xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานไม่สนกระแสต้าน ดันกม.ปิโตรฯ "รสนา"ท้าทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรอกฤษฎีกาส่งร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้ยืนยัน ก่อนเสนอ ครม. และ สนช. เห็นชอบ ย้ำกฎหมายผ่าน สปช. และเวทีสาธารณะมาแล้ว เผยเปิดทางเลือกในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ทั้งใช้ระบบสัมปทานและแบ่งปันผลผลิต ระบุการให้สิทธิสำรวจมีกฎเกณฑ์ ไม่มีใครสั่งให้เจรจาลับได้ สุดท้าย ครม. ต้องเป็นผู้เคาะอนุมัติ ไม่ใช่บิ๊กพลังงาน เย้ยร่างกฎหมายฉบับ คปพ. ปฏิบัติจริงไม่ได้ "รสนา"ซัดปลัดพลังงานขี้โม้ หากกฎหมายผ่านจะยุติความขัดแย้ง ท้าทำประชามติให้ประชาชนเลือกเอากฎหมายฉบับไหน

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาเสร็จแล้ว จากนั้นจะต้องส่งเรื่องมายังกรมเชื้อเพลิงฯ ให้ยืนยัน และขั้นตอนต่อไปจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยยืนยันว่าร่างทั้งหมดได้มีการรับฟังความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติและเวทีสาธารณะหลายครั้งและร่างดังกล่าวเป็นการเสนอทางเลือกในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมภายในประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการรอบใหม่ (รอบ21) ได้ทั้งระบบสัมปทานปิโตรเลียมและระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC)

ทั้งนี้ ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจใช้ระบบสัมปทาน หรือPSC รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงาน หรือแม้แต่อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ ก็ไม่มีอำนาจที่จะไปเรียกเอกชนมาเจรจาโดยไม่เปิดเผยได้ เพราะการดำเนินการ จะต้องเปิดประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามายื่นสิทธิ์และสำรวจปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดการแข่งขันยื่นข้อเสนอที่ดีสุด และต้องไม่ต่ำกว่าผลประโยชน์ขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฏหมาย ซึ่งขั้นตอนก็จะต้องผ่านคณะกรรมการคัดเลือก คณะกรรมการปิโตรเลียม และการตัดสินใจให้สัมปทานขั้นสุดท้าย ก็อยู่ที่ดุลพินิจของ ครม. ไม่ใช่เป็นของ รมว.พลังงาน แต่อย่างใด

"กรณีที่มีการเปิดสำรวจ หากแปลงใด มีเอกชนมายื่นเพียงรายเดียว แต่รัฐเห็นว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดในการจัดหาปิโตรเลียม กรณีนี้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกสามารถเรียกมาเจรจาเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดเกิดกับรัฐได้ แต่ที่สุดก็ต้องเสนอให้ ครม. เห็นชอบ ส่วนการโอนสิทธิ์สัมปทานให้กับบริษัทอื่นก็มีมาตรา 24 ที่กำหนดคุณสมบัติไว้แล้ว และเป็นสิทธิทางกฏหมายที่ทำได้เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง"นางพวงทิพย์กล่าว

นอกจากนี้ การเปิดให้สำรวจ จะต้องกำหนดแปลงสำรวจว่าจะใช้ระบบใดให้เอกชนเข้ามาเสนอการแข่งขัน ซึ่งการเปิดสำรวจรอบ 21 มีแปลงที่จะเปิดดำเนินการ 29 แปลง จะมี 3 แปลงที่เคยค้นพบศักยภาพที่จะใช้ระบบPSC เพราะหากให้เอกชนเลือกเองว่าจะใช้ระบบใด เชื่อว่าจะไม่มีใครเลือก PSC เนื่องจากระบบ PSC เป็นการเน้นเสนอรายได้ให้รัฐสูงสุด แต่มีความเสี่ยงว่าสำรวจแล้วอาจเจอแหล่งปิโตรเลียมไม่มาก ขณะที่สัมปทานจะมีการดูปริมาณงานและเงินลงทุน สัดส่วนรายได้ที่จะส่งรัฐขั้นต่ำไว้ชัดเจนแล้ว

สำหรับประเด็นข้อกล่าวอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดระบบPSC เปิดให้เอกชนสามารถหักได้ในอัตรา 50% ทั้งหมด และส่งผลให้ประชาชนเสียผลประโยชน์นั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว คือ กำหนดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง โดยไม่เกิน 50% ของผลผลิตรวมปิโตรเลียม (คำนวณจากการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมทั้งหมด) ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 50% ก็หักได้เท่ากับค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น (ต้องเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ)

นางพวงทิพย์กล่าวว่า ประเด็นที่เสนอให้รัฐบาลแก้ไขสัญญาและขอเข้าไปในพื้นที่และถ่ายโอนสิทธิสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่ง คือ เอราวัณ และบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 ก่อนสิ้นอายุล่วงหน้า 5 ปี เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ และเรื่องดังกล่าวยังส่งผลกระทบและเป็นภัยระหว่างประเทศในด้านการลงทุนอีกด้วย ซึ่งยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่กระทรวงพลังงานเสนอนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแปลงสัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานแต่อย่างใด โดยกรณีดังกล่าว รัฐบาลโดยมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบกรอบแนวทางให้กระทรวงพลังงานมาดำเนินการสรุปเพื่อให้ได้ข้อยุติใน 1 ปีแล้ว จึงเป็นคนละเรื่องกัน

"ข้อเสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หากพิจารณาศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมของไทย ไม่ได้มากพอ ทำให้ไม่สอดคล้องกับศักยภาพปิโตรเลียมและการจัดเก็บรายได้ที่จะเกิดขึ้น และยังมีการรวบอำนาจ ทั้งการกำกับกิจการและผู้ปฏิบัติไว้ด้วยกัน ซึ่งหากต้องการให้โปร่งใส การกำกับกิจการ ควรแยกออกจากการปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพลังงานเห็น"นางพวงทิพย์กล่าว

นายชยุตพงศ์ นันท์ธนะวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติและนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หากพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พบว่ามีหลายมาตรา ไม่สัมพันธ์กัน ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ทั้งการบังคับใช้อำนาจ เรื่องการเสนอรายได้ เป็นต้น

"กรณีการเปิดให้แข่งขันร่างของกระทรวงพลังงานจะกำหนดปริมาณงานและเงินลงทุน แต่ของ คปพ. มองเป้าหมายแค่ใครเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด ดังนั้น หากเอกชนเสนอเงิน 1,000ล้านบาทให้ แต่ไม่ได้กำหนดขอบเขตการทำงาน เราก็จะเสียโอกาส เพราะหากเขาเจาะหลุมไปแล้วไม่คุ้ม ก็ไม่พัฒนา แต่กรณีของพลังงานต้องกำหนดเนื้องานมาประกอบ เพื่อให้เห็นข้อผูกพัน ถ้าไม่ทำตามนั้น ก็จะริบเงินทันที"นายชยุติพงศ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศระหว่างการแถลงข่าว พบว่ามีตัวแทนจาก คปพ. เข้าร่วมด้วย ทำให้บรรยากาศการแถลงข่าวช่วงท้ายค่อนข้างตึงเครียด เนื่องจากตัวแทน คปพ. ดังกล่าว ได้วิจารณ์ร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานว่าหากรัฐและเอกชนที่เข้าลงทุนปิโตรเลียมมีความขัดแย้งกันจะต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เท่ากับเป็นการลดตัวของประเทศหรือไม่ เหตุใดไม่รักษาประโยชน์ประเทศ ซึ่งตัวแทนจาก ชพ. ชี้แจงว่า เป็นหลักเกณฑ์สากลที่ประเทศส่วนใหญ่ปฏิบัติ เพราะหากมีข้อพิพาทแล้ว รัฐใช้อำนาจยึดสิทธิจากเอกชนทั้งหมด อาจถูกฟ้องร้องและแพ้ได้ ขณะเดียวกันหากพิจารณาอีกมุมหนึ่ง หากเป็นเอกชนไทยออกไปลงทุนปิโตรเลียมต่างประเทศ เมื่อเกิดข้อพิพาท ก็ต้องการความเป็นธรรมเช่นเดียวกับเอกชนที่เข้ามาลงทุนในไทย

วันเดียวกันนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปฏิรูปพลังงาน ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "รสนา โตสิตระกูล" หัวข้อ “ขอเสนอให้รัฐบาลทำประชามติร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับของกระทรวงพลังงานและฉบับของภาคประชาชน”

โดยน.ส.รสนาระบุว่า ได้อ่านข่าวในไทยโพสต์ออนไลน์ว่า ปลัดกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์โต้กรณีที่ คปพ. กล่าวหากระทรวงพลังงานนำเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่อ สนช. อย่างเร่งรีบ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมนั้น ไม่เป็นความจริง และยังให้สัมภาษณ์อีกว่า กฎหมายได้มีการรับฟังความคิดเห็นจาก สปช. และเวทีสาธารณะหลายครั้งในรอบปี 2558 แต่ในความเป็นจริง แม้แต่กรรมาธิการพลังงานใน สปช. ยังไม่มีใครได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่างภาษีปิโตรเลียมฯ ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างเป็นทางการ

"ดิฉันเคยเสนอในที่ประชุมกรรมาธิการพลังงานให้ขอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จากกระทรวงพลังงาน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา ในที่ประชุมอนุกรรมาธิการปิโตรเลียม ก็มีการพูดถึงประเด็นนี้ กรรมาธิการท่านหนึ่งที่เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ก็ยังตอบในที่ประชุมว่าท่านก็ยังไม่เคยเห็นร่างกฎหมายนี้เช่นกัน ในฐานะที่อยู่ในกรรมาธิการพลังงานของ สปช. จึงไม่เคยทราบมาก่อนว่า ได้มีการรับฟังความคิดเห็น ตามที่ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวอ้าง และถ้ามีก็ควรนำมาเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์"

อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดนำร่างกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียมดังกล่าวเข้าสู่ ครม. และ สนช. โดยไม่ได้ผ่านการฟังเสียงของประชาชนอย่างเพียงพอ จะทำให้เกิดความสงสัยในหมู่ประชาชน ว่า ร่างกฎหมาย 2 ฉบับนั้น รับใช้ผลประโยชน์ของใคร ?

น.ส.รสนา โพสต์อีกว่า มูลค่าทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ไม่ใช่สมบัติของกระทรวงพลังงานที่คิดจะกำหนดจัดการอย่างไรก็ได้ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นสมบัติของประชาชนไทยทั้งประเทศ ที่ไม่ได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรมจากทรัพยากรนั้น แต่กลับต้องแบกรับราคาพลังงานอันสูงลิ่วตลอดจนภาษีพลังงาน รวมทั้งกองทุนน้ำมันมาโดยตลอด

"ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นเรื่องใหญ่พอๆ กับเรื่องรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เพื่อให้ปิโตรเลียมเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ดิฉันขอเสนอให้รัฐบาลทำประชามติว่าประชาชนจะเห็นชอบในร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใดระหว่างร่างกฎหมายปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน หรือ ฉบับร่างของภาคประชาชน เพื่อยุติความขัดแย้งและนำไปสู่การปฏิรูปพลังงานอย่างแท้จริง"น.ส.รสนาระบุ

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) กล่าวว่า ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจาก สปช. และเวทีสาธารณะ เพราะไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเวทีสาธารณะมีแค่จะออกสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แต่เรื่องการแก้ไขกฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอมา ไม่เคยเปิดเวทีสาธารณะมาแม้แต่ครั้งเดียว ต้องยอมรับความจริงว่า กฎหมายตัวนี้ไม่เคยผ่านประชาพิจารณ์ และประชาชนไม่เคยเห็น ดังนั้น ที่มาออกข่าวว่าผ่านเวทีเสวนาสาธารณะมาแล้วหลายครั้งไม่จริง

ทั้งนี้ ยืนยันว่า วันนี้ (9 ก.ค.) เวลา 09.09 น. คปพ. ยังคงมาลงชื่อเพื่อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ถอนพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สนช. จากนั้นจะไปแสดงตนต่อรัฐสภา เพื่อเข้าชื่อร่วมกันเพื่อหยุดยั้งกฎหมายดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น