xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฝ่าวิกฤตพลังงาน ม.44 เอาอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รู้ๆ กันอยู่ว่านักวางแผนด้านพลังงานของประเทศที่ทำตัวเป็นนอมินีของกลุ่มทุนพลังงาน พยายามสร้างความรู้สึกให้เกิดความวิตกกังวลแก่สังคมหากไม่ต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุลงให้กับรายเดิม ภายใต้เงื่อนไขสัมปทานแบบเดิมๆ มีหวังก๊าซฯขาดแคลนเดือดร้อนกันทั้งประเทศแน่

แต่ช้าก่อนในฐานะผู้นำของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจล้นฟ้าอยู่ในมือ สามารถมองหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่าได้ หาใช่ต้องถูกบังคับให้เลือกแค่หนทางเดียวไม่ นั่นคือทางเลือกที่เป็นข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่งเปิดแถลงข่าวและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 3 มิ.ย. และ 4 มิ.ย. 2558 ในเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลปิโตรเลียมโดยเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในแปลงที่มีศักยภาพ และให้ผู้ร่วมประมูลปรับเงื่อนไขสัมปทานเดิม รวมไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ถือเป็นทางออกที่น่าจะเรียกได้ว่า win win กันทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล กลุ่มทุน และประชาชนเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมตัวจริง

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ตัวแทน คปพ. อาทิ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล, ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา, นายคมสัน โพธิ์คง และนางบุญยืน ศิริธรรม แถลงถึงสาระสำคัญของ “ข้อเสนอทางออกเพื่อฝ่าวิกฤตพลังงานไทย” โดยสรุป 6 ข้อ ดังนี้
       
1.ให้รัฐบาลเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 สั่งประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดการประมูลแข่งขันผลตอบแทนสูงสุดให้แก่รัฐในการผลิตปิโตรเลียมโดยใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเฉพาะแปลงที่มีศักยภาพสูงตามรายงานของกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลในอ่าวไทย 5 แปลง เพื่อเพิ่มหลักประกันว่าประเทศไทยจะมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับเวลาการหมดอายุสัมปทานในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 ได้แก่ จี 3/57, จี 4/57, จี 5/57, จี 5/57 เอ, จี 5/57 บี และ จี 6/57
      
หลังจากนั้น ให้มีการประมูลการให้ผลตอบแทนสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อจัดหาผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในแปลงผลิตปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 อันได้แก่ หมายเลขบี 10, บี 11, บี 12 และบี 13 ในแหล่งก๊าซฯเอราวัณและข้างเคียง และแปลงผลิตปิโตรเลียมหมายเลขบี 15, บี 16 และบี 17 ในแหล่งก๊าซฯบงกช เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานที่หมดอายุลงทุกแปลง
       
2.ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ตามข้อ 1 ให้ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลตามข้อ 1 ยินยอมปรับปรุงเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานเดิมของบริษัทในกลุ่ม เพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปได้โดยไม่ลดผลผลิตหรือขาดตอน ให้อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องจักรทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐโดยปราศจากการครอบครองและการรอนสิทธิใดๆ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถนำทรัพย์สินที่จะได้กลับคืนมาดำเนินการประเมินมูลค่าเพื่อนำมาใช้เป็นสัดส่วนการลงทุนของรัฐบาลในการเปิดประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตของแปลงปิโตรเลียมนั้นๆ ได้

รวมทั้งให้รัฐบาลสามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อรับมอบการโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียมก่อนหมดอายุสัมปทานเพื่อสร้างเงื่อนไขนำอำนาจต่อรองกลับคืนมาเป็นของรัฐบาล
       
3.จากการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.ปตท. ขอให้สั่งการให้ บมจ.ปตท. ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.ปตท.สผ. แก้ไขสัญญาให้รัฐบาลสามารถเข้าไปในพื้นที่และถ่ายโอนสิทธิและทรัพย์สินการผลิตปิโตรเลียมให้รัฐบาลก่อนล่วงหน้า 5 ปี เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการรักษากำลังการผลิตในแหล่งบงกชให้ได้ตามเดิมประมาณ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยไม่มีผลเสียหายต่อผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้รับสัมปทานรายอื่นๆ ต่อไป
      
 4.เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียมเป็นหลักไปสู่การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไม่ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในยามที่การผลิตก๊าซฯอาจลดลง และเพื่อแก้ไขปัญหานโยบายการสนับสนุนให้ใช้พลังงานหมุนเวียนในช่วงที่ผ่านมาของกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีข้อบกพร่องนานาประการ

คปพ.ขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งกำหนดเป็นนโยบายให้กระทรวงพลังงาน ปรับปรุงนโยบายอุดหนุนราคาการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนทุกระบบให้เท่ากันหมด และให้ยกเลิกกรอบจำกัดหรือเป้าหมายการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในแต่ละประเภท เพื่อให้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนประเภทที่มีต้นทุนถูกที่สุดได้รับการพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติและแข่งขันตามกลไกตลาดเสรีอย่างเต็มที่ โดยเสนอกำหนดให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (ADDER) ทุกระบบเริ่มต้นจาก 1.50 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า(กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งราคาดังกล่าวนี้จะไม่ก่อภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไปแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า
       
5.เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2558 ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้จัดทำอย่างเร่งรีบ และเกิดขึ้นก่อนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

การกระทำดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ของกระทรวงพลังงาน ที่ได้รับความเห็นชอบโดยครม.นั้น ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดความโปร่งใส และขาดความจริงใจในการปฏิรูปพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีข้อบกพร่องหลายประการที่อาจจะทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย ซึ่งขัดแย้งกับการเกษียณหนังสือของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมฬญ. 2558 ที่ได้แจ้งให้ คปพ. ทราบว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม”
       
บัดนี้ คปพ. ได้จัดทำร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของภาคประชาชน และสอดคล้องกับเอกสาร กรอบความเห็นร่วมปฏิรูประเทศไทยด้านพลังงาน จัดทำโดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในนามคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของ คสช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คปพ. จึงนำเสนอครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการ ร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการปิโตรเลียม ฉบับใหม่ ของ คปพ. เพื่อนำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปประกบเปรียบเทียบ กับร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน โดยการทำประชาพิจารณ์ แล้วส่งต่อให้ สนช.ให้ความเห็นชอบตราเป็นพ.ร.บ.ฉบับใหม่ต่อไป ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการปิโตรเลียม ของ คปพ. ได้ยึดหลักในการสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนเป็นสำคัญ
       
และ 6.ตามที่ คปพ. ได้ทำหนังสือยื่นข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2558 ไปแล้วนั้น เมื่อได้ตรวจสอบและติดตามผล พบว่ายังมิได้มีการตอบสนองตามข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมแต่ประการใด จึงขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม ได้โปรดพิจารณาสั่งการตามข้อเสนอดังกล่าวต่อไป

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กล่าวในวันที่ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า สัมปทานปิโตรเลียมเดิมที่จะหมดลงในปี 2565-2566 ไม่มีเงื่อนไขให้รัฐบาลเข้าพื้นที่เพื่อโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียม ทำให้รัฐไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตพลังงานได้ เป็นเหตุให้รัฐต้องตัดสินเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพื่อหาพลังงานทดแทน โดยไม่ผ่านการประมูล หรืออาจจะถูกกดดันให้มีการต่ออายุการผลิตแก้ผู้ผลิตรายเดิม

ดังนั้น คปพ. จึงเห็นว่ารัฐต้องสร้างเงื่อนไขที่ชอบธรรม ให้อำนาจต่อรองกลับมาเป็นของรัฐ จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปิดประมูลแข่งขันในการผลิตปิโตรเลียม ที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเฉพาะแปลงที่มีศักยภาพสูง โดยกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องยินยอมปรับปรุงเงื่อนไขของสัญญาเพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปโดยไม่ขาดตอน รวมทั้งมอบอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ และให้รัฐสามารถเข้าพื้นที่เพื่อรับมอบการโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียมก่อนหมดอายุสัมปทาน

ขณะเดียวกัน นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.กระทรวงการคลัง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2558 ถึงวิธีแก้ปัญหาสองแปลงที่กำลังจะหมดอายุลงพร้อมกับทิ้งท้าย “ถ้ารัฐบาลจะไม่ดำเนินการตามข้อเสนอนี้ ก็ต้องอธิบายประชาชาให้ชัดว่าข้อเสนอของ คปพ. ไม่ดีตรงไหน ทำไมจะไม่ใช้”

พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้วิกฤตพลังงานคราวนี้เหมือนเรื่องอื่นๆ หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น