คปพ.นัดระดมพลอีกรอบวันที่ 9 ก.ค.นี้ ร่วมลงชื่อยื่น พล.องประยุทธ์ ถอน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงานออกจากกฏษฎีกาและหรือ สนช. พร้อมไปแสดงตนต่อที่รัฐสภา ส่วนต่างจังหวัดให้ทำหนังสือคัดค้านถึงผู้ว่าราชการทุกแห่ง ยันไม่ได้ต่อต้านรัฐบาล แต่ออกโรงเตือนหากกฏหมายนี้ผ่านไปได้จะนำไปสู่วิกฤติชาติ
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เปิดเผยว่า คปพ.ได้เปิดแถลงการณ์เพื่อรวมพลังประชาชนไทย กู้วิกฤติพลังงานครั้งสำคัญด้วยการขอเชิญชวนประชาชนร่วมเดินทางมาลงชื่อเพื่อเสนอต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ถอนพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับกระทรวงพลังงานออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันที่ 9 ก.ค.นี้ตั้งแต่เวลา 9.30 น.เป็นต้นไปและหลังจากนั้นจะเดินทางไปแสดงตนต่อที่รัฐสภาเพื่อเข้าชื่อร่วมกันเสนอ สนช.หยุดยั้งกฏหมายดังกล่าวต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
“ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับที่(…) พ.ศ. …และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมรวม 2ฉบับของกระทรวงพลังงานได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.ไปแล้วและขณะนี้ในส่วนของพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ฯได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้ว 1 รอบส่วนพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทราบว่าอยู่ที่ สนช.
ซึ่งคปพ.เคยไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี 17 มิ.ย. ด้วยการขอให้ถอนร่างกฏหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณาของกฏษฎีกาทันทีและนำร่างกฏหมายที่จัดทำโดยเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน(คปพ.)เสนอต่อครม.เพื่อจัดทำประชาพิจารณ์ในร่างกฏหมายของภาคประชาชนแต่จนขณะนี้คำร้องขอประชาชนยังคงถูกเมินเฉย”นายปานเทพกล่าว
ทั้งนี้การดำเนินการเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องผลประโยชน์ชาติไม่ได้เป็นการขับไล่รัฐบาลแต่อย่างใดซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเองก็ให้คำมั่นต่อประชาชนไว้ว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและความเป็นธรรม” แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาที่ไม่มีการยับยั้งกฎหมายดังกล่าวจนผ่านครม.และมาจนถึงกฤษฎีกาและสนช.แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลังและแกนนำคปพ.กล่าวว่า เป็นความเสี่ยงของรัฐบาลนี้หากปล่อยให้กฏหมายดังกล่าวผ่านออกไปด้วยมีความไม่โปร่งใสหลายด้านทั้งการเร่งรีบโดยไม่ยอมรับร่างกฏหมายของภาคประชาชนทั้งที่รัฐบาลเองก็สั่งให้มาทำการศึกษาร่วมกัน ขณะเดียวกันไม่มีการนำเสนอกลับมายังครม.ให้พิจารณาอีกครั้งและที่สำคัญสุดรัฐบาลจะเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงที่สืบเนืองจากกฏหมายกระทรวงพลังงานฉบับนี้ค่อนข้างสูงเนื่องจากฏหมายกระทรวงพลังงานที่เขียนไว้เป็นการเปิดให้มีการใช้ดุลยพินิจการให้เอกชนได้สิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมทำให้กระบวนการจะนำไปสู่ความไม่โปร่งใส
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำคปพ.กล่าวว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานแต่ละฉบับมีการเขียนรายละเอียดไว้เพียง 3 หน้ากระดาษและเป็นการเสนอรัฐบาลเข้าไปทั้งๆ ที่คณะกรรมาธิการสนช.ที่นายกรัฐมนตรีตั้งมาให้ศึกษากฏหมายดังกล่าวร่วมกันยังอยู่ระหว่างจัดทำข้อสรุปซึ่งพบว่ามีความหนามาก เนื่องจากพบว่าปัญหากฏหมายเดิมมีสูง โดยพบว่าเฉพาะด้านค่าภาคหลวงและผลตอบแทนพิเศษรับมีปัญหา 9 ประเด็น ปัญหาด้านภาษีเงินได้มีถึง 15 ประเด็น แต่แทนที่กระทรวงฯจะแก้ไขปัญหาแต่กลับเป็นการเพิ่มปัญหาเข้าไปอีก
“กระทรวงพลังงานเร่งชิงออกกฎหมายปิโตรเลียมไปก่อนเหมือนเป็นการลักหลับ และปัญหากฏหมายที่มีอยู่กลับไม่แก้ไขแต่กลับเพิ่มปัญหา เช่นด้านภาษีด้านปิโตรเลียมมีมาตรฐานต่ำกว่าประมวลรัษฎากร และลดภาษีเงินได้ปิโตรเลียมลงจาก 50% เหลือ 20% ของกำไรสุทธิ”ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงศา แกนนำคปพ.กล่าวว่า ขอให้ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดร่วมคัดค้าน กฏหมายปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานได้ด้วยการทำหนังสือส่งให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งในวันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กฏหมายของกระทรวงพลังงานแม้ว่าจะมีการเปิดช่องให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC
แต่กลับพบว่ามีมาตรฐานต่ำกว่าประเทศอาเซียนแม้ว่ากระทรวงฯได้พยายามชี้ให้เห็นว่าใช้โมเดลของพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย(JDA) แต่หากพิจารณาจะพบว่ารัฐโดยปิโตรนาสของมาเลเซียได้ประโยชน์จริงแต่ไทยเป็นการยกให้เอกชนรับไปอีกทอดหนึ่งที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นระบบสัมปทาน
“แม้ว่าจะเปิดช่องใช้PSC สุดท้ายก็อยู่ที่ดุลพินิจแม้ว่าจะเปิดแข่งขันและยังมีการเขียนระบุสัญญาว่าจะให้ไม่เกิน 39 ปีถ้ากฎหมายนี้ผ่านไปเราก็จะสูญเสียอำนาจการต่อรองไปอีกยาวนาน ขณะที่ฉบับของภาคประชาชนจะกำหนดแปลงที่มีศักยภาพให้เป็นระบบPSC ซึ่งจะมีความโปร่งใสมากกว่า”นายอิฐบูรณ์กล่าว
พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำคปพ.กล่าวว่า หากกฏหมายฉบับนี้ผ่านไปได้รัฐบาลเองก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกันเพราะสิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องเป็นการรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ ดังนั้นหากจะมีการนำตัวไปปรับทัศนคติก็พร้อม แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการต่อต้านรัฐบาล.