“ธีระชัย” โต้ “มติชน” ลงข่าวกรณีขัดแย้ง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม แต่ให้พื้นที่คำชี้แจงของกระทรวงพลังงานด้านเดียว ย้ำ ธุรกิจปิโตรเลียมมีผลประโยชน์มหาศาล เปิดช่องโหว่นิดเดียวจะมีเงินใต้โต๊ะเพียบ ต้องเขียนกติกาให้ชัดเจนในระดับ พ.ร.บ. และไม่ปล่อยให้ข้าราชการปิดห้องใช้ดุลพินิจส่วนตัวให้คะแนนแบบเดิม พร้อมยืนยันให้รัฐเข้าพื้นที่เตรียมการก่อนสิ้นสุดสัญญา 5 ปี ไม่ผิดกฎหมาย ไม่กระทบการลงทุน
วันนี้ (13 ก.ค.) เมื่อเวลา 17.51 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีหนังสือพิมพ์มติชน เสนอข่าว พลังงาน - คปพ. งัดข้อ เปิดศึกชิงร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม เกมวัดใจ “รบ.- สนช.” ว่า ผมต้องขอบใจ นสพ.มติชน ที่ลงข่าวเกี่ยวกับข้อขัดแย้ง ระหว่างร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับกระทรวงพลังงาน กับฉบับที่เสนอโดยเครือข่ายประชาชน คปพ. แต่ปรากฏว่า ข่าวของมติชน ให้พื้นที่คำชี้แจงเฉพาะของกระทรวงพลังงานด้านเดียว ไม่รู้เป็นเพราะมีผู้สื่อข่าวของฉบับนี้ร่วมเดินทางไปอิตาลี กับผู้บริหารกลุ่มทุนพลังงาน จึงทำให้รับทราบข้อมูลเฉพาะด้าน อย่างเต็มที่ไปหน่อยหรือเปล่า
“ผมจึงต้องให้ข้อมูลแก่ผู้อ่าน เพื่อให้สมดุลกัน ดังนี้ มติชน เขียนว่า “ดูเหมือนครั้งนี้กระทรวงพลังงานจะตั้งรับดี เพราะไม่กี่วันถัดมา นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) เปิดแถลงข่าวด่วนก่อนการรวมตัวของ คปพ. เพียง 1 วัน โดย (ชี้แจงว่า)...ในกฎหมายก็ระบุว่า จะทำระบบใด หากออกประกาศเชิญชวนรอบใหม่ ก็จะต้องเปิดเผยให้รับรู้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด และให้ภาครัฐได้ประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้เต็มที่ จึงจะมีความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแน่นอน”
“ผมอธิบายว่า 1. การเลือกเอกชนเพื่อให้สิทธิทำธุรกิจนี้ มีประโยชน์มหาศาล มูลค่าหลายแสนล้านบาท ดังนั้น ถ้าหากเขียนกฎหมายหละหลวม หากเปิดโอกาสให้ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ช่องโหว่นี้ จะเปิดช่องทุจริต ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ แต่จะเปิดสำหรับทุกรัฐบาลต่อไปจากนี้ด้วย
2. หากมีช่องโหว่ที่เปิดให้ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ แม้แต่เป็นเปอร์เซนต์เล็กน้อย ก็จะเป็นจำนวนเงินใต้โต๊ะจำนวนมหาศาล ดังนั้น ร่างกฎหมายจึงจำเป็นต้องรัดกุมในทุกด้าน
3. เนื่องจากเป็นทรัพยากรหลักของประเทศชาติและประชาชน และผลประโยชน์มีมูลค่าสูงมากจึงจำเป็นต้องเขียนกติกาไว้ชัดเจน ในระดับของตัว พ.ร.บ. เอง โดยผ่านสภา มิใช่เปิดช่องให้ออกเป็นระเบียบชั้นลูก ในรูปของกฎกระทรวง หรือชั้นหลาน ในรูปของประกาศกรมเชื้อเพลิงฯ เพราะรัฐบาลต่อ ๆ ไป จะแก้ไขให้หลวมเพิ่มขึ้นอย่างไร ก็ทำได้ง่าย
4. ถึงแม้การเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอนั้น จะกระทำในรูปของประกาศของกรมฯ แต่การอ้างว่าการออกเป็นประกาศนั้น จะทำให้กระบวนการพิจารณา จะมีความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแน่นอนนั้น ไม่จริง
เพราะกระบวนการพิจารณาจะใช้วิธีเดิม คือ วิธีเดียวกับที่เคยใช้ในการพิจารณาให้สัมปทานที่ผ่านมา 20 รอบ ซึ่งปรากฏข้อมูลชัดเจนแล้ว ว่าเป็นกระบวนการทำงาน ที่ข้าราชการปิดห้อง มีการให้คะแนน โดยใช้ดุลพินิจส่วนตัว และมีการเจรจา โดยไม่มีสื่อมวลชนเข้ารับฟังกระบวนการเจรจาแบบปิดห้องอย่างนี้ เปิดช่องให้มีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงครับ”
“มติชน เขียนอีกว่า “ส่วนกรณีที่ คปพ. เสนอให้รัฐบาลแก้ไขสัญญาและขอเข้าไปในพื้นที่ และถ่ายโอนสิทธิก่อนสิ้นสุดอายุล่วงหน้า 5 ปี ยืนยันว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดำเนินการไม่ได้ และกระทบต่อการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะนอกจากไม่ส่งเสริมการลงทุน ไม่เพิ่มสัดส่วนรายได้ให้รัฐแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับศักยภาพปิโตรเลียมของประเทศ เพราะเน้นปริมาณเงินที่รัฐจะได้มากกว่าปริมาณงาน”
“ผมอธิบายว่า 1. การที่เอกชนจะแก้ไขสัญญา เพื่อให้รัฐบาลมีสิทธิเข้าพื้นที่สัมปทานก่อนวันหมดอายุนั้น คปพ.เสนอให้ทำโดยเอกชนสมัครใจ ไม่มีการออกกฎหมายบังคับ ดังนั้น จึงไม่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน
2. เรื่องนี้จะไม่กระทบการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะการที่รัฐบาลขอสิทธิเจ้าพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อนวันหมดอายุนั้น ไม่ได้กระทบสิทธิของเอกชนในการผลิตแต่อย่างใด ไม่ได้กระทบรายได้ของเอกชนแม้แต่น้อย
3. เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการหาทางเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐจากสัมปทานเดิมแต่อย่างใด และไม่เห็นจะเกี่ยวกับศักยภาพปิโตรเลียมของประเทศตรงไหน ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงควรจะดีใจเสียอีก ว่า คปพ. ได้เสนอวิธีดำเนินการที่แก้ปัญหารัฐบาลขาดอำนาจต่อรอง”
“ผมอยากจะเห็นกระทรวงพลังงาน ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนให้เต็มที่ มากกว่าจะไปกังวลเรื่องผลประโยชน์ของเอกชนมากเกินควร”