบกิจการร้อยละ 50 ให้นำมารวมกันเพื่อหักออกจากผลผลิตรวมของปิโตรเลียมทั้งหมดก่อนมีการแบ่งปันผลผลิต ส่งผลทำให้สัดส่วนแบ่งปันผลผลิตของผู้รับสัญญาก่อนหักรายจ่ายทุกชนิดจะสามารถได้รับผลผลิตสูงสุดถึงร้อยละ 70 ของผลผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งหมด ซึ่งแม้ว่ารัฐจะได้ค่าภาคหลวง ภาษี และส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียม แต่เมื่อนามารวมกันก็เป็นจำนวนน้อยมากไม่แตกต่างจากการให้สัมปทานที่ผ่านมา ซึ่งราชอาณาจักรไทยได้น้อยกว่าระบบแบ่งปันผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก

5. โดยพฤติการณ์การร่างกฎหมายสองฉบับดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เจตนาที่แท้จริงในการกำหนดสัดส่วนผลประโยชน์ของผู้รับสัญญาให้ได้เปรียบเหนือผลประโยชน์ของรัฐ มีลักษณะเดียวกับการให้สัมปทานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงสะท้อนให้เห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 3 ของทั้งสองฉบับ มีเจตนารมณ์ที่จะปิดบังซ่อนเร้นวิธีการที่แท้จริงในการจัดหาปิโตรเลียม โดยมีการใช้ำว่า “สัญญาเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม” แทนคำว่า “สัมปทาน” ทั้งนี้เพื่ออำพรางวิธีการจัดหาปิโตรเลียมด้วยการให้ ”สัมปทาน” ดังจะเห็นได้ว่าในบางมาตรายังคงมีคำว่า “สัมปทาน” อยู่ในร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว

6. ตามมาตรา 53/4(4) ของร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน บัญญัติเนื้อหาเอาไว้ว่า “สัญญาแบ่งปันผลผลิตจะมีอายุไม่เกิน 39 ปี” ถือเป็นระยะเวลาการให้สัญญาที่ยาวนานที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ของราชอาณาจักรไทย และถือว่าเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐในระดับต่ำและมีระยะเวลานานเกินมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับระยะเวลาของสัญญาแบ่งปันผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน

7. ตามมาตรา 53/4(8) ของร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งใดๆ ซึ่งเกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญา ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้โดยฉันมิตร ให้ดำเนินการระงับโดยอนุญาโตตุลาการ ตามวิธีการที่กาหนดไว้ในข้อบังคับ UNCITRAL วินิจฉัยตามบทบัญญัติของกฎหมายไทย และคำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สถานที่พิจารณาให้อยู่ในกรุงเทพมหานครและภาษาที่ใช้ให้เป็นภาษาไทย” นั้น เป็นการสละเอกสิทธิของรัฐในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจชาติ เท่ากับราชอาณาจักรไทยลดตัวลงไปมีฐานะเท่ากับเอกชน(ตามหลักกฎหมายเอกชน) หรือเป็นการยกฐานะเอกชนให้มีฐานะเท่ากับราชอาณาจักรไทย (ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ) การสละเอกสิทธิเช่นนี้ เท่ากับเป็นการสละอานาจอธิปไตยของรัฐ

จากเหตุผลดังกล่าว คปพ.จึงขอคัดค้านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่ประการใด และขอเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีแสดงความจริงใจด้วยการปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่มีต่อเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ตามที่ได้เกษียณหนังสือเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558 ว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม” ด้วยการทบทวนให้มีการถอนร่างกฎหมายทั้งสองฉบับออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยทันที และขอให้นาร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. .... และร่างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ .../2558 เรื่องการจัดหาทรัพยากรปิโตรเลียมในราชอาณาจักรของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การเห็นชอบและจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ในร่างกฎหมายของภาคประชาชนดังกล่าวต่อไป

รายละเอียดหนังสือของ คปพ.คัดค้านร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน

                                                                                   เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
                                                                                   ๑๐๒/๑ บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์
                                                                                   แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร
                                                                                   กรุงเทพ ๑๐๒๐๐

ที่ คปพ. ๐๐๘/๒๕๕๘

                                               วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

เรื่อง คัดค้านร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติปิโตรเลียม และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

อ้างถึง หนังสือเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่ คปพ. ๐๐๗/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) เรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในอีก ๖ ปีข้างหน้า


ตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยื่นหนังสือกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) เรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในอีก ๖ ปีข้างหน้า เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามอ้างถึงนั้น

ในขณะนั้นเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้รับทราบว่ากระทรวงพลังงานได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เปิดเผยร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างโปร่งใส ตลอดจนคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งยังสรุปผลการศึกษาไม่แล้วเสร็จก็มิได้รับทราบแต่ประการใด

ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) เป็นตัวแทนในการมาพูดคุยกับภาคประชาชนโดยรัฐบาลมิได้มีการตอบสนองข้อเสนอใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีกลับมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับของกระทรวงพลังงานที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งย่อมทำให้ภาคประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขาดความจริงใจต่อข้อเสนอของภาคประชาชนหรือไม่ เพราะการกระทำที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ขัดแย้งกับการเกษียณหนังสือของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ได้แจ้งให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ทราบว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม”

ขณะนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้สืบค้นและรับทราบเนื้อหารายละเอียดเพิ่มในร่างแก้ไขเพิ่มเติมของกฎหมายดังกล่าวทั้งสองฉบับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบไปแล้ว จึงเกิดความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งในเนื้อหาดังกล่าว และขอคัดค้านร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับที่นำเสนอโดยกระทรวงพลังงานในประเด็นดังต่อไปนี้

๑. ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน และให้ความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีนั้น มีบทบัญญัติที่เปิดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ โดยไร้หลักเกณฑ์ ให้สามารถใช้ระบบสัมปทาน หรือ ระบบแบ่งปันผลผลิตก็ได้ ทำให้เกิดการใช้ดุลยพินิจ หรือการต่อรองผลประโยชน์ส่วนตน หรือความไม่โปร่งใสได้ง่าย นอกจากนี้ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ในร่างกฎหมายดังกล่าวที่จะให้เกิดการประมูลแข่งขันเพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด อันไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ประสงค์จะให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

๒. ในร่างกฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติใช้ดุลพินิจโดยปราศจากการควบคุมตรวจสอบในการกำหนดวิธีการสำหรับการยื่นข้อเสนอและตกลงทำสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของระบบสัญญาการแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมอันมีมูลค่าเป็นตัวเงินสูงมากในระดับหมื่นล้านบาทจนถึงหลายแสนล้านบาท ซึ่งอาจมีการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษได้

๓.ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน ในมาตรา ๕๓/๔ (๒) ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ผู้รับสัญญาใช้อัตราร้อยละ ๕๐ ของผลผลิตรวมของปิโตรเลียม เพื่อวัตถุประสงค์ในการหักค่าใช้จ่ายสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียม” นั้น

การให้ผู้รับสัญญาหักค่าใช้จ่ายได้ตายตัวถึงร้อยละ ๕๐ ของผลผลิตปิโตรเลียมตลอดอายุสัญญา โดยมิได้กำหนดระยะเวลาการหักค่าใช้จ่ายและการตรวจสอบตามต้นทุนที่แท้จริง บทบัญญัติดังกล่าวทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่พึงได้ และได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เพราะเป็นการกำหนดสัดส่วนในการหักค่าใช้จ่ายของผู้รับสัญญาสูงเกินความเป็นจริงในตลาดอย่างมาก เป็นผลทำให้ผู้รับสัญญาทั้งหมดจะได้รับผลประโยชน์จากรัฐสูงเกินควร

นอกจากนี้ยังมิได้คำนึงถึงสัดส่วนต้นทุนของผู้รับสัญญาซึ่งลดลงแปรผันจากมูลค่าปิโตรเลียมที่มีราคาสูงขึ้น และมิได้คำนึงถึงสัดส่วนต้นทุนของผู้รับสัญญาซึ่งลดลงจากปริมาณผลผลิตปิโตรเลียมที่ได้มากกว่าที่คาดการณ์ ตลอดจนยังมีความแตกต่างจากระบบแบ่งปันผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งได้กำหนดการหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงโดยกำหนดเพดานสูงสุดที่อนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายได้ อันแสดงถึงการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติของตนมากกว่าร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทย

๔. ในร่างมาตรา ๕๓/๔ (๓) ของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งบัญญัติเนื้อหาว่า “ให้ถือว่าส่วนที่เหลือของผลผลิตรวมของปิโตรเลียมหลังจากชำระค่าภาคหลวงจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของผลผลิตรวมของปิโตรเลียม และหักเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับประกอบกิจการปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ ๕๐ ของผลผลิตรวมของปิโตรเลียมแล้ว เป็นปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกาไรและให้แบ่งแก่ผู้รับสัญญาในจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละ ๕๐”

ร่างมาตราดังกล่าวเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลพินิจเพื่อกำหนด อัตราการชำระค่าภาคหลวง หรือส่วนแบ่งผู้ให้รับสัญญา โดยใช้คำว่า “ไม่น้อยกว่า” ร้อยละ ๑๐ ก็ดี หรือ “ไม่เกินกว่า” ร้อยละ ๕๐ ก็ดี ซึ่งอาจมีการต่อรองในอัตราเท่าใดก็ได้โดยไม่มีหลักเกณฑ์ หากเป็นกรณีที่ไม่มีการประกวดราคา และผู้มีอำนาจเกิดความคิดที่ทุจริต ก็จะเกิดการใช้ดุลพินิจอันมิชอบด้วยหลัก “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” อีกทั้งก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือแก่ผู้รับสัญญาได้ จะทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้

ในขณะที่ มาตรา ๔ ของร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งบัญญัติเนื้อหาว่า “บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีในอัตราร้อยละ ๒๐ ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียม” นั้น

บทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้ เป็นการอนุญาตให้ผู้รับสัญญา สามารถนำค่าภาคหลวง ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ที่นำส่งไปแล้ว และค่าใช้จ่ายตายตัวสำหรับประกอบกิจการร้อยละ ๕๐ ให้นำมารวมกันเพื่อหักออกจากผลผลิตรวมของปิโตรเลียมทั้งหมดก่อนมีการแบ่งปันผลผลิต ส่งผลทำให้สัดส่วนแบ่งปันผลผลิตของผู้รับสัญญาก่อนหักรายจ่ายทุกชนิดจะสามารถได้รับผลผลิตสูงสุดถึงร้อยละ ๗๐ ของผลผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งหมด ซึ่งแม้ว่ารัฐจะได้ค่าภาคหลวง ภาษี และส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียม แต่เมื่อนำมารวมกันก็เป็นจำนวนน้อยมากไม่แตกต่างจากการให้สัมปทานที่ผ่านมา ซึ่งราชอาณาจักรไทยได้น้อยกว่าระบบแบ่งปันผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก

๕. โดยพฤติการณ์การร่างกฎหมายสองฉบับดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เจตนาที่แท้จริงในการกำหนดสัดส่วนผลประโยชน์ของผู้รับสัญญาให้ได้เปรียบเหนือผลประโยชน์ของรัฐ มีลักษณะเดียวกับการให้สัมปทานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงสะท้อนให้เห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา ๓ ของทั้งสองฉบับ มีเจตนารมณ์ที่จะปิดบังซ่อนเร้นวิธีการที่แท้จริงในการจัดหาปิโตรเลียม โดยมีการใช้ำว่า “สัญญาเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม” แทนคำว่า “สัมปทาน” ทั้งนี้เพื่ออำพรางวิธีการจัดหาปิโตรเลียมด้วยการให้ ”สัมปทาน” ดังจะเห็นได้ว่าในบางมาตรายังคงมีคำว่า “สัมปทาน” อยู่ในร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว

การร่างกฎหมายเพื่ออำพรางชื่อการให้ “สัมปทาน” ดังกล่าวข้างต้น โดยที่ยังคงเนื้อหาการให้สัมปทานเดิมอยู่นั้น ย่อมทำให้ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยว่าจะเป็นการหลอกลวงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ รวมทั้งเป็นการดูถูกสติปัญญาประชาชนหรือไม่

สำหรับคำว่า “สัญญาแบ่งปันผลผลิต” ในร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อพิจารณาแล้วก็จะพบว่าวิธีการแบ่งปันผลผลิตมีการกำหนดสัดส่วนผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับในอัตราต่ำคล้ายคลึงกับการที่รัฐได้รับผลประโยชน์จากวิธีสัมปทานที่มีอยู่ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวแม้จะมีการใช้คาว่า ”สัญญาแบ่งปันผลผลิต” ก็เพื่อจะทาให้ผลตอบแทนแก่รัฐในระบบแบ่งปันผลผลิตคล้ายคลึงกับผลตอบแก่รัฐที่ได้จากระบบสัญญาสัมปทานเดิมอยู่ดี

๖. ตามมาตรา ๕๓/๔ (๔) ของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน บัญญัติเนื้อหาเอาไว้ว่า “สัญญาแบ่งปันผลผลิตจะมีอายุไม่เกิน ๓๙ ปี ” ระยะเวลาในสัญญาที่มีอายุที่คราวเดียวกันนานถึง ๓๙ ปีนั้น ถือเป็นระยะเวลาการให้สัญญาที่ยาวนานที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ของราชอาณาจักรไทย และถือว่าเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐในระดับต่ำและมีระยะเวลานานเกินมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับระยะเวลาของสัญญาแบ่งปันผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน ทำให้ราชอาณาจักรไทยสูญเสียอิสรภาพ ความมั่นคง ความมั่งคั่งในแปลงปิโตรเลียมซึ่งเป็นมรดกทรัพยากรของชาติ โดยไม่คำนึงถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเองของคนรุ่นต่อไปให้มีความยั่งยืน

๗. ตามมาตรา ๕๓/๔ (๘) ของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งใดๆ ซึ่งเกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญา ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้โดยฉันทมิตร ให้ดำเนินการระงับโดยอนุญาโตตุลาการ ตามวิธีการที่กาหนดไว้ในข้อบังคับ UNCITRAL วินิจฉัยตามบทบัญญัติของกฎหมายไทย และคำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สถานที่พิจารณาให้อยู่ในกรุงเทพมหานครและภาษาที่ใช้ให้เป็นภาษาไทย” นั้น

หลักการในมาตรานี้ที่กำหนดให้มีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นวิธีการสาหรับการระงับข้อพิพาทที่คู่สัญญามีฐานะเท่าเทียมกันตามหลักความเสมอภาค อันเป็นหลักการสาคัญตามหลักกฎหมายเอกชน และกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะถือหลักการว่า การที่รัฐกับรัฐมีข้อพิพาทระหว่างกัน รัฐมีฐานะความเป็นรัฐเท่าเทียมกัน จึงสามารถใช้การระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้

แต่การสัญญาเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และ สัญญาแบ่งปันผลผลิต รวมทั้งการให้สัมปทาน ตามร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... มีลักษณะเป็นการให้สัญญากันระหว่างรัฐ ซึ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะกับเอกชนซึ่งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในการประกอบกิจการทางธุรกิจอันเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคล สัญญาตามร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจนาหลักการระงับข้อพิพาท ด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ อันเป็นหลักการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกัน และเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน มาใช้กับสัญญาดังกล่าวได้

สัญญาดังกล่าวข้างต้น เป็นสัญญาของรัฐ ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า “สัญญาทางปกครอง” ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเหนือสิทธิของเอกชนในการแสวงหาประโยชน์ส่วนบุคคล รัฐจึงย่อมมีเอกสิทธิเหนือสัญญาดังกล่าว เพื่อสามารถคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมได้ โดยหลักการตามหลักกฎหมายมหาชน รัฐจึงสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญารวมทั้งยกเลิกสัญญาเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากเอกชนผู้รับสัญญาก็ได้ ดังนั้นเมื่อสัญญาตามกฎหมายดังกล่าวมิใช่เป็นสัญญาในฐานะเอกชนที่เท่ากัน หรือเป็นสัญญาระหว่างรัฐกับรัฐ การนำหลักอนุญาโตตุลาการ UNCITRAL มาใช้ตามกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นการสละเอกสิทธิของรัฐในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจชาติ เท่ากับราชอาณาจักรไทยลดตัวลงไปมีฐานะเท่ากับเอกชน (ตามหลักกฎหมายเอกชน) หรือเป็นการยกฐานะเอกชนให้มีฐานะเท่ากับราชอาณาจักรไทย (ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ) การสละเอกสิทธิเช่นนี้ เท่ากับเป็นการสละอานาจอธิปไตยของรัฐ

หลักการเกี่ยวกับการนาอนุญาโตตุลาการ มาระงับข้อพิพาทในสัญญาทางปกครอง ได้ถูกทบทวนโดยคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ (เรื่องการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน)จากกรณีเรื่องสัญญาสัมปทานทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยมีมติให้ทบทวนการใช้วิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้กับสัญญาภาครัฐ ซึ่งผู้ที่ทราบหลักการเหล่านี้ดี คือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยสอนวิชาในสาขากฎหมายมหาชน ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ UNCITRAL(คณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ แห่งสหประชาชาติ) ที่กระทรวงพลังงานได้อ้างถึงในการแก้ไข ของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... นั้น ในความเป็นจริงแล้ว UNCITRAL เดิมมีสมาชิกสูงสุดถึง ๖๐ ประเทศ แต่ในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มีประเทศที่ไม่ต่ออายุถึง ๓๔ ประเทศ เท่ากับว่าประเทศเหล่านั้นต่างไม่ได้ยอมรับหลักการของ UNCITRAL ในการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีประเทศที่มิได้นำหลักการอนุญาโตตุลาการมาใช้กับสัญญาภาครัฐก็ล้วนแต่เป็นประเทศพัฒนาและเป็นประชาธิปไตยในระดับชั้นนำของโลกในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย ยูเครน เวเนซุเอลา ฯลฯ ดังนั้น ราชอาณาจักรไทยจึงไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการใช้อนุญาโตตุลาการตามมาตราดังกล่าวแต่ประการใด

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า กฎหมายทั้งสองฉบับ ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ นั้น ยังไม่สามารถรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนได้ อีกทั้งยังมีช่องโหว่อย่างยิ่ง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบที่อาจทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมหาศาล เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอคัดค้านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่ประการใด และขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจด้วยการปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่มีต่อเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ตามที่ได้เกษียณหนังสือเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม” ด้วยการทบทวนให้มีการถอนร่างกฎหมายทั้งสองฉบับออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยทันที และขอให้นาร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. .... และ ร่างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ .../๒๕๕๘ เรื่องการจัดหาทรัพยากรปิโตรเลียมในราชอาณาจักรของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การเห็นชอบและจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ในร่างกฎหมายของภาคประชาชนดังกล่าวต่อไป


                                     จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณา

                                                 ขอแสดงความนับถือ
                                       เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย

ติดต่อประสานงาน : นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โทรศัพท์ ๐๘-๑๔๐๑-๘๙๔๕ โทรสาร ๐-๒๒๘๑-๑๗๐๘
อีเมล์ parnthep.p@gmail.com


















กำลังโหลดความคิดเห็น