xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมกร” แฉอธิบดีเชื้อเพลิงฯ โมเม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพียบ ถามกลับจะปกป้องรัฐหรือนายทุนต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน จวกยับอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โมเมร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ชี้ ไม่เคยผ่านประชาพิจารณ์ ประชาชนไม่เคยเห็น แฉตอนเข็นเข้ากฤษฎีกาให้หักเหมาจ่าย 50% แต่ถูกแก้ไขทีหลัง แต่ไร้บริษัทกลางดูแล โมเมเปิดเผยแค่ประกาศเชิญชวน ประมูลอะไรกันทำลับหลัง ย้อนกลับปกป้องความมั่นคงของรัฐ หรือปกป้องเอกชน ย้ำพรุ่งนี้แสดงตนถอนร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 9 โมงเช้าเหมือนเดิม

วันนี้ (8 ก.ค.) ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) กล่าวถึงกรณีที่ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ชี้แจงกรณีร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่กระทรวงพลังงานเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ที่ นางพวงทิพย์ ระบุว่า ได้รับฟังความคิดเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเวทีเสวนาสาธารณะมาแล้วหลายครั้ง ตนยืนยันว่า ไม่เคยมีเกิดขึ้นเลย เวทีสาธารณะมีแค่จะออกสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แต่เรื่องการแก้ไขกฎหมายที่ระทรวงพลังงานเสนอมาไม่เคยเปิดเวทีสาธารณะมาแม้แต่ครั้งเดียว ต้องยอมรับความจริงว่า กฎหมายตัวนี้ไม่เคยผ่านประชาพิจารณ์ และประชาชนไม่เคยเห็น ดังนั้น ที่มาออกข่าวว่าผ่านเวทีเสวนาสาธารณะมาแล้วหลายครั้งไม่จริง

ส่วนที่ระบุว่า เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เมื่อประชาชนเป็นคนเสนอ ประชาชนต้องการระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) กระทรวงพลังงานต่างหากที่แย้งมาตลอดว่าไม่จำเป็น แต่เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีความเห็นมาทางประชาชน จึงชิงออกกฎหมายตัวนี้มาก่อน โดยที่ไม่เคยเอาผลการศึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา พ.ร.บ. ปิโตรเลียม มาใช้เลย ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ในกฎหมายแต่เดิมยังอยู่ครบถ้วน แล้วอยู่ ๆ เอาระบบแบ่งปันผลผลิตมาใส่เข้าไป แต่กฎหมายที่เขียนเข้ามามีปัญหา

อาทิ เรื่องค่าใช้จ่ายที่กำหนดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง โดยไม่เกินร้อยละ 50 ของผลผลิตรวมปิโตรเลียม (คำนวณจากการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมทั้งหมด) ก็ไม่ได้เอ่ยว่า ก่อนที่จะไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ครั้งแรกให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายร้อยละ 50 ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการแก้ไข ก็ต้องขอบคุณที่แก้ไขในจุดนี้ให้ ของใหม่จึงระบุว่าหักไม่เกินร้อยละ 50 แล้วก็จ่ายตามจริง ถือว่าแก้จุดนี้ให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้ทั้งหมด เพราะค่าใช้จ่ายตรงนี้ไม่มีบริษัทพลังงานแห่งชาติดูแล แตกต่างจากต่างประเทศที่บริษัทพลังงานแห่งชาติต้องดูแล ถ้าหักค่าใช้จ่ายต่ำ บริษัทพลังงานแห่งชาติก็มีกำไรสูง ถ้าปล่อยให้เขาหักค่าใช้จ่ายสูง บริษัทพลังงานแห่งชาติก็จะกำไรต่ำ จึงเป็นการคานอำนาจในตัวของมันเอง

“การให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติดูแล เป็นความเสี่ยงมหาศาลว่ามูลค่าปิโตรเลียมกว่า 5 แสนล้านบาท ให้คน ๆ เดียวดูแลอนุมัติงบ คำว่าโปร่งใสต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วการที่อธิบดีอนุมัติแล้วอ้างว่าโปร่งใสนั้นทำไม่ได้ เป็นการตีความกันไปเอง แต่ตัวกฎหมายถือว่าไม่รัดกุม” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ส่วนประเด็นที่ไม่สามารถเจรจาโดยไม่เปิดเผยได้ เพราะต้องเปิดเผยการออกประกาศเชิญชวนรอบใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันยื่นข้อเสนอ ม.ล.กร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสัมปทานในรอบที่ 20 ในปี 2550 ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการเจรจา แต่ได้ทราบจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่า รอบแรกเสนอมาแล้วมีการเจรจาในรอบเจรจา บางคนถึงกับไม่กรอกตัวเลข แล้วมากรอกในรอบเจรจา จึงได้คะแนนสูง หรือบางคนได้คะแนนรอบแรกแล้ว พอเจรจาแล้วจำนวนเงินเท่าเดิม แต่คะแนนขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นมีประสบการณ์ให้เห็นแล้วว่า เวลาที่อธิบดีพูดว่าโปร่งใสในมุมของตนนั้น มันโปร่งใสไม่เพียงพอกับยุคสมัยที่ประชาชนต้องการรับรู้รับทราบ

“การที่อธิบดีบอกว่าเจรจาไม่เปิดเผยไม่มีหรอก มีแต่เปิดเผย แต่เปิดเผยในการออกประกาศเชิญชวน เวลาเขาชวนคนมาลงทุนเขาเปิดเผย แต่เวลาเจรจาเขาไม่ได้เปิดเผย ดังนั้น ที่บอกว่าไม่สามารถเจรจาไม่เปิดเผยได้ เพราะต้องเปิดเผยผ่านการออกประกาศเชิญชวน เชิญชวนน่ะเปิดเผย แต่เวลาประมูลแล้วไปเจรจาอะไรกัน พวกเราไม่เคยรับรู้เลย แล้วทุกวันนี้สื่อก็ยังไม่เคยรู้ว่ารอบที่ 20 ที่ผ่านมา ที่เจรจากันนั้น เจรจาอะไรกันไม่ทราบ เพราะฉะนั้นจะมาสรุปว่าที่ทำอยู่โปร่งใสและเป็นธรรมกับประชาชน มันเชื่อได้ยาก ทำไมเราถึงอยู่บนความเชื่อ ทำไมเราไม่อยู่บนกติกาที่โปร่งใสเลยว่า ถ้ามีการเจรจา สื่อจะนั่งอยู่ในห้องได้ ประชาชนที่อยากรู้เข้าไปอยู่ในห้องได้ ไม่มี จุดเหล่านี้จึงยังโปร่งใสไม่พอ” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

แกนนำ คปพ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การที่พิจารณาสัมปทานโดยดูจากบริษัท ทุนจดทะเบียน และการมีบริษัทอื่นรับรอง ไม่ใช่การพิจารณาการคัดเลือกผู้รับสัมปทาน หรือการคัดเลือกคู่สัญญาในต่างประเทศ การจะเลือกใครได้ทำสัญญากับรัฐ เขาเลือกคนที่จ่ายผลตอบแทนแก่รัฐมากที่สุด แต่ของเราไม่ได้พูดถึงเลย ไม่ใช่การคัดเลือก แต่ในต่างประเทศเป็นการมาลงทะเบียนว่าคุณสมบัติครบหรือไม่ครบ ถึงคุณสมบัติครบแต่ใช่ว่าจะได้ ต้องประมูลว่าใครให้ส่วนแบ่งแก่รัฐมากที่สุด คนนั้นจึงได้ไป เพราะฉะนั้นการที่อ้างว่าการคัดเลือกแบบนี้ คือ การลงทะเบียนเฉย ๆ แต่เรากลับเอามาลงทะเบียนมาเป็นตัวให้สัมปทานซึ่งไม่ใช่ ต่างประเทศไม่ได้ทำแบบนี้ เพราะต้องกำหนดตัวผลประโยชน์ต่อรัฐเป็นตัวตัดสิน เพราะฉะนั้นเงื่อนไขในการพิจารณาไม่ถูกหลักการและปิดโอกาสให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งภาคประชาชนไม่สบายใจ

ส่วนกรณีพื้นที่สัมปทานที่จะหมดอายุในอีก 5 ปี ซึ่งภาคประชาชนเสนอว่าพื้นที่ตรงนี้จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับรัฐก่อนที่จะหมดอายุ แล้วพอหมดอายุปุ๊บรัฐก็จะเข้าพื้นที่ไปจ้างใครผลิต หรือผลิตเองก็สามารถทำได้ ทางกระทรวงก็ตอบมาว่า เข้าพื้นที่ไม่ได้ ผิดกฎหมาย สรุปว่ากฎหมายนี้ปกป้องความมั่นคงของรัฐหรือความมั่นคงของเอกชน ในเมื่อกฎหมายมันเป็นของรัฐ ดังนั้น แสดงว่า ตอนต่อสัญญาคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐหรือเปล่า ไปปกป้องเอกชน อย่างไม่ได้คำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ ทั้งที่จริง ๆ แล้วถ้าใส่ข้อความแต่เพียงว่า ก่อนหมดสัญญา 3 ปี รัฐจะเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ เราเข้าไปเรียนรู้ ไม่ได้เพื่อไปเอาทรัพยากร เพราะยังไม่หมดอายุ เขียนแค่นี้รัฐก็ปลอดภัยแล้ว และรัฐก็เข้าไปถ่ายทอดความรู้ เข้าไปดำเนินการต่อได้หลังจากนั้น

“แต่มาประกาศว่า รัฐอย่าเข้าไปนะ มันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นภัยระหว่างประเทศในด้านการลงทุน ผมฟังแล้วก็ตกใจว่า ตกลงเป็นประกาศของบริษัทเอกชนต่างชาติ หรือประกาศของหน่วยงานของรัฐ เพราะว่าจริง ๆ แล้วหน่วยงานของรัฐ หน้าที่ที่สำคัญกว่านี้ คือ ปกป้องสิทธิของประชาชนด้วยความเป็นธรรม และจัดสรรทรัพยากรให้กับประชาชนด้วยความเป็นธรรม ถ้าสิทธิยังไม่ถูกปกป้อง การจัดสรรทรัพยากรก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ อ่านตรงนี้แล้วก็ไม่สบายใจ เพราะรู้สึกว่าแล้วใครจะปกป้องสิทธิของประชาชน ทำให้การจัดการเกิดประโยชน์สูงสุด เอาชาติและประชาชน มองแล้วรู้สึกจะปกป้องนักลงทุนเป็นพิเศษ เราเพียงต้องการความเท่าเทียมระหว่างนักลงทุนกับประชาชน ความมั่นคงของรัฐอันดับหนึ่ง ต่อมาคือประโยชน์ของประชาชน และสุดท้าย เอกชนได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสม เกิดจากการแข่งขัน ขอแค่นี้เอง กฎหมายที่เสนอมาเป็นกฎหมายที่ไม่ได้พูดถึงประชาชนเลย และความมั่นคงของชาติไม่ได้พูด พูดอย่างเดียวเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ทรัพยารกที่ขุดได้ น้ำมันดิบจำนวนไม่น้อยถูกส่งออกให้ต่างชาติทุกปี วันนี้มาพูดเรื่องความมั่นคงทางพลังงานมันใช่หรือเปล่า จึงควรทบทวนว่าน่าจะกลับมาที่ความมั่นคงของชาติเป็นอันดับหนึ่ง” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค.) เวลา 09.09 น. คปพ. ยังคงมาลงชื่อเพื่อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ถอนพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับกระทรวงพลังงานออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และหลังจากนั้นจะเดินทางไปแสดงตนต่อที่รัฐสภาเพื่อเข้าชื่อร่วมกันเสนอ สนช. หยุดยั้งกฎหมายดังกล่าวเหมือนเดิม ถึงกระนั้น ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะที่รับฟังการมีส่วนร่วมของประชาชน จะจัดประชาพิจารณ์กฎหมายภาคประชาชน และกฎหมายของกระทรวงพลังงาน ในวันที่ 18 ก.ค. จะนำกฎหมายเหล่านี้มาประชาพิจารณ์ แล้วที่กระทรวงอ้างว่ารับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง ซึ่งคิดว่ายังไม่เคยเกิด ก็จะเกิดขึ้นครั้งนี้ ขอฝากประชาชนให้ศึกษากฎหมายปิโตรเลียมของ คปพ. ตัวนี้ เพราะเรายินดีรับฟัง และอยากได้ความเห็นของประชาชน รวมทั้งฝากทางกระทรวงส่งคนมาด้วยก็ดี จะได้รู้ว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น