xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 31 พ.ค.-6 มิ.ย.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะเสด็จฯ จากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.วันฉัตรมงคล ก่อนเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข  วังไกลกังวลในวันที่ 10 พ.ค.
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1."ในหลวง" เสด็จฯ มาประทับ รพ.ศิริราช เพื่อตรวจติดตามพระอาการ ผลตรวจพระปัปผาสะ-พระโลหิต-พระหทัย ปกติ

เมื่อคืนวันที่ 31 พ.ค. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 13 ความว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รายงานว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเปลี่ยนพระราชอิริยาบถ และฟื้นฟูพระวรกาย เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2558 โดยมีคณะแพทย์ฯ ผู้เชี่ยวชาญ นักกายภาพบำบัด และพยาบาลตามเสด็จถวายการดูแลพระสุขภาพ และถวายการติดตามพระอาการของพระโรค ที่มีความจำเป็นต้องถวายการตรวจติดตามพระอาการด้วยเครื่องมือพิเศษเป็นระยะๆ บัดนี้ถึงเวลาที่จะต้องถวายการตรวจติดตามพระอาการด้วยเครื่องมือพิเศษ คณะแพทย์ฯ จึงได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 31 พ.ค. 2558 และได้ถวายตรวจพระสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อติดตามผลของการใส่สายระบายน้ำไขสันหลังจากช่องไขสันหลังเข้าสู่ช่องพระนาภี ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2554 คณะแพทย์ฯ จะนำผลของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นแนวการควบคุมการระบายน้ำไขสันหลังต่อไป

นอกจากนี้ คณะแพทย์ฯ ได้ถวายการตรวจพระปัปผาสะ (ปอด) ผลของการตรวจพระโลหิตเป็นปกติ อุณหภูมิพระวรกาย ความดันพระโลหิต พระหทัย และระบบการหายพระทัยปกติ และยังคงต้องถวายกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูพระวรกายต่อไป

2.“บิ๊กตู่” ไม่ขัดข้อเสนออยู่ต่อ 2 ปี ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ให้หาทางมา ด้าน “วิษณุ” ชี้ ครม.ส่งสัญญาณชัด รธน.ผ่าน สปช.ต้องทำประชามติ!
(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ล่าง) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ  และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นายวิษณู เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า มีการคุยกันระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีบางอย่างต้องถามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่าคิดอย่างไร เช่น ถ้าโหวตแล้วไม่ผ่าน จะทำอย่างไรต่อไป “วันนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้สัญญาณชัดเจนแล้วว่า ถ้าผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ก็ให้ไปสู่การทำประชามติเลย ไม่ต้องมีใครบอกว่าจะไปหรือไม่ไป แต่ให้ทำเลย ตรงนี้ชัดแล้ว ภายในกี่วันก็ชัดแล้ว คือช่วงเดือน ม.ค.2559”

นายวิษณุ ยังเผยด้วยว่า ขณะนี้มี 4 ทางเลือก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คือ 1.กลับไปใช้กระบวนการเดิม ตั้ง สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2.ตั้งเฉพาะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือกรรมการอะไรขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 4.ให้ ครม.ร่วมกับใครก็แล้วแต่ อาจจะเป็น คสช.หรือไม่ก็ได้ หยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณาปรับปรุง โดยอยู่ระหว่างชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียอยู่

เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีกระแสเสนอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.อยู่บริหารประเทศต่ออีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศก่อนแล้วค่อยจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยโพลจากหลายสำนักสำรวจพบว่า ประชาชนต้องการให้ปฏิรูปประเทศให้เสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง เมื่อผู้สื่อข่าวไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกตัวว่า รู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าประชาชนอยากให้อยู่ก็อยู่ แต่ต้องไปหาทางมาว่าต้องทำอย่างไร

ขณะที่ สปช.บางคน นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งเคยชูแนวคิดให้รัฐบาลประยุทธ์อยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง เมื่อเห็นท่าทีที่ค่อนข้างตอบรับของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้เปิดแถลงข่าวเสนอแนวคิดจะเปิดเวทีรวบรวมความเห็นประชาชนเพื่อส่งต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาว่าควรจะทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งหรือไม่

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ เปิดให้ สปช. และ ครม.เข้าชี้แจงข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 2-6 มิ.ย. มีสาระที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มนายพลเดช ปิ่นประทีป สปช. เสนอแก้ไข 71 มาตรา ได้แก่ เสนอให้ตัดสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทิ้ง แต่คงคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติไว้ และไม่เห็นด้วยกับการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเป็นองค์กรอิสระที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างดี , เสนอให้ตัดอำนาจฝ่ายบริหารตามมาตรา 181 และ 182 ทิ้ง เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านมีปัญหาว่าถูกฝ่ายรัฐบาลปิดปาก ส่วนที่มา ส.ว.เสนอให้มาจากการสรรหาทั้งหมด

ขณะที่กลุ่มนายมนูญ ศิริวรรณ สปช.เสนอแก้ไข 68 ประเด็น เช่น ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองทิ้งทุกมาตรา , ไม่เห็นด้วยกับการลงคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ แต่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม , ขอลดจำนวน ส.ว.เหลือ 150 คน โดยแบ่งเป็น ส.ว.สรรหา 73 คน และ ส.ว.เลือกตั้ง 77 คน , เสนอให้เพิ่มเติมข้อความในมาตรา 308 ในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งอีก 2 ปี โดยเสนอให้เพิ่มว่า “เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจาก สปช.แล้ว ให้ทำประชามติถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่จะให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” เป็นต้น

3.“สมยศ” ตีกลับมติถอดยศ “ทักษิณ” สองรอบ อ้าง คกก.ระบุองค์ประกอบไม่ครบ ยัน ไม่ยื้อเวลา แต่ไม่อยากขึ้นศาลหลังเกษียณ!
(บนซ้าย) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. (บนขวา) พล.ต.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ (ล่างซ้าย) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. (ล่างขวา) พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ10)
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ ที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งขึ้น โดยมี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา(สบ10) เป็นประธาน ได้พิจารณาและตรวจสอบแล้วมีมติเอกฉันท์ให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ และอยู่ระหว่างหลบหนีคำพิพากษา โดยมีหมายจับของศาลหลายใบ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ส่งเรื่องถอดยศให้ พล.ต.อ.สมยศ พิจารณาเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศ บอกก่อนได้รับเรื่องจากคณะกรรมการฯ ว่า หากเรื่องมาถึง ตนจะดูความถูกต้องอีกครั้ง เพื่อความรอบคอบ

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. พล.ต.อ.สมยศ ได้ตีกลับรายงานความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปยัง พล.ต.อ.ชัยยะ ในฐานะประธานคณะกรรมการดังกล่าว โดยอ้างว่า คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้รับรองมติให้ถูกต้อง ทั้งนี้ ท่าทีของ พล.ต.อ.สมยศ ทำให้หลายฝ่ายคลางแคลงใจว่า พล.ต.อ.สมยศ กำลังจะยื้อเวลาเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่ง พล.ต.อ.สมยศ ชี้แจงว่า “ทุกท่านอย่ารีบด่วนสรุปว่า ผมจะทำแบบนั้น ไม่ทำแบบนี้ ตีกรรเชียงถอยหลังซื้อเวลารอวันเกษียณอายุราชการ(30 ก.ย.58) ... ผมมีหลักการ มีรูปแบบวิธีการทำงาน ตลอดจนการตัดสินใจเป็นตัวของตัวเอง โดยยึดหลักความถูกต้อง เที่ยงธรรม และกฎหมาย”

2 วันต่อมา(2 มิ.ย.) พล.ต.อ.สมยศ พูดถึงเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกว่า “อย่าเพิ่งมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าผมจะเซ็นให้หรือไม่ ผมมีวิจารณญาณมากพอ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาชี้นำ จะทำตามความเป็นธรรมและความถูกต้อง จะเร่งรัดให้ พล.ต.อ.ชัยยะ รับรองมติการถอดยศให้ถูกต้องและนำมาเสนอโดยเร็วที่สุด” และว่า เมื่อ พล.ต.อ.ชัยยะ ส่งเรื่องกลับมาแล้ว จะให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบข้อกฎหมายว่าถูกต้องตามข้อกฎหมายที่คณะกรรมการอ้างถึงหรือไม่ ตนไม่ใช่ตรายางที่จะเอาแต่ปั๊ม ตนปกป้องสิทธิตนเองในการตรวจสอบให้รอบคอบ หากเซ็นไปแล้วเกิดปัญหาขึ้น คนที่โดนฟ้องคือตน ซึ่งใน 4 เดือนหลังจากนี้ อยากลงจากตำแหน่ง ผบ.ตร.โดยไม่ต้องขึ้นศาล

วันเดียวกัน(2 มิ.ย.) พล.ต.อ.ชัยยะ พูดถึงกรณีที่ พล.ต.อ.สมยศ ตีกลับรายงานของคณะกรรมการเพื่อให้รับรองมติถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร แค่เรื่องความเข้าใจคลาดเคลื่อนในงานด้านธุรการ ยืนยันว่าคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ และทุกอย่างจบแล้ว พร้อมส่งให้ ผบ.ตร.

อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(3 มิ.ย.) พล.ต.อ.สมยศ บอกว่า ยังไม่ได้รับรายงานของคณะกรรมการชุด พล.ต.อ.ชัยยะ จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะใช้เวลาพิจารณาเรื่องถอดยศกี่วัน วันต่อมา(4 มิ.ย.) พล.ต.อ.สมยศ บอกอีกว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการ ขณะที่ พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ส่งมติของคณะกรรมการกลับไปยังสำนักงาน ผบ.ตร.แล้ว หลังจาก ผบ.ตร.ท้วงติงเอกสารได้เพียง 1 วัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า วันเดียวกัน(4 มิ.ย.) พล.ต.อ.สมยศ ได้ตีกลับรายงานของคณะกรรมการอีกเป็นรอบที่สอง โดย พล.ต.อ.สมยศ ชี้แจงในวันต่อมา(5 มิ.ย.) ว่า ได้ให้ พล.ต.อ.ชัยยะ นำเรื่องกลับไปทำมาใหม่ให้ครบถ้วน โดยยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ โดยระเบียบว่าด้วยการถอดยศตำรวจปี 2557 มี 2 องค์ประกอบหลัก คือ 1.พฤติกรรมของบุคคลนั้นสมควรเสนอให้มีการถอดยศ มีรายละเอียด 7 เหตุผล 2.พฤติการณ์ไม่สมควรให้ดำรงในยศตำรวจ ซึ่งในเอกสารพิจารณาการถอดยศที่ส่งมาให้ตนนั้น ลงความเห็นแค่องค์ประกอบที่หนึ่งเท่านั้น จึงให้กลับไปสรุปองค์ประกอบที่สอง แล้วรีบเสนอกลับมาภายในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ พล.ต.อ.สมยศ ยืนยันด้วยว่า ที่ตีกลับถึงสองรอบ ไม่ได้ต้องการยื้อ แต่ทำอะไรต้องถูกต้อง ชัดเจน ตอบสังคมได้ และว่า หากเซ็นถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะดำเนินการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่จะดำเนินการเฉพาะเครื่องราชฯ ที่ได้รับขณะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นตำรวจเท่านั้น ส่วนเครื่องราชฯ ที่ได้รับก่อนหรือหลังจากนั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ต่อกรณีที่คณะกรรมการชุด พล.ต.อ.ชัยยะ มีมติเอกฉันท์ให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ปรากฏว่า ต่างออกมาตำหนิรัฐบาลและ คสช.เป็นการใหญ่ โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.เหน็บ คสช.ว่า ถ้าขบวนอำนาจของ คสช.ทุ่มเทแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนให้ได้สักครึ่งหนึ่งของการรุมสกรัม พ.ต.ท.ทักษิณ คนไทยคงไม่ลำบากเรื่องอยู่เรื่องกินขนาดนี้...

ขณะที่นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย อ้างว่า การถอนพาสปอร์ตและการเสนอถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นกระบวนการไล่ล่า ทำลายล้าง พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย พร้อมยืนยันว่า การเสนอถอดยศ ไม่มีผลต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และการถอนพาสปอร์ตก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณยังเดินทางไปไหนได้ทั่วโลก ผิดกับบางคนที่มีพาสปอร์ตไทย แต่ไปไหนไม่ได้ทั่วโลก

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณว่า หากเรื่องส่งมาถึงตนเมื่อใด ก็ทำให้วันนั้น อย่าไปยุ่งกันมาก ทุกเรื่องมีกฏของมัน เขาผิดรึเปล่า ถ้าผิดก็ว่าตามผิด ไม่เกรงใจใครทั้งนั้น กฎหมายคือกฎหมาย เกรงใจมากไม่ต้องทำอะไร ไม่ได้ หากไม่ทำก็จะหาว่าละเว้น ส่วนการเสนอให้ยึดเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ถ้าถอดยศก็ต้องยึดเครื่องราชฯ อยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่า ไม่เกรงว่าหากถอด ยศ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วจะมีคนออกมาต่อต้าน เพราะกฎหมายก็คือกฎหมาย ขณะนี้ คสช.กำลังติดตามอยู่ ถ้าทำเกินเลยก็เรียกมาคุย และถ้าผิดกฎหมาย ก็เรียกมารายงานตัว

4.ตำรวจ ตั้งข้อหา “พล.ท.มนัส” คดีค้ามนุษย์ 13 ข้อหา ขณะที่เจ้าตัวยังปฏิเสธ ด้านศาลไม่อนุญาตประกันตัว!
พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก
ความคืบหน้าการสอบสวนขยายผลและติดตามจับกุมผู้ร่วมขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา สัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจได้ขอศาลจังหวัดนาทวี จ.สงขลา อนุมัติหมายจับนายทหารระดับสูง คือ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 89 หมู่ 3 ต.กรูด อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 3 ข้อหา คือ สมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำการค้ามนุษย์ โดยกระทำต่อบุคคลอายุไม่เกิน 15 ปี , ช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ,ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น และร่วมกันเรียกค่าไถ่ เหตุเกิดที่ประเทศบังกลาเทศ ประเทศพม่า ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทย ใน จ.ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล และแคมป์ที่พักชั่วคราว ป่าเทือกเขาแก้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ระหว่างเดือน พ.ย.2555-1 พ.ค.2558

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พูดถึงกรณีศาลออกหมายจับ พล.ท.มนัสว่า ผิดก็ว่าไปตามผิด ถือเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมเหมือนทุกๆ คน ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ หากพบข้อมูลเชื่อมโยงถึงใครก็ต้องดำเนินการให้หมด

ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงกรณีที่ศาลออกหมายจับ พล.ท.มนัสว่า ได้มีการสั่งพักราชการตามระเบียบกองทัพบก โดยการพักราชการจะทำในคดีใหญ่ๆ คือให้หยุดการทำงานและหยุดการให้เงินเดือนด้วย เพื่อรอการสอบสวน ขณะเดียวกันได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัยด้วย

ส่วนความเคลื่อนไหวของ พล.ท.มนัส นั้น เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. พล.ท.มนัส กล่าวขณะจะเดินทางไปมอบตัวที่ สภ.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยขอความเป็นธรรมจากสังคมว่า อย่าเพิ่งตัดสินตน อยากให้ดูข้อมูลทั้งสองฝ่าย และให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกอย่าง ไม่ว่าศาลจะพิจารณาออกมาอย่างไร ก็พร้อมจะยอมรับ ไม่มีปัญหา เป็นคนไทยเหมือนกัน ยอมรับกติกาสังคมทุกอย่าง เพราะเรื่องนี้มีที่มาที่ไป และพร้อมสู้คดี

เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ท.มนัส ไม่ได้เข้ามอบตัวที่ สภ.ปาดังเบซาร์ แต่เข้ามอบตัวต่อ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ทั้งนี้ หลังจากใช้เวลาพูดคุยประมาณ 15 นาที ได้มีการคุมตัว พล.ท.มนัสไปยัง จ.สงขลา ทันทีเพื่อสอบสวนต่อ โดย พล.ต.อ.สมยศ เผยว่า พล.ท.มนัส ยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในการสอบสวนที่ จ.สงขลา ซึ่งมีนายทหารพระธรรมนูญ และ พล.ต.ท.มนตรี โปตระนันทน์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ร่วมอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อตามที่ออกหมายจับ ซึ่ง พล.ท.มนัส ให้การปฏิเสธทุกกล่าวหา มีรายงานด้วยว่า กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์นั้น ไม่ได้มีแค่ พล.ท.มนัสเท่านั้น แต่พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 4-5 คน ส่วนจะเป็นคนมีสีหรือไม่ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยในส่วนของ พล.ท.มนัสนั้น เจ้าหน้าที่พบหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ โดยพบเงินในบัญชีประมาณ 14 ล้านบาท ซึ่งโอนมาจากเครือข่ายค้ามนุษย์ จ.ระนอง ที่เจ้าหน้าที่จับกุมได้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม พล.ท.มนัส ปฏิเสธว่าเงินที่โอนมาเป็นการซื้อวัวชน แต่เมื่อสอบสวนขยายผลไปยังเครือข่ายค้ามนุษย์ใน จ.ระนอง กลับไม่พบว่ามีคนใดอยู่ในวงการวัวชน จึงเป็นที่มาของการขอศาลออกหมายจับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้ร่วมกันสอบปากคำ พล.ท.มนัส เป็นเวลากว่า 8 ชั่วโมงเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. และมีการแจ้งข้อกล่าวหา พล.ท.มนัส ถึง 13 ข้อหา ขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน ก่อนนำตัว พล.ท.มนัส ไปขอศาลจังหวัดนาทวีฝากขังผัดแรก ทั้งนี้ ทนายความของ พล.ท.มนัส ได้ยื่นเรื่องขอศาลเปลี่ยนอำนาจการพิจารณาคดีให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร แต่พนักงานสอบสวนได้ยื่นคัดค้าน เนื่องจากคดีนี้เป็นการกระทำผิดร่วมกับพลเรือน

ต่อมา ศาลจังหวัดนาทวีได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พล.ท.มนัส เช่นเดียวกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ 51 คนที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกัน โดยศาลเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีใหญ่ มีความเกี่ยวพันกับต่างประเทศ หากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ จากนั้น พล.ท.มนัส ได้ถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำ อ.นาทวี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ทีมทนายของ พล.ท.มนัส ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนาทวี ขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเรื่องอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนว่า การขอศาลออกหมายจับ และจับกุม รวมทั้งการสอบสวนและส่งฟ้อง พล.ท.มนัส ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากมองว่าอาจขัดต่อประกาศ คสช.ฉบับลงวันที่ 25 พ.ค.2557 ที่ระบุให้นำผู้กระทำความผิดขึ้นศาลทหาร ดังนั้น ตำรวจต้องนำตัว พล.ท.มนัส ส่งฟ้องต่อศาลทหาร ด้านศาลจังหวัดนาทวีไต่สวนฉุกเฉินแล้วเห็นว่า การสืบสวนสอบสวน และขอออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ตั้งแต่ต้นอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดนาทวี จึงวินิจฉัยว่า การใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว หลังจากนั้นทีมทนายของ พล.ท.มนัส ได้ยื่นอุธรณ์คำสั่งของศาลจังหวัดนาทวีต่อศาลอุทธรณ์ ภาค 9 อีกครั้ง โดยผ่านทางศาลจังหวัดนาทวี คาดว่าคงใช้เวลาประมาณ 7 วัน จึงจะทราบผล

อนึ่ง คดีค้ามนุษย์นี้ ตำรวจได้ขอศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 84 ราย สามารถจับกุมได้แล้ว 53 ราย และยังหลบหนีอีก 31 ราย

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังตำรวจไทยได้จับกุม พล.ท.มนัส คดีค้ามนุษย์ ปรากฏว่า นายแพทริก เมอร์ฟีย์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ชื่นชมการทำงานของตำรวจไทย โดยแปลความได้ว่า “สหรัฐอเมริการู้สึกยินดีต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยได้จับผู้ต้องหา ซึ่งรวมถึงนายทหารระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ เรายังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความพยายามต่อสู้กับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานและการค้ามนุษย์”

5.เครือข่าย ปชช.ปฏิรูปพลังงาน ยื่นหนังสือ “บิ๊กตู่” เสนอใช้ ม.44 เปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ป้องกันขาดแคลนพลังงาน!

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยื่นข้อเสนอทางออกเพื่อฝ่าวิกฤติพลังงานไทย ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (4 มิ.ย.)
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ , นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล , นายวีระ สมความคิด , มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี , นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ , นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา และคณะกรรมการ คปพ. ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในหัวข้อ "ข้อเสนอทางออกเพื่อฝ่าวิกฤติพลังงานไทย" เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป

โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า คือ สัญญาสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่เชฟรอนได้สัมปทาน และแหล่งก๊าซบงกช ที่ ปตท.สผ. ได้สัมปทาน ซึ่งหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า หากไม่มีความชัดเจนเรื่องสัมปทาน อาจทำให้การผลิตไม่ต่อเนื่องและกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ดังนั้น คปพ. จึงเสนอแนวทางแก้ไข 6 ข้อ ดังนี้

1. ให้รัฐบาลเสนอให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 มีคำสั่งเปิดประมูลแข่งขันในการผลิตปิโตรเลียมโดยใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเฉพาะแปลงที่มีศักยภาพโดยเฉพาะพื้นที่ในทะเลอ่าวไทย 5 แปลง เพื่อเพิ่มหลักประกันว่า ไทยจะมีการผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับเวลาการหมดอายุสัญญาสัมปทานปี 2565-2566 หลังจากนั้นให้มีการประมูลการให้ผลตอบแทนสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพื่อจัดหาผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในแปลงที่จะหมดอายุปี 2565 และปี 2566 เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานที่หมดอายุลงทุกแปลงรวมกันสูงสุด 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเช่นเดิม

2. ผู้เข้าร่วมประมูล ต้องยินยอมปรับปรุงเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานเดิมของบริษัท เพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ลดผลผลิตหรือขาดตอน และให้อุปกรณ์เครื่องมือเป็นกรรมสิทธิของรัฐโดยปราศจากการครอบครองและการรอนสิทธิใดๆ รวมทั้งให้รัฐเข้าไปในพื้นที่รายเดิม เพื่อรับมอบการถ่ายโอนก่อนหมดอายุสัมปทานเพื่อให้อำนาจต่อรองกลับคืนมาเป็นของรัฐแทนที่จะอยู่ที่ผู้รับสัมปทาน ทั้งนี้ คปพ. เห็นว่า เพื่อให้อำนาจต่อรองกลับมาเป็นของรัฐให้มากสุด จึงควรให้จัดประมูลเฉพาะ 5 แปลงใหม่ที่มีศักยภาพในอ่าวไทยก่อนเป็นลำดับแรก และให้ประมูลแปลงแหล่งบงกช และเอราวัณ เป็นลำดับต่อไป

3. รัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท. ควรสั่งการให้ ปตท. ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ปตท.สผ. สั่งการให้ ปตท.สผ. แก้ไขสัญญาให้รัฐบาลสามารถเข้าไปในพื้นที่และถ่ายโอนสิทธิและทรัพย์สินการผลิตปิโตรเลียมให้รัฐบาลล่วงหน้า 5 ปี เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการรักษากำลังการผลิตในแหล่งบงกชให้ได้ 870 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันเท่าเดิม โดยไม่มีผลเสียหายต่อผู้ถือหุ้น ทั้งยังเป็นการนำร่องให้บริษัทอื่นๆ

4. เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียมเป็นหลัก ไปสู่การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น โดยที่ประเทศไม่ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในยามที่การผลิตก๊าซฯ อาจลดลง จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งกำหนดเป็นนโยบายให้กระทรวงพลังงานปรับปรุงนโยบายอุดหนุนราคาการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนทุกระบบให้เท่ากันหมด และเลิกกรอบเป้าหมาย รวมทั้งเพิ่มส่วนรับซื้อราคาทุกระบบเริ่มต้นจาก 1.50 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่ง คปพ. เห็นว่าการส่งเสริมพืชพลังงานหมุนเวียนจะทดแทนพลังงานปิโตรเลียมได้ถึง 4 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2566

5. เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน จำเป็นต้องแก้ไขกฏหมายปิโตรเลียม แต่เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2558 ครม.ได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน โดยมีการจัดทำอย่างเร่งรีบไม่รับฟังเสียงประชาชน คปพ. จึงได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการปิโตรเลียม ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของภาคประชาชนที่ต้องการให้นำไปประกบเปรียบเทียบกับร่างของกระทรวงพลังงาน เพื่อทำประชาพิจารณ์แล้วส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้ความเห็นชอบตราเป็นพ.ร.บ.ฉบับใหม่ต่อไป

6. ตามที่ คปพ. ได้ทำหนังสือยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2558 จากการตรวจสอบและติดตามผล พบว่า ยังมิได้มีการตอบสนองตามข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรม จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความจริงใจ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม โปรดพิจารณาสั่งการตามข้อเสนอดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ คปพ.นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือข้อเสนอทั้ง 6 ข้อดังกล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. โดยมีนายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น