เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เริ่มขยับระดมพลวันที่ 9 ก.ค.นี้ ลงชื่อยื่นบิ๊กตู่ถอน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงานออกจากการพิจารณาของกฤษฎีกาและหรือ สนช. พร้อมไปแสดงตนต่อที่รัฐสภา ส่วนต่างจังหวัดให้ทำหนังสือคัดค้านถึงผู้ว่าราชการทุกแห่ง ยันไม่ได้ต่อต้านรัฐบาล
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เปิดเผยว่า คปพ.ได้เปิดแถลงการณ์เพื่อรวมพลังงานประชาชนไทยกู้วิกฤตพลังงานครั้งสำคัญ ด้วยการขอเชิญชวนประชาชนร่วมเดินทางมาลงชื่อเพื่อเสนอต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ถอนพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับกระทรวงพลังงานออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 9 ก.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป และหลังจากนั้นจะเดินทางไปแสดงตนต่อที่รัฐสภาเพื่อเข้าชื่อร่วมกันเสนอ สนช.หยุดยั้งกฎหมายดังกล่าวต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
“ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับที่ (…) พ.ศ. …และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมรวม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงานได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้ว และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะส่งไป สนช.เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติใช้ต่อไปนั้น ที่ผ่านมา คปพ.ได้คัดค้านและทำหนังสือถึงนายกฯ ไปแล้ว ด้วยการขอให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณาของกฤษฎีกาทันที และนำร่างกฎหมายที่จัดทำโดยเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) เสนอต่อ ครม.เพื่อจัดทำประชาพิจารณ์ในร่างกฎหมายของภาคประชาชน แต่จวบจนขณะนี้คำร้องขอของประชาชนยังคงถูกเมินเฉย” นายปานเทพกล่าว
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลังและแกนนำ คปพ. กล่าวว่า เป็นความเสี่ยงของรัฐบาลนี้หากปล่อยให้กฎหมายดังกล่าวผ่านออกไปด้วยมีความไม่โปร่งใสหลายด้าน ทั้งการเร่งรีบโดยไม่ยอมรับร่างกฎหมายของภาคประชาชนทั้งที่รัฐบาลเองก็สั่งให้มาทำการศึกษาร่วมกัน ขณะเดียวกันไม่มีการนำเสนอกลับมายัง ครม.ให้พิจารณาอีกครั้ง และที่สำคัญสุดรัฐบาลจะเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงที่สืบเนื่องจากกฎหมายกระทรวงพลังงานฉบับนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากกฎหมายกระทรวงพลังงานที่เขียนไว้เป็นการเปิดให้มีการใช้ดุลพินิจการให้เอกชนได้สิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมทำให้กระบวนการจะนำไปสู่ความไม่โปร่งใส
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำ คปพ. กล่าวว่า กฎหมายปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานมีการชิงออกก่อนโดยไม่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแต่กลับเพิ่มปัญหา เช่นด้านภาษีด้านปิโตรเลียมมีมาตรฐานต่ำกว่าประมวลรัษฎากร แต่กลับลดภาษีเงินได้ปิโตรเลียมลงจาก 50% เหลือ 20% ของกำไรสุทธิ
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงศา แกนนำ คปพ. กล่าวว่า ขอให้ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดร่วมคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานได้ด้วยการทำหนังสือส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งในวันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายของกระทรวงพลังงานแม้ว่าจะมีการเปิดช่องให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC แต่กลับพบว่ามีมาตรฐานต่ำกว่าประเทศอาเซียนแม้ว่ากระทรวงฯ ได้พยายามชี้ให้เห็นว่าใช้โมเดลของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) แต่หากพิจารณาจะพบว่ารัฐโดยปิโตรนาสของมาเลเซียได้ประโยชน์จริง แต่ไทยเป็นการยกให้เอกชนรับไปอีกทอดหนึ่ง ที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นระบบสัมปทาน
พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำ คปพ. กล่าวว่า หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านไปได้รัฐบาลเองก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะสิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องเป็นการรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ ดังนั้นหากจะมีการนำตัวไปปรับทัศนคติก็พร้อมแต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการต่อต้านรัฐบาล
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ฉบับที่ ๓/๒๕๕๘
เรื่อง รวมพลังประชาชนไทย กู้วิกฤติพลังงานครั้งสำคัญ
ตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้รับทราบว่าวาระการประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ มีการพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ....ไปแล้ว ๑ ครั้ง ในขณะที่ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ของกระทรวงพลังงานยังไม่มีความแน่ชัดว่าอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้นำเสนอร่างตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบกับนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ว่า กฎหมายร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ และสามารถเดินหน้าให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ ได้ทันที
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะรัฐมนตรี ได้ลงมติว่า
“๑. อนุมติหลักการร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่....) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... รวม ๒ ฉบับ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป”
แสดงว่า กฎหมายทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวเมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จะไม่ส่งกลับคืนมายังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบใดๆ อีก และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติเป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เคยนำส่งหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เรื่อง คัดค้านร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ซึ่งได้สรุปรายงานว่า กฎหมายทั้งสองฉบับ ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ นั้น ยังไม่สามารถรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนได้ อีกทั้งยังเต็มไปด้วยช่องโหว่อย่างมาก ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบที่อาจทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมหาศาล
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงได้คัดค้านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่ประการใด และเป็นกฎหมายที่ไม่ฟังเสียงแม้กระทั่งผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจด้วยการปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่มีต่อเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เกษียณหนังสือเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม” ด้วยการทบทวนให้มีการถอนร่างกฎหมายทั้งสองฉบับออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยทันที และขอให้นำร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ..... และ ร่างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ .../๒๕๕๘ เรื่องการจัดหาทรัพยากรปิโตรเลียมในราชอาณาจักรซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การเห็นชอบและจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ในร่างกฎหมายของภาคประชาชนดังกล่าวต่อไป
แต่จวบจนถึงปัจจุบันคำร้องขออย่างมีเหตุผลและข้อเสนออย่างสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติของภาคประชาชนกลับถูกเมินเฉย ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น จึงทำให้ร่างกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว กำลังเดินหน้าเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามคำสั่งของรัฐบาลภายใต้การนำและความรับผิดชอบของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โดยมิได้มีการยับยั้งแต่อย่างใด
แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากคำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้ไว้ต่อประชาชนว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม”
ในช่วงเวลาที่ใกล้หมดอายุสัมปทานแปลงปิโตรเลียมที่ปวงชนชาวไทยรอคอยมานานกว่า ๔๔ ปี ซึ่งถือเป็นวาระอันสำคัญที่สุด ที่ประเทศชาติจะได้นำทรัพยากรปิโตรเลียมมาเป็นทรัพยากรของชาติและปวงชนชาวไทยในช่วงเวลาช่วงเดียวที่เรายังมีชีวิตอยู่ ให้มีความยั่งยืนมั่งคั่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมของ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) แต่กระทรวงพลังงานกลับลักหลับเสนอกฎหมายปิโตรเลียมเช่นนี้ ย่อมจะนำไปสู่วิกฤติครั้งสำคัญของประเทศชาติหลายประการ เช่น การที่ประเทศไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์จากแปลงปิโตรเลียมที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรไทยถึง ๓๙ ปี สูญเสียอำนาจอธิปไตยทางศาลให้ผ่านกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ เปิดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ โดยไร้หลักเกณฑ์ที่จะใช้ระบบสัมปทาน หรือ ระบบแบ่งปันผลผลิตก็ได้ อาจทำให้เกิดการใช้ดุลยพินิจ หรือการต่อรองผลประโยชน์ส่วนตน หรือความไม่โปร่งใสได้ง่าย นอกจากนี้ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ในร่างกฎหมายดังกล่าวที่จะให้เกิดการประมูลแข่งขันเพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด
กฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน ไม่ได้สร้างอำนาจต่อรองในทางยุทธศาสตร์ให้แก่ประเทศชาติเพิ่มสูงขึ้นแต่ประการใด มีแต่การสร้างอำนาจต่อรองให้กับเฉพาะบุคคล เฉพาะกลุ่มที่เปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจในการปิดห้องเจรจาทีละรายโดยปราศจากการประมูลแข่งขันอย่างโปร่งใส ซึ่งผิดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง อันอาจนำไปสู่การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาล กฎหมายทั้งสองฉบับซึ่งนำเสนอโดยกระทรวงพลังงานจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการปิโตรเลียม ที่จัดทำขึ้นโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) อันคำนึงถึงการเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศชาติเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ
ภายใต้สิทธิพลเมืองต่อการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะซึ่งมีผลต่อคนไทยทุกคน เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้ห่วงใยชาติบ้านเมืองมาร่วมกันทำหน้าที่ให้มากที่สุดเพื่อทำให้ปิโตรเลียมเป็นสมบัติของชาติและปวงชนชาวไทย ภายใต้หลักการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการมาแสดงตนเพื่อเข้าชื่อร่วมกันเสนอร้องขอให้นายกรัฐมนตรี ถอนเรื่องกฎหมายปิโตรเลียมดังกล่าว ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันพฤหัสบดีที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (กพร.) ตรงข้ามประตู ๔ ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา ๙.๓๐ น. เป็นต้นไป และหลังจากนั้นจะเดินทางไปแสดงตนต่อที่รัฐสภาเพื่อเข้าชื่อร่วมกันเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติหยุดยั้งกฎหมายดังกล่าวต่อไป
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)
วันอาทิตย์ ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘