xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ถอนร่างปิโตรฯ2ฉบับ ร่นเวลายื่นสำรวจเหลือ60วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.พลังงานยันไม่ถอนร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับเพราะไม่มีอำนาจเหตุกกฤษฏีกาเห็นชอบแล้วเรื่องจ่อเข้าครม. ก่อนผ่านสนช.เป็นขั้นตอนตามกฏหมาย หากผ่านสนช.พร้อมเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 ได้ทันทีและจะร่นเวลาให้ยื่นภายใน 60 วันจากเดิม 120วันเหตุล่าช้ามานานและเอกชนพร้อมอยู่แล้ว ลั่นลุยไฟต่อ ขึ้นภาษีฯLPG ขนส่งแน่ ส่วนลอยตัว NGV ลุ้นตลาดโลกลดต่ำอาจลอยตัวราคาได้ทันที

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยระหว่างการเปิดตัวหนังสือ 10 เดือนแห่งการลุยไฟ ว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นชอบแล้วขณะนี้รอเสนอเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี(ครม.)หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นขั้นสุดท้ายหากผ่านตามขั้นตอนนี้กระทรวงฯก็พร้อมที่จะเดินหน้าเปิดให้เอกชนยื่นเสนอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ทันทีและครั้งนี้ก็ได้เตรียมเสนอให้ยื่นสิทธิ์สำรวจฯเพียง 60 วัน จากเดิมที่ยื่นภายใน 120วันจากวันลงนามในประกาศเพื่อให้มีความรวดเร็วมากขึ้น

"กระทรวงฯต้องทำให้ได้ภายในปีนี้เพราะนายกฯเองก็สัญญาว่าจะสรุปใน 3 เดือนแต่ก็รอกฏหมายอยู่ เราเองคงไม่มีสิทธิที่จะไปถอนร่างแก้ไขพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนั้นได้เพราะทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนทางกฏหมายและต่างก็มีหน้าที่ทำตาม ซึ่งกฤษฎีกาเป็นผู้ตรวจร่างแก้ไขดังกล่าวแล้วจากนั้นก็ต้องไปสู่กระบวนการตามขั้นตอนส่วนกระทรวงพลังงานก็มีหน้าที่เช่นกันเราก็ต้องเดินหน้ายกเว้นมีอะไรเกิดขึ้นก็เป็นอีกเรื่อง ส่วนการเปิดให้สำรวจฯที่ให้ยื่นแค่ 60 วันก็เพราะว่าเราช้ามามากแล้วอีกส่วนหนึ่งเอกชนก็พร้อมอยู่แล้วเขาก็รออยู่ "นายณรงค์ชัยกล่าว

สำหรับร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯของกระทรวงพลังงานนั้นยืนยันว่าได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนและตามข้อเท็จจริงกฏหมายเดิมนั้นก็มีข้อดีอยู่แล้วแต่ที่ต้องแก้ไขก็เพื่อให้เป็นไปตามเสียงเรียกร้องจากประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเพิ่มทางเลือกในการบริหารจัดการปิโตรเลียมด้วยการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSCจากเดิมกฏหมายกำหนดให้มีเพียงระบบสัมปทานเท่านั้น

นายณรงค์ชัยกล่าวว่า การเปิดให้สำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ไทยรับรู้ถึงแหล่งพลังงานในอนาคตว่าจะมีมากน้อยเพียงใดเพื่อเตรียมวางแผนจัดหาไม่ให้กระทบกับคนรุ่นต่อไปซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันถ้าแหล่งผลิตของไทยดีจริงเหตุใดบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกไม่มาสำรวจและผลิตเพิ่มขึ้นยกเว้นเชฟรอนที่คงอยู่เพราะได้สัมปทานมาตั้งแต่เริ่มแรกที่ประเทศเปิดให้สำรวจเท่านั้น ขณะที่เชลล์ก็ขายหมดแล้วเพราะแหล่งน้ำมันที่ลานกระบือหมด เช่นเดียวกับเอสโซ่ที่แหล่งก๊าซน้ำพองหมดเช่นกัน

"กรณีสัมปทานหมดอายุของแหล่งเอราวัณและบงกชช่วงปี 2565-66 เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำซึ่งยืนยันว่าเมื่อหมดอายุกรรมสิทธิ์ก็จะต้องตกเป็นของรัฐ หน้าที่เราที่ได้รับมอบหมายก็จะต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้การผลิตนั้นต่อเนื่องเพราะเป็นแหล่งใหญ่ ซึ่งก็จะได้ประกาศให้ชัดเจนภายในกรอบที่กำหนด 1ปี"นายณรงค์ชัยกล่าว

นายณรงค์ชัยกล่าวว่า การเปิดตัวหนังสือ10 เดือนแห่งการลุยไฟ โดยจัดทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กซึ่งเหตุที่มองเป็นเรื่องลุยไฟเพราะพลังงานเป็นเรื่องของความร้อนและเกี่ยวข้องกับประชาชนการทำงานที่ผ่านมายอมรับว่าการเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจปิโตรเลียมให้เกิดการปฏิบัติเป็นเรื่องยากสุดรองลงมาคือการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) การผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ส่วนการขึ้นภาษีสรรพสามิตแอลพีจีภาคขนส่งนั้นไม่ได้ยากนักแต่ต้องรอเวลาให้กระทรวงการคลังตัดสินใจเรื่องภาษีฯอีกครั้งเท่านั้น

ก.พลังงานลุ้นตลาดโลกลดหวังลอยตัว NGV

ทั้งนี้การปรับโครงสร้างราคา NGVให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจาก ปัจจุบันอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ส่วนราคาสำหรับรถบริการสาธารณะจำหน่ายที่ 10.50 บาทต่อกก. แต่ต้นทุนจริงล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 15บาทต่อกก.ทางกระทรวงฯก็ต้องการปรับขึ้นแต่เนื่องจากเกี่ยวข้องกับต้นทุนภาคขนส่งด้านสาธารณะโดยเฉพาะแท็กซี่ซึ่งหากคมนาคมให้ปรับขึ้นค่าบริการการปรับขึ้น NGVก็คงดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามราคาตลาดโลกหากลดต่ำลงต่อเนื่องจนสามารถลอยตัวราคา NGV ได้กระทรวงฯก็ดูจังหวะนี้อยู่เพราะจะไม่กระทบต่อการปรับขึ้นราคาในทันที

" NGV เองยังติดปัญหาที่ต้องเกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะด้วย ส่วนแอลพีจีเราทำแล้วเหลือเพียงการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตซึ่งได้ส่งสัญญาณชัดเจนในภาคขนส่ง ครัวเรือนเราไม่แตะเพราะเห็นว่าภาคขนส่งถูกเกินไปรถยนต์ก็ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ผิดกับ NGV ที่ประกอบออกมาเลยแต่แอลพีจีต้องมาดัดแปลงจึงต้องให้สัญญาณกับประชาชนว่าต่อไปเราจะขึ้นภาษีฯแอลพีจีภาคขนส่งแน่นอนรอเพียงกระทรวงการคลังผ่านกฏหมายด้านภาษีเท่านั้น"นายณรงค์ชัยกล่าว

ซัด'ธีระชัย'เอียงข้างพลังงาน

วานนี้(13 ก.ค.) เมื่อเวลา 17.51 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีหนังสือพิมพ์มติชน เสนอข่าว พลังงาน-คปพ.งัดข้อ เปิดศึกชิงร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เกมวัดใจ"รบ.-สนช." ว่า ผมต้องขอบใจ นสพ.มติชน ที่ลงข่าวเกี่ยวกับข้อขัดแย้ง ระหว่างร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับกระทรวงพลังงาน กับฉบับที่เสนอโดยเครือข่ายประชาชน คปพ. แต่ปรากฏว่าข่าวของมติชน ให้พื้นที่คำชี้แจงเฉพาะของกระทรวงพลังงานด้านเดียว ไม่รู้เป็นเพราะมีผู้สื่อข่าวของฉบับนี้ร่วมเดินทางไปอิตาลี กับผู้บริหารกลุ่มทุนพลังงาน จึงทำให้รับทราบข้อมูลเฉพาะด้าน อย่างเต็มที่ไปหน่อยหรือเปล่า

“ผมจึงต้องให้ข้อมูลแก่ผู้อ่าน คือ 1.การเลือกเอกชนเพื่อให้สิทธิทำธุรกิจนี้ มีประโยชน์มหาศาล มูลค่าหลายแสนล้านบาท ดังนั้น ถ้าหากเขียนกฎหมายหละหลวม จะเปิดช่องทุจริต 2.หากมีช่องโหว่ที่เปิดให้ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ แม้แต่เป็นเปอร์เซนต์เล็กน้อย ก็จะเป็นจำนวนเงินใต้โต๊ะจำนวนมหาศาล

3.เนื่องจากเป็นทรัพยากรหลักของประเทศชาติและประชาชน และผลประโยชน์มีมูลค่าสูงมากจึงจำเป็นต้องเขียนกติกาไว้ชัดเจน

4.ถึงแม้การเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอนั้น จะกระทำในรูปของประกาศของกรมฯ แต่การอ้างว่าการออกเป็นประกาศนั้น จะทำให้กระบวนการพิจารณา จะมีความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแน่นอนนั้น ไม่จริง

เพราะกระบวนการพิจารณาจะใช้วิธีเดิม คือวิธีเดียวกับที่เคยใช้ในการพิจารณาให้สัมปทานที่ผ่านมา 20 รอบ ซึ่งปรากฏข้อมูลชัดเจนแล้ว ว่าเป็นกระบวนการทำงาน ที่ข้าราชการปิดห้อง มีการให้คะแนน โดยใช้ดุลพินิจส่วนตัว และมีการเจรจา โดยไม่มีสื่อมวลชนเข้ารับฟังกระบวนการเจรจาแบบปิดห้องอย่างนี้ เปิดช่องให้มีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงครับ”

“มติชน เขียนอีกว่า "ส่วนกรณีที่ คปพ.เสนอให้รัฐบาลแก้ไขสัญญาและขอเข้าไปในพื้นที่ และถ่ายโอนสิทธิก่อนสิ้นสุดอายุล่วงหน้า 5 ปี ยืนยันว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดำเนินการไม่ได้ และกระทบต่อการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะนอกจากไม่ส่งเสริมการลงทุน ไม่เพิ่มสัดส่วนรายได้ให้รัฐแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับศักยภาพปิโตรเลียมของประเทศ เพราะเน้นปริมาณเงินที่รัฐจะได้มากกว่าปริมาณงาน"

“ผมอธิบายว่า 1.การที่เอกชนจะแก้ไขสัญญา เพื่อให้รัฐบาลมีสิทธิเข้าพื้นที่สัมปทานก่อนวันหมดอายุนั้น คปพ.เสนอให้ทำโดยเอกชนสมัครใจ ไม่มีการออกกฎหมายบังคับ ดังนั้น จึงไม่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น